มิติหุ้น – กลุ่ม ปตท. ร่วมลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยการจำหน่ายน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ 10 PPM ผ่านสถานีบริการน้ำมัน เน้นพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ต่อเนื่องเป็นปีที่สอง สนับสนุนการดำเนินการของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของรัฐ เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองที่เป็นภัยต่อสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชน ซึ่งน้ำมันดีเซลดังกล่าวมีค่ากำมะถันต่ำกว่าที่ภาครัฐกำหนดไว้ถึง 5 เท่า ภายใต้ความร่วมมือของบริษัทในกลุ่ม ปตท. ได้แก่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ (OR) และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี (GC)
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า “ตามที่ภาครัฐได้มีการจัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ นำโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมกับกรมควบคุมมลพิษ มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามเฝ้าระวัง ประเมิน และรายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง ตลอดจนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อพยากรณ์สถานการณ์ และบูรณาการการดำเนินงานแก้ไขปัญหาร่วมกันนั้น กรมควบคุมมลพิษ จึงได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมมาตรการป้องกัน ตามแนวทางปฏิบัติการเชิงรุก เน้นจัดการ ป้องกัน และลดปัญหาจากสาเหตุที่ต้นทาง รวมถึงการปล่อยไอเสียจากเครื่องยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลที่มีค่ากำมะถันสูง
นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กล่าวว่า “กลุ่ม ปตท. มีความตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เกินค่ามาตรฐาน และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงได้ประสานความร่วมมือระหว่างบริษัทในกลุ่ม ประกอบด้วยโรงกลั่น จีซี และ โออาร์ เพื่อร่วมกันผลิตและจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่มีค่ากำมะถันต่ำเฉลี่ย 10 PPM ซึ่งเป็นค่าที่ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ถึง 5 เท่า เป็นกรณีพิเศษผ่านคลังน้ำมันพระโขนงและสถานีบริการน้ำมัน โดยเน้นพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมกว่า 400 สถานี รวมทั้งจ่ายให้กลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม และหน่วยงานราชการ ตั้งแต่ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 – 28 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่มักจะมีค่า PM 2.5 สูงเกินกว่ามาตรฐาน โดยคาดการณ์ว่าปริมาณการจ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 40 – 50 ล้านลิตรต่อเดือน ทั้งนี้ การเปลี่ยนจากน้ำมันดีเซลพื้นฐานยูโร 4 มาเป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วกำมะถันต่ำ ส่งผลให้ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ลดลง 19-21% และควันดำลดลง 19-40% เมื่อเทียบในสัดส่วนไบโอดีเซลที่เท่ากัน (จากผลการทดสอบของสถาบันนวัตกรรม ปตท. ในรถกระบะรุ่นเก่าอายุ 8 ปี และรถกระบะรุ่นใหม่อายุ 3 ปี)
กลุ่ม ปตท. มุ่งร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ตลอดจนบูรณาการแผนการลงทุนของโรงกลั่นในกลุ่ม เพื่อขยายขีดความสามารถการผลิตน้ำมันคุณภาพมาตรฐานกำมะถันต่ำกว่า 10 PPM หรือ เทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 ให้สอดคล้องกับนโยบายปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมสุขพลานามัยที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืนในระยะยาวอีกด้วย
www.mitihoon.com