ผ่าวิกฤตพิษ‘โควิด’รอบ2 “BBLกำไรเด่น-KKPยิลด์สูงเกิน7%”

147

 

การระบาดระลอกสองของ Covid-19 แม้ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจล่าช้าออกไป แต่เชื่อว่าการระบาดระลอกใหม่นี้ จะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจน้อยกว่า เมื่อเทียบกับระลอกแรกที่มี “การล็อคดาวน์” เนื่องจากรอบนี้รัฐบาลไม่ได้ประกาศล็อคดาวน์ทั้งประเทศ ดังนั้นหุ้นใน “กลุ่มธาคารพาณิชย์” จึงไม่ได้รับผลกระทบหนักเหมือนเช่น Covid-19 ระลอกแรก “นั่นหมายความว่า ราคาหุ้น “กลุ่มธาคารพาณิชย์” ได้สะท้อนความกังวลประเด็นคุณภาพสินทรัพย์ไปแล้ว”  

ขณะที่ช่วงสัปดาห์หน้า (18-22 ม.ค.64) จะเริ่มเข้าสู่เทศกาลการประกาศผลดำเนินงานไตรมาส 4/2563 และทั้งปี 2563 ของ “กลุ่มธนาคารพาณิชย์”  โดย “บล.หยวนต้า(ประเทศไทย)” ให้ความเห็นว่า แม้ภาพรวมผลดำเนินงานไตรมาส 4/2563 ของ “กลุ่มธนาคารพาณิชย์” ภายใต้ Coverage ทั้ง 7 แห่ง คาดจะปรับตัวลง 21.4% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 4/2562 เพราะได้รับผลกระทบของรายได้ดอกเบี้ยรับที่ต่ำลงตามทิศทางของดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับลดลงกว่า 5 ครั้งนับตั้งแต่ไตรมาส 3/2562 กดดัน Asset Yield ให้ต่ำลง บวกกับระดับการตั้งสำรองที่เร่งตัวขึ้นเพื่อรองรับความเสี่ยงทาง ศก. จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่คาดยังเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2563

ไฮซีซันหนุนQ4-สินเชื่อทะลัก

โดยไตรมาส 4/2563 คาดกำไรจะเติบโต 19.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2563 โดยเป็นผลมาจาก 1.รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยคาดขยับขึ้น ทั้งในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต ค่าธรรมเนียมนายหน้าประกันภัย และค่าธรรมเนียมขายหน่วยลงทุน ที่เข้าสู่ช่วง High Season บวกกับกิจกรรมผ่านสาขาเริ่มฟื้นตัวขึ้น

2.พอร์ตสินเชื่อขยายตัวแม้ลูกหนี้ภายใต้ “โครงการพักชำระหนี้” เริ่มครบกำหนดมาตรการและเริ่มกลับมาทยอยชำระคืนเงินตามปกติ สะท้อนถึงกิจกรรมการให้สินเชื่อใหม่ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในหมวดสินเชื่อบ้าน, สินเชื่อเช่าซื้อยานยนต์ และสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง และ 3. คาดค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองเริ่มปรับตัวลง เพราะทั้ง 7 ธนาคารผ่านการตั้งสำรองก้อนใหญ่ไปแล้ว ขณะที่ทิศทางของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในไตรมาส 4/2563 คาดเพิ่มขึ้น “แบบค่อยเป็นค่อยไป” ทำให้คาดจะเห็นการชะลอตัวของ Credit Cost ลงเมื่อเทียบกับ 2 ไตรมาสที่ผ่านมา

BBL กำไรเติบโตเด่นสุดในกลุ่ม

ทั้งนี้หากพิจารณาแยกเป็นรายธนาคาร ฝ่ายวิจัยแบ่งหุ้นตามทิศทางของกำไรในไตรมาส 4/2563 เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่1.“กำไรฟื้นตัวแรงในไตรมาส3/2563 และเติบโตต่อเนื่องในไตรมาส4/63” นั้นคือ BBL (คาดกำไรสุทธิ 5.53 พันล. เติบโต 37.7%QoQ แต่ลดลง 30.9%YoY) เพราะในไตรมาส 3/2563 ที่การบันทึกค่าใช้จ่ายในโครงการควบรวมแบงก์ Permata ในอินโดนีเซีย ราว 4,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายครั้งเดียว อีกทั้งพอร์ตสินเชื่อของ BBL มีสัดส่วนลูกหนี้ SME ที่ต่ำ ทำให้คาดการตั้งสำรองมีโอกาสชะลอลงต่ำ ทำให้แนวโน้มกำไรไตรมาส 4/63  มีโอกาสฟื้นตัวได้เด่นที่สุดในกลุ่ม

ส่วน KBANK (คาดกำไรสุทธิ 6.82 พันล. เติบโต 2.2%QoQ แต่ลดลง 22.4%YoY) แม้การตั้งสำรองยังทรงตัวในระดับสูงเพราะพอร์ตสินเชื่อหลักเป็นกลุ่ม SME ที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจแต่คาดจะเริ่มผ่อนคลายลงต่อเนื่องจากไตรมาส 3/2563 ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นหลังรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยฟื้นตัว

