ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส สัปดาห์นี้ (16-20พ.ย.) จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 39-43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 40-45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

101

ราคาน้ำมันมีแนวโน้มขยับขึ้น ขานรับความคืบหน้าของการผลิตวัคซีนโควิด-19 และแนวโน้มการปรับลดกำลังการผลิตลงของกลุ่มผู้ผลิต

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์
โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (16 – 20 พ.ย. 63)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปกมีแนวโน้มขยายระยะเวลาปรับลดกำลังการผลิตออกไปอีกราว 3 – 6 เดือนจากเดิมที่สิ้นสุดในปลายปีนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมันที่ยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงและอุปทานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 มีความก้าวหน้ามากขึ้น ทั้งนี้กลุ่มผู้ผลิตจะมีการประชุม JMMC ในวันที่ 17 พ.ย.นี้ เพื่อหารือถึงสถานการณ์และแนวโน้มของตลาดน้ำมันดิบก่อนการประชุมอย่างเป็นทางการในปลายเดือน พ.ย. 63 เพื่อพิจารณาถึงนโยบายดังกล่าว นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ราคายังคงเผชิญกับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังคงพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐฯ และประเทศในกลุ่มยุโรป รวมถึง อุปทานจากลิเบียที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • จับตาความคืบหน้าของการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการผลิตในเร็วนี้ได้หรือไม่ โดยบริษัท Pfizer และ BioNTech ซึ่งประสบความสำเร็จในการทดลองวัคซีนต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคสูงถึง 90% เตรียมจะยื่นขอใบอนุญาตต่อ FDA ของสหรัฐฯ แบบเร่งด่วนสำหรับการผลิตวัคซีนในเร็วๆ นี้ ซึ่งคาดจะรู้ผลภายในสิ้นเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคของวัคซีนคือการผลิตและการขนส่ง ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจาก การขนส่งต้องทำการขนส่งภายใต้อุณหภูมิติดลบ 94 ฟาเรนไฮต์ หรือ ลบ 44 องศาเซลเซียส
  • การประชุมระหว่างกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (โอเปกพลัส) มีแนวโน้มขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่ระดับ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวันต่อเนื่องออกไปอีก 3-6 เดือนจากเดิมที่สิ้นสุดในปี 63 หลังตลาดน้ำมันดิบยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากอุปสงค์ที่ยังคงเปราะบางจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และอุปทานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากลิเบีย

ทั้งนี้ กลุ่มผูผลิตจะมีการประชุมอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 พ.ย. – 1 ธ.ค. 63

  • ปริมาณน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงหลัง หลัง S&P Global Platts คาดปริมาณน้ำมันดิบคงคลังมีแนวโน้มปรับลดลงจากโรงกลั่นในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า รวมถึง ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระดับจำกัด
  • การผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2 ล้าน และมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตให้ถึงระดับ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในเร็วนี้ หลังจากที่สามารถเปิดดำเนินการแหล่งผลิตและท่าเรือขนส่งน้ำมันดิบหลักในประเทศได้หมดแล้ว
  • การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง นำโดยสหรัฐฯ และประเทศในกลุ่มยุโรป ส่งผลให้ หลายประเทศ อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้งในเดือน พ.ย. นี้ เพื่อยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส ส่งผลกดดันให้ความต้องการใช้น้ำมันในช่วงฤดูหนาวมีแนวโน้มปรับลดลง
  • รายงานประจำเดือน พ.ย. 63 ของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ระบุว่าตลาดน้ำมันยังคงเผชิญกับแรงกดดันต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของอุปสงค์น้ำมันจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าอุปสงค์น้ำมันจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในครึ่งหลังของปี 2564 หลังวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถผลิตและจัดจำหน่ายได้อย่างทั่วถึง ขณะที่ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในปีหน้าจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 200,000 บาร์เรลต่อวันจากปีนี้ที่ปรับลดลง 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนในเดือน ต.ค. 63 ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และยอดค้าปลีกสหรัฐฯ และยูโรโซน ในเดือน ต.ค. 63 ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (9 – 13 พ.ย. 63)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 40.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 3.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 42.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 40.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากความคืบหน้าของการผลิตวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 ของบริษัท Pfizer และ BioNTech ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมากกว่าร้อยละ 90 สูงกว่าเดิมที่เคยประมาณการณ์ไว้ที่ราวร้อยละ 50 ถึง 60 อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 พ.ย. 63 ปรับเพิ่มขึ้น 4.3 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลงเพียง 0.9 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามราคายังได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

www.mitihoon.com