วิกฤตโควิด-19 สร้างบาดแผลเศรษฐกิจข้ามปี แนะตั้งการ์ดสูงรับมือความท้าทาย

213

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปี 2563 ที่กำลังจะปิดฉากลงเป็นช่วงแห่งความยากลำบากสำหรับทุกภาคส่วนท่ามกลางผลกระทบอย่างรุนแรงของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตด้านสาธารณสุข ขณะที่ตลาดการเงินผันผวนอย่างหนักในเดือนมีนาคมซึ่งเป็นช่วงที่เลวร้ายที่สุดของตลาด แต่กลับเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการดำดิ่งสำหรับภาคเศรษฐกิจ เราได้เห็นดัชนีตลาดหุ้นไทยแตะ Circuit Breaker ถึง 3 ครั้ง สัญญาซื้อขายราคาน้ำมันดิบโลกติดลบ, การขายทุกสินทรัพย์รวมถึงทองคำและเข้าถือครองเงินดอลลาร์ การปิดห้างสรรพสินค้า การประกาศหยุดบิน มาตรการเว้นระยะห่างทางกายภาพ และกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องชะงักลงเป็นระยะเวลานานอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน

ตลาดการเงินโลกเริ่มประคองตัวได้หลังผู้ดำเนินนโยบายการเงินและการคลังตอบสนองอย่างฉับพลันและใช้ยาแรงด้วยการปรับลดดอกเบี้ย พร้อมอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ และดำเนินโครงการเยียวยาภาคธุรกิจและครัวเรือน เนื่องจากทางการเป็นผู้กำหนดมาตรการปิดเมือง (Self-inflicted) การตอบสนอง (Policy Response) เพื่อบรรเทาความเสียหายต่อภาคธุรกิจและตลาดแรงงาน จึงต้องเร็วและมีขนาดใหญ่ ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 3 ครั้ง รวม 75 bps สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% (กราฟด้านล่าง) โดยมีมาตรการลักษณะสร้างหลังพิง อาทิ กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ เพื่อจำกัดความเสียหายไม่ให้ลุกลามไปสู่กลไกของระบบการเงิน

เมื่อมองไปข้างหน้า เราประเมินว่าสภาวะแวดล้อมเป็นบวกต่อสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียรวมถึงเงินบาท ขณะที่เงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากนโยบายการเงิน การคลัง และการค้าของสหรัฐฯ โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)จะยังให้คำมั่นต่อการใช้เครื่องมือที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและการจ้างงานต่อไป ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯอาจทรงตัวที่ระดับใกล้ 0% ไปอีกอย่างน้อย 2 ปี มาตรการกระตุ้นทางการคลังอาจดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ สูงขึ้น ส่วนความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะลดความรุนแรงลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายใต้การนำของว่าที่ประธานาธิบดีไบเดน ขณะที่การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องของกลุ่มประเทศหลักมีแนวโน้มดึงกระแสเงินทุนให้ไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่ในปี 2564

เราคาดว่ากนง.จะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ตลอดปีหน้า และเลือกใช้เครื่องมือกระจายสภาพคล่องอย่างตรงจุด ส่วนดัชนีดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงราว 5% และคาดว่าเงินบาทอาจแข็งค่าราว 2-3% ซึ่งเป็นผลจาก Sentiment ที่อ่อนแอของเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย โดยเราเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะดูแลการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดมากขึ้นแต่ไม่สามารถฝืนทิศทางตลาดโลกได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์ต่างๆ กำลังปรับตัวดีขึ้นหลังการพัฒนาวัคซีนได้ผลดีและกำลังเริ่มใช้ในหลายประเทศ แต่ยังคงต้องยอมรับว่าภาคเศรษฐกิจจริงเผชิญความไม่แน่นอนและความเปราะบางสูงจากบาดแผลหรือแม้กระทั่งแผลเป็นจากโควิด-19 นักลงทุนและผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องตั้งการ์ดสูงและปรับตัวรับความท้าทายทั้งเชิงวัฏจักรและโครงสร้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ
ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

www.mitihoon.com