SCB-KTB-TMB ฟื้นตัว 

กลุ่มที่ 2. “ฐานกำไรต่ำในไตรมาส 3/2563 และฟื้นตัวในไตรมาส 4/2563” คือ  KTB (คาดกำไรสุทธิ 4.10 พันล. เติบโต 34.3%QoQ แต่ลดลง 44.9%YoY), SCB (คาดกำไรสุทธิ 5.91 พันล.เติบโต 27.5%QoQ และ เติบโต7.5%YoY) และ TMB (คาดกำไรสุทธิ 2 พันล. เติบโต 23.7%QoQ และเติบโต24.0%YoY) ส่วนใหญ่เป็นธนาคารที่มีฐานกำไรในไตรมาส 3/2563 ต่ำกว่าธนาคารอื่นๆ

TISCO-KKP กำไรฟื้นตัวมีเสถียรภาพ

กลุ่มที่ 3. “กำไรฟื้นตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ”  ได้แก่ TISCO (คาดกำไรสุทธิ 1.67 พันล. เติบโต 3.8%QoQ แต่ลดลง10.3%YoY) และ KKP (คาดกำไรสุทธิ 1.41 พันล. เติบโต 5%QoQ แต่ลดลง 15.8%YoY) เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจาก เศรษฐกิจ “น้อยกว่ากลุ่ม” และพอร์ตสินเชื่อโดยรวมมีคุณภาพค่อนข้างดี (สัดส่วน 70% เป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน) ทำให้คาดการตั้งสำรองมีแนวโน้มผ่อนคลายมากกว่าธนาคารอื่นๆ อีกทั้งมีแรงหนุนจากการเข้าสู่ช่วง High Season ของรายได้ค่าธรรมเนียมต่างๆ โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมขายหน่วยลงทุนและค่าธรรมเนียม “ธุรกิจหลักทรัพย์” ที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้ดี หนุนให้คาดกำไรสุทธิจะฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3

สรุปเลือก BBL และ KKP เป็น Top Pick    

ส่วนกลยุทธ์การลงทุนนั้น ฝ่ายวิจัยเลือก BBLเป็น Top Pick ของกลุ่มฯ คาดกำไรไตรมาส 4/63 ฟื้นตัวเด่นสุดในกลุ่มฯ หลังตั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับ Permata ไปล่วงหน้าแล้วในไตรมาส 3/63 ทำให้ไม่มีแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม ขณะที่ปี 2564 คาดฟื้นตัวเด่นเช่นกัน หนุนด้วยการตั้งสำรองที่ผ่อนคลายลง และการรวมงบการเงินของ Permata เข้ามาเต็มปีเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ BBL ยังเป็นธนาคารที่มีความเสี่ยงของพอร์ตสินเชื่อไม่สูงเพราะมีลูกหนี้ SME น้อยกว่าธนาคารใหญ่รายอื่นๆ ดังนั้น แนะนำ “ซื้อ” เป้าหมาย 151 บาท

รวมถึงแนะนำ KKP เพราะมีปัจจัยบวกจาก 1.ยอดสินเชื่อเติบโตเด่นสุดในกลุ่มฯ, 2. รายได้ค่าธรรมเนียมฝั่งตลาดทุนที่จะปรับตัวดีขึ้น หลัง IPO ดีลใหญ่เลื่อนไปเป็นปี 64 และคาดพอร์ตสินเชื่อยังเติบโตได้ดีสอดคล้องกับยอดขายยานยนต์ในประเทศที่ดีขึ้น และ 3.มีปัจจัยบวกจากการจ่ายเงินปันผลที่โดดเด่นกว่ากลุ่มฯ คาด Div.Yield ปี 63 ที่ 7.3% แนะนำ “ซื้อ”เป้าหมาย 64 บาท

ภาพธุรกิจปี64โตฉลุย 

ดังนั้นฝ่ายวิจัยจึงแนะนำลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ “มากกว่าตลาด” เพราะมีโอกาสฟื้นตัวได้ดีในปี 2564 หลังผ่านพ้นช่วงเร่งตั้งสำรองไปมากแล้ว และแนวโน้ม NPL ที่คาดเพิ่มขึ้นในระดับที่บริหารจัดการได้ สำหรับความเสี่ยงจากการระบาด Covid-19 ครั้งใหม่ ฝ่ายวิจัยมองว่า “กลุ่มธนาคารพาณิชย์” จะไม่เร่งตั้งสำรองขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะมีระดับ Coverage Ratio และ Tier 1 Ratio อยู่ในระดับที่แข็งแรงขึ้นจากเดิม

อีกทั้งปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ มีข้อมูลของลูกค้าในกลุ่มเสี่ยงมากขึ้น ทำให้มีความสามารถในการติดตามและประเมินสถานะเพื่อให้การช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่การทำ Partial Lockdown ปัจจุบันมีระยะเวลาไม่นาน และมีการกำหนดเป็นบางพื้นที่ ทำให้คาดจะไม่กดดันเศรษฐกิจ นอกจากนี้ในช่วงครึ่งหลังปี 2564  คาดจะเริ่มมีการจัดสรรวัคซีนในไทย ทำให้สถานการณ์โดยรวมไม่แย่เท่ากับไตรมาส 2/2563 ซึ่งยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ได้ผล

www.mitihoon.com