3 กองทุน “สวัสดิการเพื่อการเกษียณ” หลากทางเลือกของมนุษย์เงินเดือน & อาชีพอิสระ

779

วิกฤต COVID-19 ตอกย้ำให้เห็นว่า “เงินสำรองไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน” เป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นเหมือน “กันชนของชีวิต” ช่วยให้เดินต่อไปได้โดยไม่กระทบกระเทือนมากนัก และไม่มีใครรู้ว่า ตลอดช่วงชีวิตของเราจะเกิดวิกฤตอีกกี่ครั้ง ซึ่งหากอยู่ในวัยทำงานยังมีแรงประคับประคองไปได้ แต่ถ้าวิกฤตเกิดขึ้นในช่วงวัยเกษียณที่ไม่มีรายได้หล่อเลี้ยง แค่กันชนของชีวิตคงไม่มากพอ ดังนั้น ต้องมี “การออมเพื่อรองรับการเกษียณ” เตรียมพร้อมไว้ด้วย

ในปัจจุบัน “กองทุนการออมระยะยาว” ของไทยมีหลายประเภท โดยกลุ่มข้าราชการมีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ขณะที่มนุษย์เงินเดือนและผู้ประกอบอาชีพอิสระ มีถึง 3 กองทุนที่นับเป็น “สวัสดิการเพื่อการเกษียณ” ได้แก่ กองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident fund หรือ PVD) ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่า ทั้ง 3 กองทุนนี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร เรามาทำความรู้จักกันจะได้รู้ว่าแบบไหนที่ใช่สำหรับเรา จะได้เริ่มออมกันตั้งแต่วันนี้

กองทุนประกันสังคม: สวัสดิการของรัฐสำหรับมนุษย์เงินเดือน

กองทุนประกันสังคม เป็นสวัสดิการของรัฐสำหรับมนุษย์เงินเดือน (เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33) โดยจะจ่ายเงินทดแทนกรณีคลอดบุตร เลี้ยงดูบุตร ค่ารักษาพยาบาล พิการไม่สามารถทำงานได้ หรือเมื่อว่างงาน ไปจนถึงเมื่อเราเกษียณอายุแล้วโดยอาจจ่ายเป็นรายเดือนหรือเงินก้อนก็ได้

เงินที่กองทุนนำมาจ่ายก็คือเงินที่เราได้สมทบเข้ากองทุน โดยมีนายจ้างและรัฐบาลร่วมสมทบด้วย ซึ่งในปัจจุบันลูกจ้างและนายจ้างจ่ายเท่ากันในอัตราฝั่งละ 5% แต่ไม่เกิน 750 บาท (เป็นอัตราที่กำหนดทั่วไป โดยรัฐบาลอาจปรับลดให้เพื่อช่วยลดผลกระทบให้แก่ลูกจ้างและนายจ้างกรณีมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019)  ส่วนรัฐจ่ายให้ 2.75% แต่เงินทั้งหมดจะถูกแบ่งเป็น 3 กอง ตามวัตถุประสงค์ของสวัสดิการ คือ 1) กรณีว่างงาน 2) กรณีเลี้ยงดูบุตรและชราภาพ และ 3) กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต หรือคลอดบุตร

กองทุนประกันสังคมจึงไม่ได้เป็นการออมเพื่อรองรับการเกษียณเพียงอย่างเดียว และจากการคำนวณเงินที่จะได้จากกองทุนในกรณีชราภาพไม่ว่าจะเป็นเงินบำนาญ หรือ บำเหน็จ อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้หลายคนใช้ชีวิตหลังเกษียณได้เหมือนช่วงก่อนเกษียณ 

สำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพของประกันสังคมมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข 2 แบบ คือ

กรณีบำนาญชราภาพ

หากส่งเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 180 เดือน จะได้รับเงินเป็นรายเดือน เดือนละ 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่เคยได้รับ สูงสุด 15,000 บาท และหากส่งเงินมาเกิน 180 เดือน อัตราคำนวณจะเพิ่มอีก 1.5% ต่อระยะเวลาการจ่ายทุก 12 เดือนที่เกินมา

เช่น ส่งเงินสมทบมา 192 เดือน เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย อยู่ที่ 30,000 บาท จะได้รับเงินรายเดือนจนตลอดชีวิต

= 180 เดือนแรก อัตราบำนาญ 20% + 12 เดือนหลัง ได้รับอัตราเพิ่ม 1.5%

= อัตราบำนาญ 21.5% ของ 15,000 บาท หรือเดือนละ 3,225 บาทต่อเดือน ตลอดชีวิต

กรณีบำเหน็จชราภาพ

หากส่งเงินสมทบมาไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับเป็นเงินก้อนเท่ากับเงินที่เราและนายจ้างได้จ่ายสมทบเข้ากองทุนกรณีชราภาพ (ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้นำส่งฝ่ายละ 3% ของค่าจ้าง) พร้อมผลประโยชน์ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

