มุมมองผู้ลงทุนต่อบทบาทกรรมการบริษัท ปัจจัยสำคัญสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืนของกิจการ

51

จากสถานการณ์ในโลกปัจจุบันที่มีความท้าทายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ผลกระทบจากโรคระบาดจากไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งความคาดหวังทั้งจากผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน ลูกค้า คู่ค้า ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียอื่นในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจต่างก็เปลี่ยนแปลง โดยนอกเหนือจากความต้องการให้บริษัทมีผลประกอบการที่ดีแล้ว
ยังคาดหวังให้บริษัทสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีเพื่อดำเนินธุรกิจได้ในระยะยาว โดยหากบริษัทไม่สามารถจัดการประเด็นเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะกระทบกับความสามารถในการแข่งขัน ภาพลักษณ์ และความอยู่รอดขององค์กรแล้ว ยังทำให้ไม่สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนและไม่เป็นที่ยอมรับจากสังคมอีกด้วย ตามบริบทที่กล่าวมา ส่งผลให้บทบาทของคณะกรรมการบริษัทเปลี่ยนไปจากเดิม โดยคณะกรรมการถูกคาดหวังให้มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำที่ดูแลให้บริษัทสามารถแข่งขันได้และมีผลประกอบการที่ดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ด้วยการวางนโยบายและติดตามดูแลให้
ฝ่ายจัดการดำเนินการ มิใช่เพียงการทำหน้าที่กำกับดูแลให้บริษัทดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ เท่านั้น

 

หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียน พ.ศ. 2560 (CG code) เป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทซึ่งเป็นผู้นำองค์กรในการนำพาธุรกิจไปสู่การสร้างคุณค่าที่ยั่งยืน เน้นบูรณาการ เรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เข้าไปในการดำเนินธุรกิจ โดยคณะกรรมการบริษัทสามารถใช้ ดุลยพินิจพิจารณาการนำหลักปฏิบัติไปปรับใช้ ให้เกิดการปฏิบัติอย่างเหมาะสมกับบริบทธุรกิจของบริษัทเพื่อเป็นประโยชน์ต่อกิจการอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลการนำ CG Code ไปปรับใช้ ไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และรายงานประจำปี (แบบ 56-2) ซึ่งรวมถึงแบบ 56-1 One Report
ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2565 โดยมุ่งหวังว่า การเปิดเผยข้อมูลนี้จะช่วยให้คณะกรรมการสามารถอธิบายเกี่ยวกับความเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ได้ หากมีกรณีที่เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว

 

โดยหนึ่งในหลักปฏิบัติตาม CG Code ได้ระบุถึงแนวปฏิบัติที่ดีในการทำหน้าที่ของกรรมการประการหนึ่ง
คือ “คณะกรรมการควรกำหนดหลักเกณฑ์ในการดำรงตำแหน่งในบริษัทอื่นของกรรมการ โดยพิจารณา
ถึงประสิทธิภาพการทำงานของกรรมการที่ดำรงตำแหน่งหลายบริษัท และเพื่อให้มั่นใจว่ากรรมการสามารถให้เวลาในการปฏิบัติหน้าที่ในบริษัทได้อย่างเพียงพอ ควรกำหนดจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่กรรมการแต่ละคนจะไปดำรงตำแหน่งให้เหมาะสมกับลักษณะหรือสภาพธุรกิจของบริษัท แต่รวมแล้วไม่ควรเกิน
5 บริษัทจดทะเบียน ทั้งนี้ เนื่องจากประสิทธิภาพของการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการบริษัทอาจลดลง
หากจำนวนบริษัทที่กรรมการไปดำรงตำแหน่งมีมากเกินไปและควรให้มีการเปิดเผยเรื่องดังกล่าว”
ซึ่งแนวปฏิบัติที่ดีในการทำหน้าที่ของกรรมการในบริษัทจดทะเบียนไทยสอดรับกับหลักการกำกับดูแล
กิจการที่ดีสากลที่จัดทำโดยกลุ่มประเทศ G20 และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) รวมทั้งหลักปฏิบัติในเรื่องทำนองเดียวกันในอีกหลายประเทศ  นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเกณฑ์
การเปิดเผยข้อมูลก็มีข้อกำหนดให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยการดำรงตำแหน่งใด ๆ ของกรรมการที่ได้รับค่าตอบแทนในกิจการหรือองค์กรอื่นที่มีวัตถุประสงค์หลักในการแสวงหากำไร โดยการดำรงตำแหน่งดังกล่าวกระทบกับการให้เวลากับบริษัท  ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน

 

ในช่วงที่ผ่านมามีข้อมูลจากต่างประเทศที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของประเด็นดังกล่าว โดยเริ่มจากคำถามที่ว่า การที่กรรมการบริษัทจดทะเบียนไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทอื่น ๆ อีกหลายที่นั้น จะมีเวลาเพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ซึ่งหากคำตอบคือ “ไม่” ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท ผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น และส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในมุมมองของผู้ลงทุนเช่นกัน

 

ข้อมูลสำคัญชิ้นหนึ่งที่ใช้อ้างอิงความสัมพันธ์ระหว่างการเป็นกรรมการหลายแห่งกับผลการดำเนินงานของบริษัทมหาชน คือ บทความเรื่อง Director Overboarding: Global Trend, Definitions, and Impact ใน Harvard Law School Forum on Corporate Governance เมื่อเดือนกันยายน 25621 ซึ่งได้พบหลักฐานว่าการดำรงตำแหน่งกรรมการหลายแห่งกับผลการดำเนินงานของบริษัทมีความสัมพันธ์กันจริง โดยบริษัทที่มีกรรมการดำรงตำแหน่งในบริษัทมหาชนหลายแห่งมากเกินไป มีผลการดำเนินงานด้อยกว่าบริษัทที่ไม่มีกรรมการในลักษณะดังกล่าว

 

อย่างไรก็ดี หน้าที่การขับเคลื่อนให้เกิดตลาดทุนที่น่าเชื่อถือไม่ได้จำกัดเฉพาะบริษัทจดทะเบียนผ่านการกำกับดูแลกิจการโดยคณะกรรมการบริษัทเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนสถาบันซึ่งเป็นผู้มีอำนาจบริหารและจัดสรรเงินทุนส่วนใหญ่ในตลาดทุน และเป็นพลังกลไกตลาด (market force) ที่สำคัญในด้าน
ความยั่งยืนผ่านการบริหารการลงทุนอย่างรับผิดชอบ สำนักงาน ก.ล.ต. จึงได้จัดทำหลักธรรมาภิบาลการลงทุน หรือ I Code ขึ้นในปี 2560 เพื่อเป็นการจุดประกายในเรื่องการลงทุนอย่างรับผิดชอบ มุ่งเน้นให้ผู้ลงทุนสถาบันบริหารและจัดการลงทุนโดยคำนึงถึง ESG และเพิ่มระดับการติดตามกรณีบริษัทจดทะเบียนมีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับ ESG เพื่อผลักดันให้เกิดการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาด้านความยั่งยืนที่เป็นรูปธรรม อันจะช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบของบริษัทจดทะเบียนและกิจการต่าง ๆ ในตลาดทุนไทย  โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นที่ชัดเจนที่ผู้ลงทุนสถาบันในต่างประเทศและบริษัทที่ให้บริการรับปรึกษาให้ความเห็นและวิเคราะห์วาระ
การประชุม (proxy advisory firms) ต่างกำหนดนโยบายและคำแนะนำในการลงคะแนนเสียงในวาระแต่งตั้งกรรมการบริษัทว่า หากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเป็นกรรมการบริษัท ดำรงตำแหน่งในบริษัทมหาชนอื่นมากกว่าจำนวนที่กำหนด แนะนำให้ลงคะแนนเสียง “ไม่เห็นชอบ” โดยการกำหนดจำนวนบริษัทมหาชนทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งได้นั้น ขึ้นอยู่กับภาระหน้าที่ของกรรมการในแต่ละตำแหน่งด้วย[*]

 

จากความคาดหวังที่เกิดขึ้นรอบด้านเหล่านี้ ทำให้จำนวนบริษัทในสหรัฐอเมริกาที่มีกรรมการดำรงตำแหน่งในบริษัทมหาชนเกินกว่า 3 แห่งขึ้นไป ลดลงตั้งแต่ปี 2559 แม้จะลดลงในอัตราที่ไม่เร็วนัก แต่ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง4 ซึ่งอาจเป็นผลจากการที่บริษัทตอบสนองความคาดหวังที่เกิดขึ้น และกรรมการก็พิจารณา
ความเหมาะสมของตนเองด้วย เนื่องจากเป็นประเด็นสาธารณะที่ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนอย่างมาก

ที่มา : Spotlight on overboarding By ethicalboardroom https://ethicalboardroom.com/spotlight-on-overboarding/

 

กลับมาดูข้อมูลของประเทศไทย มีเพียงครึ่งหนึ่งของบริษัทจดทะเบียนไทยทั้งหมดที่มีนโยบายให้กรรมการดำรงตำแหน่งในบริษัทจดทะเบียนไม่เกิน 5 แห่ง จึงเป็นเรื่องที่บริษัท กรรมการ ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ลงทุนสถาบัน เห็นได้จากทั้งแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุนและตัวอย่างในต่างประเทศตามที่กล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการติดตามให้กรรมการบริษัทที่ผู้ถือหุ้นไว้วางใจให้มาดูแลกิจการ ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตามที่ได้คาดหวัง อันเป็นรากฐานสำคัญในการเสริมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท เพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืนของ
ผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าของบริษัทที่แท้จริง

โดยฝ่ายส่งเสริมธรรมาภิบาลและความยั่งยืน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

www.mitihoon.com