เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วกว่าคาด… เมื่อข่าวดีคือข่าวร้าย

1211

กนง.คงดอกเบี้ยหลังเศรษฐกิจดีเกินคาด

คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% ต่อปีในการประชุมกนง.ในวันนี้ (18 พ.ย.63) เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและให้เน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดมากขึ้น โดยมองว่าเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวช้าๆ แต่ดีกว่าคาด ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้น เงินเฟ้อยังต่ำแต่มาจากด้านอุปทานเป็นหลัก แต่ก็ห่วงเงินบาทแข็งค่าหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ และการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 และระบุว่ากนง. พร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

K-shaped recovery กับนโยบายการเงิน

เมื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นอย่างชัดเจน ประกอบกับมีนโยบายการคลังที่เดินหน้าเต็มที่ นโยบายการเงินจึงไม่จำเป็นต้องผ่อนคลายมากไปกว่านี้ และสามารถถอยไปเป็นกองหลัง คอยระวังเรื่องเสถียรภาพการเงิน หนี้เสีย การลงทุนที่มากเกินไปในสินทรัพย์เสี่ยง หรือการประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไปในภาวะดอกเบี้ยต่ำลากยาว หรือแม้แต่จะเริ่มส่งสัญญาณการหยุดลดดอกเบี้ย ส่งสัญญาณการเก็บขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน หรือ policy space
หรือเราควรคาดหวังอะไรจากธนาคารแห่งประเทศไทยในภาวะเช่นนี้ เพราะปัญหาคือกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรอบนี้อาจกระจุกในระดับบน คือคนมีรายได้หรือมีทรัพย์สินมาก หรือบริษัทขนาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องสูง เหมือนขีดบนของตัว K แต่อีกกลุ่มคือผู้ประกอบการรายเล็กและคนรายได้น้อยหรือคนที่ไม่มีรายได้ประจำอาจไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว เพราะเขาอาจเป็นขีดล่างของตัว K
อย่าลืมว่าการท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่เกิด ธุรกิจเกี่ยวเนื่องยังมีปัญหา การจ้างงานยังไม่เต็มที่ มีอีกหลายคนที่ต้องการสภาพคล่องเพราะยอดขายไม่พอรายจ่าย ธุรกิจไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ หากไม่มีการเจรจากับเจ้าหนี้ หรือพักชำระหนี้ ปัญหาสภาพคล่องจะนำไปสู่ปัญหาธุรกิจล้มละลาย ซอฟท์โลนยังไปไม่ทั่วถึง กลุ่มที่พึ่งพิงรายได้จากการส่งออกแม้จะเริ่มยินดีที่ส่งออกติดลบลดลง แต่จากเงินบาทที่แข็งค่าเร็ว อาจส่งผลให้ธุรกิจมีรายได้ลดลงได้
นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ยังกังวลปัญหาหนี้เสีย ซึ่งมักจะคัดเลือกกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือมีศักยภาพสูงในการชำระคืนหนี้ และอาจทำให้การปฏิเสธคำขอสินเชื่อสูงต่อเนื่องได้ แล้วคนที่ต้องการเงินหมุนเวียนจะทำอย่างไร
วันนี้ถ้าเราดูเพียงตัวเลขเศรษฐกิจและนโยบายการคลังที่เดินหน้าเช่นนี้ เราอาจมองเป็นข่าวดี แต่ถ้ามีคนบอกว่าเมื่อเศรษฐกิจดีคุณก็ช่วยตัวเองได้แล้ว คลังหรือแบงก์ชาติถอยห่างออกมาได้แล้วนะ คุณจะทำอย่างไรหากคุณยังอยู่ในขีดล่างของตัว K เพราะข่าวที่เศรษฐกิจดีอาจเป็นข่าวร้ายของเขา ด้วยเหตุนี้ ผมจึงมองว่านโยบายการเงินยังจำเป็นต้อง active หรือเดินหน้าช่วยประคองเศรษฐกิจอยู่ แต่อาจไม่ใช่การใช้ดอกเบี้ยเหมือนเดิม

