สิงห์ เอสเตท ได้รับเลือกเป็น “หุ้นยั่งยืน” เป็นปีที่ 2

98

มิติหุ้น – บมจ. สิงห์ เอสเตท ได้รับเลือกให้เป็นบริษัท “หุ้นยั่งยืน” หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) 2563 เป็นปีที่ 2 สำหรับกลุ่มบริษัทจดทะเบียนใน SET ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ระหว่าง 10,000 – 30,000 ล้านบาท ประเภทอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

นายชนพัฒน์ เตชะตันติวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาดและภาพลักษณ์องค์กร บมจ.สิงห์ เอสเตท กล่าวว่าการที่สิงห์ เอสเตท ได้รับคัดเลือกให้อยู่ในหุ้นยั่งยืน เป็นปีที่ 2 นี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยหลักปรัชญาการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม และดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ”

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้นำแนวคิดเรื่องความสมดุลของการอยู่ร่วมกัน (Harmonious Co-Existence) ระหว่าง ธุรกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม บริษัทไปทำธุรกิจที่ไหน ที่นั่นจะต้องมีการพัฒนาที่ดีขึ้นเป็นสังคมคุณภาพ รวมทั้งการสร้างและนำองค์ความรู้ (Body of Knowledge) มาใช้การดำเนินธุรกิจ พร้อมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ เช่น โครงการวิ่งคืนคุณค่าสู่ทะเล #SeaYouTomorrowRun โครงการ SeaYouTomorrowCamp การปลูกฝังเยาวชนให้เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชีวิตประจำวันเพื่อสร้างการส่งต่อความรู้ในระยะยาว โครงการวิภาวดีไม่มีขยะ นอกจากนี้ในปี 2564 บริษัทจะมุ่งเน้นการดำเนินงานที่คำนึงถึงผลกระทบและรับผิดชอบในกระบวนการธุรกิจ (SD-in-process) ที่เหมาะสมกับแต่ละลักษณะธุรกิจมากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าจะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิก Dow Jones Sustainability Indices: DJSI ในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม หุ้นยั่งยืน ได้จัดทำโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 โดยรายชื่อหุ้นยั่งยืน คัดเลือกจากบริษัทจดทะเบียนที่เข้าร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมมิติเศรษฐกิจ (รวมบรรษัทภิบาล) สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นวัดผลในด้านกระบวนการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยการกำหนดนโยบาย การตั้งเป้าหมาย การนำนโยบายไปปฏิบัติ การวัดผลลัพธ์จากการดำเนินการ และการเปิดเผยข้อมูลของบริษัท ซึ่ง บจ.ที่ได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนต้องมีคะแนนผ่านร้อยละ 50 ในทุกมิติ และผ่านเกณฑ์คุณสมบัติที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด เช่น การประเมินคุณภาพรายงานด้านบรรษัทภิบาล (CGR) ผลประกอบการด้านกำไรสุทธิและส่วนของผู้ถือหุ้น การกำกับดูแลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของ บจ. และการไม่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เป็นต้น

www.mitihoon.com