“ทรีนีตี้” เปิดกลยุทธ์ลงทุนหุ้นเดือนแรกของปีฉลู

182

“ทรีนีตี้” เปิดกลยุทธ์ลงทุนหุ้นเดือนแรกของปีฉลู ให้กรอบดัชนีแนวต้านสำคัญที่ 1,500 จุด ส่วนแนวรับประเมินที่ 1,400 จุดและ 1,360 จุดตามลำดับ แนะลงทุน 4 กลุ่มหุ้นที่คาดปรับตัวแข็งแกร่งกว่าตลาด

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยทิศทางการลงทุนเดือน ม.ค.ว่า ทรีนีตี้ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีในช่วงเดือนแรกของปีจะมีแนวต้านสำคัญที่ 1,500 จุด ซึ่งเป็นระดับดัชนีที่พอสามารถยืดไปถึงได้ หากกระแสเงินทุนยังไหลเข้า ในทางกลับกันมองแนวรับแรกที่ 1,400 จุด และแนวรับสำคัญที่ 1,360 จุด ซึ่งเป็นระดับดัชนีที่อิง               กับ Forward PE ที่ 17.3 เท่า ถือเป็นระดับที่คำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ในช่วงถัดไปแล้ว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลัง COVID -19 ในประเทศกลับมาระบาดรุนแรงอีกครั้ง

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนเดือน ม.ค.คาดว่า นักลงทุนจะกลับมาให้ความสนใจลงทุนหุ้นเติบโต (Growth) อีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเข้าใกล้ช่วงการประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 4 ปี 2563 เนื่องจากหุ้นเหล่านี้มีโอกาสส่งมอบผลกำไรที่ดีได้ ซึ่งแตกต่างกับหุ้นกลุ่มวัฏจักร (Cyclical) และหุ้นกลุ่มคุณค่า (Value) ที่ดีดตัวขึ้นแรงในช่วง 1-2 เดือนก่อนหน้านี้ แต่ในแง่ผลประกอบการนั้นอาจสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุน ได้ ดังนั้นผู้ที่ถือครองหุ้นเหล่านี้อยู่อาจต้องระวังแรงขายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงก่อนประกาศงบการเงิน

นายณัฐชาต กล่าวว่า สำหรับกลุ่มหุ้นแนะนำและให้น้ำหนักการลงทุนมากกว่าตลาดในเดือน ม.ค.คือ 1. กลุ่มโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลุ่ม Defensive ที่ยังคง Laggard ได้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า และมีความน่าสนใจมากขึ้นจาก Bond yield ในประเทศที่ปรับตัวลดลง ประกอบด้วย GULF, GPSC, EA,  BGRIM,  EGCO ,RATCH และ ACE 2. กลุ่มไฟแนนซ์ ที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจชะลอตัวและดอกเบี้ยต่ำ อาทิ กลุ่มปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล ได้แก่ SAWAD, MTC และกลุ่มบริหารหนี้ ที่ได้ประโยชน์จากการซื้อหนี้ในระดับราคา  ที่น่าสนใจ ได้แก่ BAM, JMT และ CHAYO

  1. กลุ่มถุงมือยาง ที่ได้อานิสงส์เชิงบวกจากการกลับมาระบาดของCOVID-19 ทั่วโลกที่รุนแรงต่อเนื่อง คือ STGT และ 4.กลุ่มหุ้นปันผล ที่มีความเชื่อมั่นในระดับสูงว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวกได้ในเดือน ม.ค.ประกอบด้วย  PTT, INTUCH, GUNKUL, BCPG, TVO และ ORI โดยหุ้นทั้ง 6 ตัวนี้มีความเชื่อมั่นทางสถิติ เกินกว่า 70% ว่าจะให้ผลตอบแทน Total return เป็นบวกในเดือน ม.ค.

ส่วนหุ้นกลุ่มที่ให้น้ำหนักน้อยกว่าตลาด คือ 1. หุ้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 ในรอบนี้ ได้แก่ กลุ่มธนาคารและกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม สายการบิน สนามบิน และร้านอาหาร 2. กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการบริโภคภายในที่ชะลอตัว จนอาจส่งผลกดดันต่อยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ได้แก่ กลุ่มค้าปลีกและห้างสรรพสินค้า 3. กลุ่มขนส่งสาธารณะ ที่ได้รับผลกระทบจากระดับการสัญจรในประเทศที่ลดลง

ทั้งนี้ จากสถิตินับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา พบว่าช่วง  4 เดือนแรกของทุกปีมักเป็นช่วงเวลาที่ดีของหุ้นปันผล โดยหากดูในมิติของค่ากลางอัตราผลตอบแทนจะพบว่า ให้อัตราผลตอบแทนในแต่ละเดือนดังนี้                 เดือน ม.ค.ให้ผลตอบแทนสูงสุดที่ 3.6 %  เดือน ก.พ.ให้ผลตอบแทน 2.3 %  เดือน มี.ค.ให้ผลตอบแทน 0.2 %  และเดือน เม.ย.ให้ผลตอบแทน 1.8% จึงถือเป็นธีมการลงทุนหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนในระยะกลางได้

www.mitihoon.com