CPANEL กางแผนธุรกิจปี 64 ขยายฐานลูกค้าทั่วประเทศ พัฒนา AI ลดต้นทุนการผลิต ตั้งเป้าเติบโต 40%”

348

 

มิติหุ้น-CPANEL กางแผนธุรกิจปี 64 ชูกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงขยายลูกค้าภาครัฐ – เอกชน     เจาะกลุ่มอาคารและโรงงานเพิ่ม เล็งขยายตลาดอสังหาฯหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ พร้อมพัฒนา AI ลดต้นทุนการผลิต เสริมบริการหลังการขายตอบโจทย์ลูกค้า เชื่อแนวโน้มเติบโตแม้ภาพรวมอสังหาฯชะลอ ขณะที่ผู้ประกอบการ ผู้รับเหมาปรับตัว เน้นก่อสร้างเร็ว ลดสต็อค หนุนความต้องการ Precast โชว์ Backlog 360 ล้านบาท ตั้งเป้าปีนี้เติบโตกว่า 40%

นายชาคริต ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (CPANEL) ผู้นำการผลิตและจำหน่ายผนังคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast) เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2564 แนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในภาวะอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว โดยบริษัทมีแผนเพิ่มปริมาณคำสั่งซื้อลูกค้าเดิม พร้อมกระจายความเสี่ยงขยายฐานลูกค้ารายใหม่ภาคเอกชน รวมถึงฐานลูกค้ากลุ่มภาครัฐ พร้อมแผนขยายตลาดผนังคอนกรีตสำเร็จรูปตามหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ

ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าที่เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์กว่า 10 ราย ที่มีคำสั่งซื้อต่อเนื่อง โดยมีงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการอาทิ ไบรตัน ,บริทาเนีย, โกลเด้น นีโอ, สัมมากร อเวนิว, โนเบิล เกเบิล, เลค ซีรีน, กานดา เรียลแอสเสท, ศุภาลัย เออร์บานา, ที.เอ็ม.ที.แลนด์, เอเบิ้ล แอสเสท, พร็อพเพอร์ตี้เพอร์เฟค และอื่นๆ

อีกทั้งอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาโครงการภาครัฐ ซึ่งเป็นงานก่อสร้างอาคารสำนักงาน ที่พักบุคลากร ขณะที่ภาคเอกชน นอกจากงานโครงการแนวราบที่มีความต้องการต่อเนื่อง บริษัทยังมีโอกาสเข้ารับงานโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากบริษัทต่างชาติมีแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น  จากสงครามการค้า จีน อเมริกาที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งถือเป็นการขยายโอกาสการรับงานให้มีความหลากหลาย อีกทั้ง บริษัทอยู่ระหว่างยื่นเสนองานอีกหลายโครงการ โดยปี 2564 สัดส่วนรายได้งานภาครัฐจะเพิ่มขึ้นที่ 10-15% จากเดิมที่มีเพียงไม่ถึง 1%

นอกจากนี้ บริษัทได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิต นำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในระบบประมวลผลมีการวิเคราะห์เชิงลึก มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มความรวดเร็ว ลดต้นทุน และลดความผิดพลาดหรือความสูญเสียในการผลิต เพื่อผลิตชิ้นงานได้มีคุณภาพมากขึ้น  อีกทั้งบริการหลังการขาย การบริหารการขนส่ง สร้างมูลค่าเพิ่มตอบสนองความต้องการให้แก่ลูกค้า

ขณะที่ ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ยังคงชะลอตัวและมีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลให้ผู้ประกอบการและผู้รับเหมาปรับกลยุทธ์ลดต้นทุนการก่อสร้าง ลดจำนวนแรงงาน บริหารความเสี่ยง ลดเวลาการก่อสร้างเพื่อลดสต็อคและใช้วัสดุที่ทำให้การก่อสร้างเสร็จเร็วมากขึ้น ส่งผลให้ Precast เป็นเทคโนโลยีก่อสร้างที่ตอบสนองในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าสัดส่วนงานก่อสร้างที่จะถูกแทนที่เป็น Precast ในกลุ่มอาคารที่พักอาศัยแนวราบของเอกชนน่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3% จากยอดใช้ทั้งหมดจนถึงปี 2568 เป็นผลมาจากแรงงานก่อสร้างที่หาได้ยากขึ้นและมีค่าแรงที่สูงขึ้นเป็นหลัก ถือเป็นโอกาสของบริษัท ที่จะมีแนวโน้มการรับงานสูงขึ้นในอนาคต

“ธุรกิจผนังคอนกรีตสำเร็จรูปสามารถเติบโตได้ เนื่องจากลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่ เป็นผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการเติบโตจึงมีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง อีกทั้งบริษัทเจาะกลุ่มอาคารสำนักงาน และโรงงานเพิ่ม ประกอบกับในปี 2563 บริษัทมีการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี และปรับปรุงการผลิตตลอดเวลา ส่งผลให้สามารถควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากเทรนด์การใช้งาน Precast ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น บริษัทจึงมีแผนระดมทุนก่อสร้างโรงงานผลิต Precast โรงที่ 2 เพื่อรองรับความต้องการใช้งานในอนาคต” นายชาคริต กล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเดินหน้าเข้าประมูลงานใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันมีมูลค่างานในมือ (Backlog) 360 ล้านบาท ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตผนังคอนกรีตสำเร็จรูปของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 60-70%  โดยบริษัทตั้งเป้าอัตราเติบโตของยอดขายปีนี้อยู่ที 40%

www.mitihoon.com