รอลุ้น Unconventional Monetary Policy

เศรษฐกิจที่ฟื้นในระดับบน ขณะที่ความเสี่ยงยังกระจายอยู่ในระบบ เช่น ปัญหา NPL ซึ่งขณะนี้กำลังหมดมาตรการพักชำระหนี้ เงินเฟ้อต่ำหลุดกรอบ (เงินเฟ้อติดลบ) ทำให้นักลงทุนขาดแรงจูงใจในการผลิตและสต๊อกสินค้า เงินบาทแข็งค่ากระทบผู้ส่งออก และเศรษฐกิจไตรมาสสี่เสี่ยงติดลบเทียบไตรมาสสามที่ทำให้ภาพการฟื้นตัวสะดุดได้ โดยเฉพาะปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองที่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนและผู้บริโภค รวมทั้งการท่องเที่ยวในประเทศอาจสะดุดได้หากคนไม่มั่นใจในความปลอดภัยหรือบรรยากาศการท่องเที่ยวหายไป
โดยหากกนง.จะลดดอกเบี้ยเมื่อปัญหาเศรษฐกิจเร่งขึ้นหรือมีวิกฤติการเมืองที่ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจ ก็น่าจะทำได้ โดย 1) ลดดอกเบี้ย FIDF ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 0.23% โดยอาจมีการลดลงทั้งหมด 2) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 0.5% โดยอาจลดเหลือ 0.25% และ 3) ชวนธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยตาม เพื่อประคองเศรษฐกิจในช่วงที่มีปัญหาการเมืองควบคู่กับปัญหาโควิด-19
แต่เรามองว่าในขณะนี้การลดดอกเบี้ยโดยรวมอาจยังไม่จำเป็น อีกทั้งเป็นการหว่านแหให้ทุกคนได้แม้แต่คนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ และสภาพคล่องในระบบยังมีมาก ต่อให้ลดไปก็อาจติดกับดักสภาพคล่อง คือสินเชื่อก็ยังไม่ขยายตัวเพราะคนขาดความเชื่อมั่นในการกู้ลงทุนหรือใช้จ่าย หรือแบงก์ห่วงความเสี่ยงจึงไม่ค่อยปล่อยกู้ การมองหานโยบายการเงินแบบตรงจุดอาจจะดีกว่า เช่น เร่งปล่อยซอฟท์โลนช่วยสภาพคล่อง SME เร่งขยายโอกาสในการลงทุนในต่างประเทศของกองทุนรวมเอกชนเพื่อแก้ปัญหาบาทแข็ง คล้ายๆ รักษาสมดุลเงินไหลเข้าไหลออก หรือคลายเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อหรือการพิจารณาการตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญ
ผมมองว่านโยบายการเงินยังต้อง active ในภาวะที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึง และหวังว่าธุรกิจและคนทั่วไปจะได้รับกระแสเงินสดที่พอเพียง สามารถรักษาการจ้างแรงงานไว้ได้ ไม่ล้มละลายไปก่อนสิ้นสุดวิกฤติโควิด ผมเลยอยากคาดว่ากนง.จะหยุดลดดอกเบี้ย แล้วหันไปใช้มาตรการคล้ายๆ QE ในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงิน หรือแม้แต่เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลโดยตรง (ปล่อยกู้ให้คลังไปใช้จ่าย) แต่ต้องยอมรับว่ามาตรการที่ใช้รักษาเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้นั้น แม้ช่วยไม่ให้เกิด panic sell ได้ แต่ก็ยังไม่ได้เติมเงินเข้าระบบ หรือมาซื้อตราสารหนี้เอกชนอย่างที่หวังกัน มองต่อไป ผมคาดหวังมาตรการทางการเงินในรูปแบบใหม่มากกว่าการใช้ดอกเบี้ยครับ
โดย ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย