วัคซีนคุ้มกันตลาดเกิดใหม่ หนุนค่าเงินบาทแข็ง (20/11/63)

243

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของวิกฤต COVID-19 ส่องเจิดจรัสหลังมีข่าวการพัฒนาวัคซีนที่มีผลทดลองน่าพอใจในวงกว้าง ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยง อาทิ ตลาดหุ้นทั่วโลก และราคาน้ำมันดิบทะยานขึ้น ขณะที่สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างราคาพันธบัตรสหรัฐฯ และทองคำร่วงลง ส่วนเงินดอลลาร์แข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินยูโรและเงินเยน แต่สกุลเงินตลาดเกิดใหม่ในเอเชียส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นตามการเปิดรับความเสี่ยงของนักลงทุน โดยเงินบาทปรับตัวอย่างโดดเด่นจากความหวังเกี่ยวกับการพลิกฟื้นของภาคท่องเที่ยว ส่วนค่าเงินหยวนได้แรงหนุนจากความชัดเจนของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่ายุคของนายโจ ไบเดน ในอีก 4 ปีข้างหน้า อุณหภูมิความขัดแย้งทางด้านการค้าระหว่างประเทศจะลดความร้อนแรงลง (กราฟด้านล่าง)

นักลงทุนแห่กลับเข้าซื้อสินทรัพย์ในประเทศกำลังพัฒนาช่วงวันที่ 9-13 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้สดใสกว่าที่ประเมินไว้ โดยในสัปดาห์ดังกล่าว นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยด้วยมูลค่า 3.10 หมื่นล้านบาท และ 1.88 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ส่งผลให้ยอดขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย นับตั้งแต่ต้นปีลดลงเหลือ 2.74 แสนล้านบาท และ 3.5 หมื่นล้านบาทในตลาดพันธบัตร

เมื่อพิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจรุนแรงที่สุดจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผ่านบริบทของการพึ่งพาอุปสงค์จากต่างประเทศอย่างการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นสำคัญ ขณะที่จีดีพี ไตรมาส 3/2563 หดตัว 6.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งฟื้นตัวดีขึ้นจากก้นเหวในไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว 12.1%

ทั้งนี้ แม้สภาพัฒน์ฯ คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะเติบโต 3.5-4.5% โดยคาดว่ามูลค่าส่งออกจะขยายตัว 4.2% แต่ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของสภาพัฒน์ฯ อยู่ที่เพียง 5 ล้านคน (เทียบกับประมาณการของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 9 ล้านคน) ภายใต้สมมติฐานที่ว่าวัคซีนจะสามารถใช้ได้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีหน้า

นักลงทุนจะเฝ้าติดตามความคืบหน้าของข่าวสารการพัฒนาวัคซีน และอาจเพิ่มความระมัดระวังในการซื้อขายจากข้อกังวลเกี่ยวกับวิธีการขนส่งและการเก็บรักษารวมถึงการแข่งกับเวลา ขณะที่ยอดผู้ป่วยในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เราคาดว่าสินทรัพย์เสี่ยงอาจยังคงประคองโมเมนตัมเอาไว้ได้จากท่าทีของผู้ดำเนินนโยบายการเงินในกลุ่มประเทศหลักที่ยังส่งสัญญาณสนับสนุนตลาดการเงินและเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้ ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่าจะเดินหน้าเพิ่มการผ่อนคลายทางการเงินในเดือนธันวาคมนี้ และตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายการเสวนาของอีซีบีว่า กรณีการติดเชื้อในตัวมิงค์ที่เดนมาร์คอาจสะท้อนความเสี่ยงที่ไวรัสจะกลายพันธุ์ซึ่งเป็น Tail Risk หรือเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากแต่หากเกิดขึ้นแล้วจะมีผลกระทบมหาศาล ทางด้านประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แสดงความเห็นเชิงบวกต่อผลการทดลองวัคซีน แต่เน้นย้ำว่าเศรษฐกิจยังเผชิญความท้าทายและเร็วเกินไปที่จะให้ความมั่นใจในระยะสั้น กล่าวโดยสรุปเราคาดว่าสถานการณ์โลกเอื้อต่อการแข็งค่าของสกุลเงินตลาดเกิดใหม่รวมถึงเงินบาทมากขึ้น แต่หนทางจะไม่ราบเรียบขณะที่ภาคเศรษฐกิจจริงยังไม่ฟื้นไข้

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ
ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

www.mitihoon.com