อย่างไรก็ตาม กองทุนประกันสังคมเป็นระบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข การจ่ายเงินสวัสดิการให้ผู้ประกันตน จะนำเงินจากในกองทุนโดยไม่ได้เจาะจงว่าเงินของใครต้องจ่ายคืนให้คนนั้น ดังนั้น เมื่อประเทศเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ มีคนชราจำนวนมาก การนำเงินออกมาจากกองทุนเพื่อเป็นสวัสดิการก็มากขึ้น ขณะที่วัยหนุ่มสาวซึ่งเป็นผู้เติมเงินลงไปในกองทุนมีจำนวนน้อยลงทุกที

ดังนั้น สิ่งเดียวที่ช่วยให้มนุษย์เงินเดือนมั่นใจได้ว่าจะสามารถมี “ไลฟ์สไตล์” หรือ คุณภาพชีวิตที่ไม่ต่างจากเดิมมากนัก คือ “ต้องพึ่งพาตัวเอง” โดยการเก็บออมและบริหารจัดการเงินของเราเอง

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ: มนุษย์เงินเดือนออม 1 แต่ได้ถึง 5+

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident fund) เป็นการออมแบบสมัครใจ มนุษย์เงินเดือนไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นการออมที่เรียกได้ว่า “ออม 1 แต่ได้ถึง 5+” เลยทีเดียว

ได้เงินเพิ่ม : เงินที่นายจ้างใจดีช่วยสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพถือเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งสำหรับมนุษย์เงินเดือน เหมือน “ได้เงินเดือนส่วนเพิ่ม” หรือ ยิ่งนายจ้างใจดีสมทบเงินให้มากเท่าไร ยิ่งทำให้มนุษย์เงินเดือนสามารถเพิ่มความมั่งคั่งได้มากขึ้นเท่านั้น

ได้เลือกลงทุนตามต้องการ : เราสามารถเลือกได้ว่าเงินที่ส่งเข้ากองทุนจะนำไปลงทุนในอะไรบ้างจากทางเลือกที่คณะกรรมการกองทุนคัดสรรให้ เช่น รับความเสี่ยงได้มาก ต้องการให้เงินเติบโตมาก ก็เลือกนโยบายการลงทุนที่มีหุ้นมาก

ได้มืออาชีพมาดูแลเงิน : มีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพคอยดูแลและบริหารเงินให้งอกเงย นอกจากนี้ ค่าธรรมเนียมในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยเฉลี่ยจะต่ำกว่ากองทุนประเภทอื่น ซึ่งค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่านี้ก็จะช่วยให้เงินงอกเงยได้มากขึ้นในระยะยาว

ได้รับความคุ้มครอง : เงินของเราที่อยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงินที่ “ผูกโบว์” ไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นเงินของเราเท่านั้น และหากมีการเลิกกองทุน “กฎหมายก็ให้การคุ้มครอง” โดยจะชำระบัญชีเงินของเราแยกออกมาจากทรัพย์สินของนายจ้าง อีกทั้งมีระบบการบันทึกบัญชีและกำหนดราคาตามมาตรฐาน จึงไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครมาหยิบเงินเราไปได้

ได้สิทธิลดหย่อนภาษี : เงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพช่วยประหยัดภาษีในทุกต่อ ตั้งแต่เงินสะสมที่ส่งเข้ากองทุนสามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ ผลประโยชน์จากการลงทุน และเงินที่ได้จากกองทุนเมื่อเกษียณอายุ (ทั้งเงินของเรา เงินส่วนของนายจ้าง และดอกผลจากการลงทุน) จะได้รับยกเว้นภาษี หากอายุเกษียณไม่น้อยกว่า 55 ปี และเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี

นอกจากนี้ ยังมีความยืดหยุ่นที่จะเลือกส่งเงินเข้ากองทุนตามจำนวนที่ต้องการได้ตามความพร้อม ตั้งแต่ 2% ไปจนถึง 15% ของค่าจ้าง ดังนั้น มีน้อยก็ออมน้อย มีมากก็ออมมาก แต่สิ่งที่สำคัญคือยิ่งเราส่งเงินเข้ากองทุนเร็วเท่าไร ยิ่งเพิ่มเวลาให้เงินทำงานสร้างดอกออกผลได้มากขึ้นเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น หากเรามีเงินเดือน 30,000 บาท และส่งเงินสะสมเข้ากองทุน 5% หรือคิดเป็น 1,500 บาทต่อเดือน โดยที่นายจ้างสมทบ 5% เท่ากัน และได้ผลตอบแทนจากการลงทุนปีละ 6% เมื่อเวลาผ่านไป 20 ปี เราจะได้เงินทั้งหมด 1.4 ล้านบาท และหากออมต่ออีก 15 ปี รวมเป็น 35 ปี จะได้เงินถึง 4.3 ล้านบาท (คำนวณโดยไม่มีการขึ้นเงินเดือนและยังไม่การประหยัดจากสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้)

