เกมส์แย่งหุ้นในตลาดหุ้นไทยนั้นมีมาช้านาน และมีหลายครั้งที่การทำ Hostile takeover หรือเทกโอเวอร์แบบไม่เป็นมิตร มักจะมีปัญหาตามมา และก็มักจะมีผู้เล่นไม่กี่กลุ่มที่ชอบทำพฤติกรรมซ้ำๆ แบบนี้เนื่องจากเป็นช่องว่างที่คนวงหุ้นรู้ดีว่ามันยังพอใช้ได้ถ้ามีเงิน และมีพรรคพวก
SIMAT โดนเข้าแล้ว เมื่อผู้ถือหุ้นใหญ่คือนาย ทองคำ มานะศิลปพนธ์ มัวแต่ชะล่าใจ ปล่อยให้หุ้นเหลือในมือตัวเองน้อยกว่า 25% จนกลุ่มนักล่ามองเห็นเข้ากว้านซื้อหุ้นตั้งแต่ราคาต่ำกว่า 2 บาทไปจนถึง 4 บาทช่วงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนสิงหาคม 63 กลุ่มนักล่าดังกล่าวไม่ใช่ใครอื่น แต่ทรงคุ้นๆ เหมือนเสี่ยหน้าเดิมที่ปู้ยี่ปู้ยำบริษัทพลังงานทางเลือกแห่งตำนานย่านพระรามเก้า จนล้มเละเข้าสู่ภาวะเพิกถอนบริษัทจดทะเบียนที่ลากรายย่อยไปติดทั่วตลาดหุ้น
กลุ่มเข้าทำ Hostile takeover ไม่ได้จบแค่นี้ แต่รวมตัวกัน 7 คน ได้แก่ (1) นายภิญโญ รุขพันธ์เมธี (2) นายณัฐพงศ์ ศีตวรรัตน์(3) นายดิษศรัย ปิณฑะดิษ (4) นางสาวรฐา วีระพงษ์ (5) นายอาดาม อินสว่าง (6) นางธนพร จันโท และ (7) นายธนกฤต ปุญญทรัพย์ ยังไม่นับรวมคนเบื้องหลังอีก 2-3 คน ได้ใช้อำนาจตามตามมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติ บริษัทมหาชนจํากัด พ.ศ. 2535 จัดประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ตัดหน้าเจ้าของบริษัท เล่นเอานายทองคำนั่งไม่ติด ยื่นศาลแพ่งคัดค้านหลังจากเลือดเข้าตา เพราะต่างฝ่ายต่างแย่ง Proxy เพื่อแย่งชิงสัดส่วนการถือหุ้นให้มากที่สุด ถ้าการประชุมจัดสำเร็จ คงโหวตกันสนั่น ไม่ว่าจะเรื่องการปลดกรรมการเก่า ตั้งกรรมการใหม่ และก็จบลงด้วยการครอบงำกิจการโดยสมบูรณ์ ปล่อยให้เจ้าของเดิมนั่งทำตาปริบๆ ในที่สุด
แต่โชคยังเข้าข้าง เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 63 ศาลแพ่งได้ตัดสินให้บริษัทฯ ร่วมกับกรรมการและผู้ถือหุ้นรวม 3ราย ที่ยื่นฟ้องกลุ่มบุคคลทั้งเจ็ดกับพวก รวม 9 คน และให้ระงับการจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นออกไปก่อนเป็นผลสำเร็จและห้ามจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นจนกว่าศาลจะมีคําสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
เกมส์จะเป็นอย่างไรคงต้องตามต่อ และไม่จบแค่นี้ เพราะหมากมีการวางไปไกล หลังกลุ่มนี้มีคนชื่อซ้ำเพิ่งจบดีลเข้าซื้อหุ้น OTO ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจเอาบริษัททั้งสองนี้มารวมกัน เพื่อเป็นฐานให้บริษัทที่รับงานใหญ่นอกตลาดเข้าถือหุ้นใหญ่ ใครอยู่วงการไอทีคงสืบไม่ยากว่าใครเป็นใคร งานนี้มิติหุ้นจะตามติดดูฉากต่อไป
www.mitihoon.com