มิติหุ้น – เหตุการณ์ที่ไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อนอย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดที่อยู่อาศัยในวงกว้าง โดยซีบีอาร์อี ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก พบว่า ในไตรมาส 3 ปี 2563 ตลาดที่อยู่อาศัยของไทยยังไม่มีการฟื้นตัวที่มีนัยยะสำคัญ
นายรัฐวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย เผยว่าปริมาณคอนโดมิเนียมที่เปิดตัวใหม่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ลดลงเหลือ 18,630 ยูนิต คิดเป็นลดลง 56.6% จากปีที่แล้ว เนื่องจากผู้พัฒนาโครงการได้มีการปรับกลยุทธ์ใหม่และมุ่งเน้นไปที่การสร้างรายได้แบบรวดเร็วเพื่อจัดการกับกระแสเงินสดในช่วงเวลาที่ท้าทายเช่นนี้ และยังพบว่ามีการลดราคาและการทำการส่งเสริมการขายสำหรับยูนิตเหลือขายที่พร้อมโอนกรรมสิทธิ์กันมากขึ้น โดยบางโครงการมีการลดราคากันถึง 20% – 25%
ในด้านความเสี่ยง อาจมีการผิดนัดโอนกรรมสิทธิ์จากลูกค้าชาวต่างชาติที่ซื้อตั้งแต่ช่วงก่อนช่วงโควิด-19 ซึ่งในช่วงที่ยังใช้มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ผู้พัฒนาโครงการยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในการโอนยูนิตให้กับผู้ซื้อชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนที่ไม่สามารถเดินทางมาโอนกรรมสิทธิ์ได้แม้จะมีความประสงค์จะโอนกรรมสิทธิ์ก็ตาม จึงมีความเป็นไปได้ว่าผู้ซื้อชาวต่างชาติบางรายที่อาจไม่สามารถโอนยูนิตของตนเองและทำให้ยูนิตที่ถูก “ขาย” ออกไปก่อนหน้านี้กลับเข้ามาในตลาดอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่รับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีกลุ่มผู้ซื้อชาวต่างชาติที่สอบถามเข้ามาเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ที่มีการเสนอขาย “แม้ว่าซีบีอาร์อียังได้รับการติดต่อสอบถามถึงโครงการต่างๆ จากลูกค้าชาวต่างชาติในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ช่วงเวลาที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของตลาดต่อไปในอนาคตคือเมื่อมีการยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยในแง่ของยอดขายในตลาดที่อยู่อาศัย แต่ยังรวมถึงเศรษฐกิจของประเทศเช่นกัน เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยยังคงขับเคลื่อนด้วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว” นางสาวอาทิตยา เกษมลาวัลย์ ผู้อำนวยการ แผนกซื้อขายที่พักอาศัย ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าว
นอกจากนี้ แผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ยังเปิดเผยว่า โควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมและมุมมองในเรื่องที่พักอยู่อาศัยของผู้ซื้อเปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันพนักงานในบริษัทหลายแห่งสามารถเลือกทำงานจากที่บ้านได้ซึ่งเป็นแนวคิดที่ฟังดูเหมือนจะสะดวกสบายในช่วงก่อนโควิด-19 และได้ส่งผลให้การใช้พื้นที่ภายในส่วนที่อยู่อาศัยของเราเปลี่ยนแปลงไป ในปัจจุบันพื้นที่ที่โฆษณาว่าเป็น “ห้องทำงาน” หรือ “พื้นที่ที่มีความยืดหยุ่น” ถือเป็นคุณสมบัติเด่นที่ผู้ซื้อให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ที่ผู้คนสามารถทำงานที่บ้านได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ตลาดยังคงมีความเคลื่อนไหวอยู่ มีโครงการที่หลากหลายและอยู่ในระดับราคาที่ดีทั้งในกรุงเทพมหานครและเมืองตากอากาศชั้นนำ ด้วยข้อจำกัดในการเดินทางซึ่งรวมถึงการเดินทางไปต่างประเทศ จึงทำให้ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ไทยใช้เวลาในช่วงวันหยุดในแหล่งท่องเที่ยวภายในประเทศ ซีบีอาร์อีได้เห็นถึงความต้องการที่ยังมีอยู่มากในตลาดบ้านหลังที่สองในเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญอย่างภูเก็ต หัวหิน และพัทยา ผู้พัฒนาโครงการมีโอกาสในการดึงดูดกลุ่มลูกค้าระดับบนหากเข้าใจช่องว่างในตลาดและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
ในด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย แผนกวิจัย ซีบีอาร์อีพบว่าในไตรมาส 3 ปี 2563 สินเชื่อใหม่เพื่อที่อยู่อาศัยกลับมามีปริมาณเพิ่มขึ้น 12.7% จากไตรมาสก่อนหน้าและเพิ่มขึ้น 3.1% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าสินเชื่อดังกล่าวอาจจะมาจากความต้องการสะสมก่อนที่จะคลายมาตรการล็อคดาวน์ แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่ชี้ให้เห็นว่ายังคงมีความต้องการอยู่ในตลาด
ข่าวเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของวัคซีนสำหรับโควิด-19 จากบริษัทต่างๆ ในช่วงนี้ได้เพิ่มความเชื่อมั่นในตลาดโลก เมื่อมีการแจกจ่ายวัคซีนออกไป เป็นที่คาดว่าความเคลื่อนไหวและความเชื่อมั่นในตลาดจะกลับมาฟื้นตัว ทว่ายังคงมีผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยังต้องได้รับการเยียวยา แผนกวิจัย ซีบีอาร์อีคาดการณ์ว่าตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2564 จะค่อยๆ ฟื้นตัวแต่จะยังไม่กลับไปสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19 ส่วนจะต้องอาศัยระยะเวลาเท่าใดที่จะกลับมาฟื้นตัวเต็มที่นั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการในตลาดว่าจะกลับมาสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19 หรือไม่ ซึ่งจะสัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจ
www.mitihoon.com