ถ้าเขาจะซื้อ Yield ต่ำ เขาก็ซื้อ

483

ทุกภาคส่วนเปิดฉากปีฉลูอย่างระมัดระวัง ขณะที่ทั่วโลกยังคงเผชิญกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 มาตรการปิดเมืองบางส่วน และความเสี่ยงที่ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจล่าช้าออกไปแม้หลายประเทศได้เริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนแล้ว ในโอกาสนี้เราขอกล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจของตลาดพันธบัตรไทยในปีที่ผ่านมาและแนวโน้มสำหรับปี 2564 ทั้งนี้ เส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) ปรับตัวลดลง 20-80 basis points ในปีที่แล้ว ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรไทยสุทธิราว 6.6 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการเทขายในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม เกือบ 1.5 แสนล้านบาท ก่อนที่จะกลับเข้ามาซื้ออีกครั้ง

เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในเดือนกุมภาพันธ์ (7-0 เสียง) มีนาคม (นัดพิเศษ 7-0 เสียง) และพฤษภาคม (4-3 เสียง) สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% ท่ามกลางผลกระทบรุนแรงจากวิกฤติด้านสาธาณสุขต่อเศรษฐกิจไทย ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและส่งออก การจ้างงาน รวมถึงกลไกการทำงานของตลาดการเงิน ขณะที่ความไม่แน่นอนอยู่ในระดับสูงมาก ทางการจึงตัดสินใจเชิงรุกโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องของลูกหนี้ โดยในเดือนมีนาคมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วจากการขายตราสารทางการเงินของนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศอย่างตื่นตระหนก ก่อนที่จะปรับตัวลดลงและย่ำฐานที่ระดับต่ำจากมาตรการประคับประคองและสนับสนุนตลาดของผู้ดำเนินนโยบายทั่วโลกรวมถึงไทย ขณะที่ช่วงปลายปี 2563 Bond Yield ของไทยปรับตัวลดลงอีกครั้งจากการแพร่ระบาดในไทยรอบใหม่ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 5 ปี กำลังขยับเข้าใกล้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกหน (กราฟด้านล่าง)

ในปี 2564 นี้เรายังคงมองว่ามีโอกาสสูงที่กนง.จะเลือกตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ตลอดทั้งปี และใช้เครื่องมือที่มุ่งสนับสนุนการกระจายสภาพคล่องอย่างตรงจุด อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงด้านต่ำยังคงมีอยู่แม้ภาครัฐอาจใช้มาตรการที่เข้มข้นน้อยลงสำหรับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในรอบนี้ แต่บาดแผลและความเปราะบางของภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากรอบแรกยังไม่จางหายไป โดย Yield Curve อาจชันขึ้นตามแนวทางกู้เงินสำหรับมาตรการเยียวยา ส่วนกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มผันผวน ทิศทางเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงจากการคาดการณ์นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษของสหรัฐฯอาจส่งผลให้ไทยได้รับอานิสงส์ในแง่ของเงินทุนไหลเข้า ขณะที่กรณีกฎระเบียบเพื่อดูแลค่าเงินบาทโดยให้ผู้ลงทุนในตราสารหนี้ไทยต้องลงทะเบียนแสดงตัวตนก่อนการซื้อขายนั้น คาดว่านักลงทุนได้รับข่าวไปแล้วและเป็นไปตามหลักปฏิบัติของหลายตลาด ส่วนอุปสงค์จากนักลงทุนสถาบันในประเทศยังมีต่อเนื่องท่ามกลางสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูงและการเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน (Low Risk Tolerance)

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง
ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

www.mitihoon.com