มิติหุ้น – สมาร์ทอินฟราเนท (SIC) บริษัทร่วมทุน “ราชกรุ๊ป-เอแอลที” เอ็มโอยูกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ใช้โครงข่ายไฟเบอร์ร่วมหรือ Fiber Space เดินหน้าเจรจาดึง 3 โอเปอร์เรเตอร์เข้าร่วมโครงการ พร้อมบุกนิคมฯในอีอีซีรองรับเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน มั่นใจปี 64 โอเปอร์เรเตอร์ทุกรายจะหันมาใช้ประโยชน์จากการใช้เครือข่ายร่วมมากขึ้น
นางปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทสมาร์ท อินฟราเนท จำกัด (SIC) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเช่าโครงข่ายไฟเบอร์ (Fiber Space) กล่าวว่า โครงการ Fiber Space ถือเป็นเทรนด์การให้บริการไฟเบอร์พร้อมใช้งานโดยไม่ต้องลงทุน และยังส่งเสริมให้เกิดการใช้ไฟเบอร์ร่วมกัน เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับโอเปอร์เรเตอร์ทุกรายที่เข้าร่วมโครงการ โดยล่าสุดทาง SIC ได้มีการเซ็นสัญญาความร่วมมือเบื้องต้น หรือ MOU กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (EGAT) และโอเปอร์เรเตอร์อีก 2 ราย เพื่อเข้าร่วมโครงการ Fiber Space นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจาพันธมิตรซึ่งเป็นผู้ประกอบการโอเปอร์เรเตอร์อีก 3 ราย เพื่อให้เข้าร่วมโครงการ
“การเจรจากับโอเปอร์เรเตอร์ 3 ราย มีผลตอบรับที่ดี เพราะโอเปอร์เรเตอร์ที่เข้าร่วมโครงการ Fiber Space ได้รับผลตอบแทนมากขึ้น จากการใช้โครงข่ายร่วม ขณะเดียวกันก็ช่วยลดการลงทุนซ้ำซ้อน และขยายฐานลูกค้ามากขึ้นอีกด้วย โดยคาดการณ์ว่าในปี 2564 จะเป็นปีที่ผู้ประกอบการโอเปอร์เรเตอร์ทุกรายหันมาใช้ประโยชน์จากการใช้เครือข่ายร่วมกัน (Network Sharing) มากที่สุด” นางปรีญาภรณ์ กล่าว
ทั้งนี้บริษัท สมาร์ท อินฟราเนท จำกัด (SIC) เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH กับ บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT โดยร่วมกันลงทุนในโครงข่ายไฟเบอร์ใยแก้วนำแสงทั้งโครงข่ายใต้ดินในพื้นที่เส้นทางหลักในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งในต่างจังหวัดผ่านโครงข่ายตามแนวเส้นทางรถไฟและทางหลวงแผ่นดินสายหลัก และได้มีการขยายโครงข่าย โดยการนำไฟเบอร์ที่พร้อมใช้งานที่มีอยู่โดยที่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติมในมูลค่าที่สูงเกินความจำเป็นภายใต้โครงการ Fiber Space
นางปรีญาภรณ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันนี้โครงการ Fiber Space ของ SIC เป็นโครงข่ายที่ครบวงจร ทั้งโครงข่ายไฟเบอร์ใต้ดิน แนวเส้นทางรถไฟฟ้า แนวเส้นทางรถไฟ และทางหลวงแผ่นดิน (Highway) ซึ่งครอบคลุมทั่วประเทศ ขณะนี้กำลังเร่งเจรจากับผู้ให้บริการโทรคมนาคมเกี่ยวกับสัญญาเช่าบริการโครงข่ายไฟเบอร์ใยแก้วนำแสงภายใต้โครงการ Fiber Space มากขึ้น โดยมีเป้าหมายไปยังกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC มีการขยายการลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยพื้นที่ดังกล่าวจะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม และเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต พร้อมทั้งเป็นฐานการผลิต และดึงดูดนักลงทุน โดยเฉพาะการขยายตัวของธุรกิจของกลุ่ม Data Center ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นมากเช่นกัน
นอกจากนี้นิคมอุตสาหกรรมในเขต EEC ยังอยู่ใกล้ศูนย์กลางคมนาคมหลักของประเทศ พร้อมทั้งยังมีโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการประกอบอุตสาหกรรม ได้แก่ ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ทั้งนี้บริษัทกำลังเร่งเจรจาการใช้งานโครงข่ายไฟเบอร์ใยแก้วนำแสง เพื่อเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายจากพื้นที่ศูนย์กลางออกไปยังพื้นที่ในภาคตะวันออก หรือเชื่อมโยงโครงข่ายออกไปยังต่างประเทศ โดยล่าสุดมีโอเปอร์เรเตอร์ให้ความสนใจและอยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องการใช้บริการ
www.mitihoon.com