นอกจากนี้ หากเราย้ายไปทำงานที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ ลาออกไปทำอาชีพอิสระก่อนอายุ 55 ปี ไปจนถึงกรณีที่นายจ้างเลิกกิจการ เรายังสามารถออมต่อเนื่องและได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยโอนเงินไปยังกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะ หรือที่เรียกกันว่า RMF for PVD นั่นเอง

สำหรับคนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะกังวลว่า หากนำเงินออกจากกองทุนก่อนครบเงื่อนไขที่กำหนดจะต้องจ่ายภาษีมากกว่าปกตินั้น อันที่จริงแล้วยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นกัน (แม้จะไม่เท่าสมาชิกที่ออกเมื่ออายุ 55 ปี และเป็นสมาชิกมากว่า 5 ปี) โดยส่วนของเงินสะสมได้รับยกเว้นภาษี จะเสียภาษีเฉพาะส่วนของเงินสมทบของนายจ้างและผลประโยชน์จากการลงทุน และถ้าเป็นสมาชิกมามากกว่า 5 ปี ก็ยังได้สิทธิลดหย่อนอีกมาก

กองทุนประกันสังคมและกองทุนการออมแห่งชาติ: สวัสดิการของรัฐสำหรับอาชีพอิสระ

นอกจากมนุษย์เงินเดือนที่จะได้รับสวัสดิการจากกองทุนประกันสังคมแล้ว ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีนายจ้างสามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมเช่นกัน (เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40) โดยเลือกจำนวนเงินนำส่งและสิทธิสวัสดิการได้ 3 ทาง และรัฐจะจ่ายเงินสมทบให้ไม่เกินครึ่งหนึ่ง

ทางเลือกที่ 1 ส่งเงินเข้ากองทุนเดือนละ 70 บาท จะได้สวัสดิการเป็นเงินทดแทนในยามที่ขาดรายได้เนื่องจากเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต

ทางเลือกที่ 2 ส่งเงินเข้ากองทุนเดือนละ 100 บาท จะได้สวัสดิการเพิ่มเติมจากทางเลือกแรก คือ เงินก้อนตอนเกษียณ (บำเหน็จ) จำนวนเท่ากับ 50 บาทคูณด้วยจำนวนเดือนที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน

ทางเลือกที่ 3 ส่งเงินเข้ากองทุนเดือนละ 300 บาท จะได้สวัสดิการเพิ่มเติมจากทางเลือกแรก คือ เงินบำเหน็จเท่ากับ 150 บาทคูณด้วยจำนวนเดือนที่จ่ายเงินเข้ากองทุน และค่าเลี้ยงดูบุตร

กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เป็นแหล่งเงินออมที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ต้องการออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณอายุ โดยเริ่มออมขั้นต่ำเพียง 50 บาท และสูงสุด 13,200 บาทต่อปี ไม่จำเป็นต้องออมเท่ากันทุกเดือน ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละคน และรัฐบาลจะสมทบเงินให้มากน้อยตามระดับอายุของผู้ออม ยิ่งอายุมากก็ยิ่งจะได้รับเงินจากรัฐบาลในสัดส่วนที่สูงขึ้น คือ

อายุตั้งแต่ 15 ปี ถึง 30 ปี รัฐจะสมทบเงินให้ครึ่งหนึ่ง สูงสุด 600 บาทต่อปี

อายุ 30 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 50 ปี รัฐจะสมทบให้ 80% สูงสุด 960 บาทต่อปี

อายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 60 ปี รัฐจะจ่ายสมทบเต็ม 100% สูงสุด 1,200 บาทต่อปี

นอกจากนี้ เงินที่นำส่งยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวน และเมื่ออายุครบ 60 ปี จะได้รับเงินบำนาญรายเดือนในจำนวนเท่ากับที่เรานำส่งกับเงินที่รัฐสมทบให้พร้อมดอกผล (รัฐบาลค้ำประกันผลตอบแทนในอัตราไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน เฉลี่ย 7 ธนาคาร) เริ่มตั้งแต่ 600 บาทต่อเดือน โดยไม่เสียภาษี

เมื่อรู้จัก “กองทุนการออมระยะยาว” ทั้ง 3 ประเภทแล้ว ก็คงจะช่วยให้มนุษย์เงินเดือนสามารถวางแผนได้ว่า ต้องการมีเงินออมไว้ใช้จ่ายในวัยเกษียณมากน้อยเพียงใด ด้วยการลงทุนระยะยาวแบบที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตน เพื่อให้มีชีวิตวัยเกษียณตามที่ได้หวังไว้

โดย ฝ่ายกำกับธุรกิจออกแบบการลงทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)