มิติหุ้น-‘บมจ. ซีวิลเอนจีเนียริง’ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธาแบบครบวงจรที่มีประสบการณ์การทำงานมานานกว่า 50 ปี ประกาศพร้อมนำการบริหารจัดการสมัยใหม่เข้าพัฒนาโครงการระบบรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ในสัญญา 4-7 ส่วนงานโยธาช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. มูลค่างานกว่า 8.56 พันล้าน ชูฐานโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้างที่ จ.สระบุรี พร้อมเครื่องจักรและเทคโนโลยีทันสมัยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินโครงการ เพื่อส่งมอบงานได้ทันเวลา มีคุณภาพและความปลอดภัย ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้รุดหน้ากระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาค
นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVILเปิดเผยว่า บริษัทฯ รู้สึกเป็นเกียรติและมีความภาคภูมิใจที่ได้รับความไว้วางใจจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่1กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ระยะทาง 250.77 กิโลเมตร โดย CIVIL จะเข้าไปพัฒนาโครงการส่วนงานภายใต้สัญญา 4-7 งานโยธาสำหรับช่วงสระบุรี-แก่งคอย ประกอบด้วย งานโครงสร้างทางรถไฟเป็นทางยกระดับรวม 12.99 กิโลเมตร งานสถานีสระบุรี ศูนย์ซ่อมบำรุงทาง 1 แห่ง งานอาคารและสิ่งปลูกสร้างรองรับรถไฟฟ้าและงานรื้อย้ายต่างๆ รวมมูลค่างานก่อสร้างทั้งสิ้น 8,560 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน
ทั้งนี้ CIVIL จะนำหลักบริหารจัดการสมัยใหม่ และฐานความรู้ที่ได้จากการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา สัญญาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ที่ปัจจุบันมีซีวิลกำลังก่อสร้างคืบหน้าไปกว่า 50% เข้ามาช่วยเสริมศักยภาพการดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถส่งมอบงานทันกำหนด มีคุณภาพและความปลอดภัย โดยนำขีดความสามารถการดำเนินงานที่บริษัทฯ ซึ่งมีทีมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในงานวิศวกรรมโยธาครบวงจร มีเครื่องจักรและเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ทันสมัย รวมถึงการมีโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ โรงหล่อชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป คอนกรีตผสมเสร็จ โรงโม่ เป็นต้น ซึ่งตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญในจังหวัดสระบุรี ห่างจากโครงการดังกล่าวเพียง 40 กิโลเมตร เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการนี้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
“เรามีความเชื่อมั่นในศักยภาพการดำเนินงานก่อสร้างในโครงการนี้ โดยนำทรัพยากรองค์กรในทุกด้านเข้าสนับสนุนภายใต้การบริหารจัดการที่ดีเพื่อให้โครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ ช่วยยกระดับโครงการสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมครั้งใหญ่ ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงระบบรางของไทยและอาเซียน พร้อมผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน ให้ประสบความสำเร็จอย่างที่ทุกฝ่ายตั้งใจไว้” นายปิยะดิษฐ์ กล่าว
สำหรับโครงการพัฒนาระบบไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค กรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ในส่วนสัญญาที่ 4-7 ถือเป็นสัญญาที่ 2 ของ CIVIL ได้เข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาระบบรางเพื่อขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศด้านคมนาคม ต่อจากโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา สัญญาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ที่ปัจจุบันมีการก่อสร้างยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้และคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564
www.mitihoon.com