เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องในเดือน พ.ย. ขณะที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระลอกสองจะส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุดลงในปี 2021

58
  • เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องในเดือน พ.ย. ขณะที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระลอกสองจะส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุดลงในปี 2021

    • ธปท. เผยภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย. 2020 “ทยอยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง” โดยมีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้

    • 1) นักท่องเที่ยวต่างชาติยังหดตัวสูงจากช่วงเดียวกันปีก่อน (-99.9% YoY) จากมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ โดยแม้รัฐบาลได้เริ่มดำเนินการเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบอยู่อาศัยระยะยาวผ่านการให้วีซ่าพิเศษ (Special Tourist VISA หรือ STV) เป็นเดือนที่สอง แต่จำนวนนักท่องเที่ยวยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก (3.1 พันคน vs. 1.2 พันคนเดือนก่อน)

    • 2) การส่งออกไม่รวมทองคำยังคงหดตัว -2.3% YoY (vs. -5.0% เดือนก่อน) แต่เป็นการปรับตัวดีขึ้นในหลายหมวดสินค้าตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว และฐานที่ต่ำ (Low base) เช่น หมวดยานยนต์และชิ้นส่วน (10.3% vs. -8.7% เดือนก่อน) สินค้าเกษตร (14.0% vs. -0.9% เดือนก่อน) และสินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน (-6.9% vs. -16.6% เดือนก่อน)

    • 3) การใช้จ่ายภาครัฐไม่รวมเงินโอน ขยายตัวทั้งในส่วนรายจ่ายประจำ (16.0% YoY; ตามการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร และเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ) และรายจ่ายลงทุน (80.1%; ตามการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลางด้านคมนาคมและชลประทาน) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำมากในปีก่อนที่ พ.ร.บ. งบประมาณ FY2020 บังคับใช้ล่าช้า

    • 4) การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 1.0% YoY (vs. -0.3% เดือนก่อน) จากการปรับตัวดีขึ้นในทุกหมวดใช้จ่าย อาทิ หมวดสินค้าไม่คงทน (-2.4% vs. -3.6% เดือนก่อน) หมวดสินค้าคงทน (0.2% vs. -4.5% เดือนก่อน) และหมวดบริการ (-22.0% vs. -22.7% เดือนก่อน)

    • 5) การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 1.4% YoY (vs.-3.6% เดือนก่อน) จากการใช้จ่ายในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นแรงหนุนสำคัญ อาทิ ยอดขายเครื่องจักรในประเทศ (+5.9% vs. +4.8% เดือนก่อน) การนำเข้าสินค้าทุน (-0.7% vs. -15.4% เดือนก่อน) และยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่เพื่อการพาณิชย์ (+1.8% vs. -5.0% เดือนก่อน)

    • Our take: ตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน พ.ย. ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ และคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ เช่น โครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะยังช่วยหนุนกิจกรรมได้ต่อเนื่องในเดือน ธ.ค. โดยเฉพาะในส่วนของการบริโภค

    • อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในประเทศที่เร่งตัวขึ้นนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2020 มีความรุนแรงกว่าครั้งก่อน โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันล่าสุดในวันที่ 3 ม.ค. 2021 มีจำนวน 315 คน (เทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดรายวันในการระบาดครั้งแรกในเดือน มี.ค. 2020 ที่ 188 คน) ทำให้คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะสะดุดลงในปี 2021 โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรก

    • ขณะที่รัฐบาลได้เลือกประกาศพื้นที่ควบคุมตามความเสี่ยงของการแพร่ระบาด ได้แก่ พื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด, พื้นที่ควบคุม 11 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวังสูง 38 จังหวัด เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการ Full lockdown ทั้งประเทศ เพื่อลดทอนผลกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง

    • จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เราคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2021F มีความเสี่ยงสูงที่จะขยายตัวได้ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมของเราที่ 3.4% (ประมาณการ ณ 30 พ.ย. 2020) โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมี Downside ต่อประมาณการเศรษฐกิจของเราราว 1-2% ซึ่งคาดว่าจะกระทบหลักต่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน โดยความรุนแรงของผลกระทบขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องของการระบาดของ COVID-19 ในระลอกสอง, รูปแบบการบังคับใช้มาตรการ Lockdown และมาตรการช่วยเหลือจากทางผู้ดำเนินนโยบาย

    • ในระยะถัดไป เราคาดว่ารัฐบาลจะเร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยใช้เม็ดเงินจาก พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรางการคลังกู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท ที่ยังมีงบประมาณเหลืออีกราว 4.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 50% ของงบประมาณทั้งหมด นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ที่ภาครัฐอาจจะพิจารณาต่ออายุมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ออกไปจากเดิม เช่น โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” (จะสิ้นสุดในเดือน เม.ย. 2021)

    • ขณะที่ด้านนโยบายการเงิน มีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่ทาง ธปท. อาจพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคเอกชนเพิ่มเติม เช่น การผ่อนปรนเพิ่มเติมในเรื่องมาตรการพักชำระหนี้ในพื้นที่จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และ/หรือ การปรับลดต้นทุนกู้ยืมภาคเอกชน (ผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือการลดเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF ของ ธพ.) เป็นต้น ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินของ ธปท. จะมีการประชุมนัดแรกของปีนี้ในวันที่ 3 ก.พ. ซึ่งหากการควบคุมการแพร่ระบาดมีแนวโน้มไม่ดีขึ้น อาจจะมีการนัดประชุมนอกรอบเกิดขึ้นได้เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเดือน มี.ค. 2020 ที่มีการระบาดระลอกแรกของ COVID-19 ในประเทศ จนนำไปสู่มาตรการ Full lockdown ทั้งประเทศ

โดย บล.ทิสโก้

www.mitihoon.com