TMB รายงานกำไรสุทธิ ปี 63 ที่ 10,112 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% จากปีก่อน

125


มิติหุ้น – ทีเอ็มบี รายงานกำไรสุทธิ ปี
2563
 ที่ 10,112 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% จากปีก่อน หนุนโดยการรับรู้ผลประโยชน์จากการรวมกิจการกับธนชาต สำหรับไตรมาส 4 ยกระดับสำรองฯ ขึ้นแม้หนี้เสียยังอยู่ในระดับต่ำที่ 2.5% เพื่อเตรียมรับมือกับแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2564 ด้านการรวมธนาคารเสร็จสิ้นได้ตามแผนภายในเดือนกรกฎาคมนี้

ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย แจ้งผลประกอบการไตรมาส 4 และ 12 เดือน ปี 2563 โดยรวมแล้วผลการดำเนินงานในไตรมาส 4 ทั้งด้านรายได้และการบริหารค่าใช้จ่ายปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ทำให้มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ (PPOP) 9,805 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากไตรมาสที่แล้ว รวมทั้งปี PPOP อยู่ที่ 37,266 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 90% จากปีก่อนหน้า สะท้อนถึงการรับรู้ผลประโยชน์จากการรวมกิจการ ซึ่งทำได้ตามแผนตลอดทั้งปี จากการดำเนินงานที่ดีขึ้นนี้ ธนาคารจึงตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นแม้ว่าสัดส่วนหนี้เสียยังอยู่ในระดับต่ำที่ 2.5% โดยในไตรมาส 4 ตั้งสำรองฯ อีก 8,237 ล้านบาท รวมทั้งปีเป็นจำนวน 24,831 ล้านบาท ถือเป็นการเสริมความแข็งแกร่งด้านการเงินเพื่อรับมือกับแนวโน้มเศรษฐกิจและผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2564 หลังหักสำรองฯ และภาษี กำไรสุทธิ ปี 2563 อยู่ที่ 10,112 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% จากปี 2562

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า สำหรับทีเอ็มบีและธนชาต เป้าหมายหลักในปี 2563 เป็นเรื่องของการดำเนินการตามแผนรวมกิจการเพื่อให้เกิดการรับรู้ผลประโยชน์ด้านงบดุล (Balance Sheet Synergy) และด้านต้นทุน (Cost Synergy) และเพื่อให้การรวมธนาคาร (Integration) เสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฎาคมนี้ แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 สิ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกค้าทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ควบคู่ไปกับการเสริมความแข็งแกร่งด้านการเงินและบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ และกลายมาเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญในปีที่ผ่านมา

ในด้านผลประกอบการ แน่นอนว่ามีแรงกดดันด้านรายได้จากเศรษฐกิจที่หดตัวและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงหลายครั้ง อย่างไรก็ดี ทีเอ็มบีและธนชาตสามารถดำเนินการตามแผนรวมกิจการได้ตามเป้าหมาย จึงทำให้เกิด Balance Sheet Synergy จากการปรับโครงสร้างเงินฝากและสินเชื่อ ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนรายได้ดอกเบี้ย ขณะที่ Cost Synergy ซึ่งเกิดจากการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและลดค่าใช้จ่ายที่ทับซ้อนกันระหว่าง 2 ธนาคาร ช่วยให้ธนาคารสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้อย่างดี ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานยังคงแข็งแกร่ง

ในด้านการบริหารความเสี่ยง แม้ว่าสัดส่วนหนี้เสียในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำที่ 2.50% ใกล้เคียงกับ 2.35% ในปีก่อนหน้า และลูกค้าส่วนใหญ่ที่ออกจากโปรแกรมพักชำระหนี้สามารถกลับมาชำระหนี้ตามปกติ แต่ธนาคารประเมินว่าสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่จะกลับมาสร้างแรงกดดันต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าในช่วงถัดไป ดังนั้น จึงตัดสินใจตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากผลการดำเนินงานที่ยังคงดีอยู่ ผลลัพธ์คือสัดส่วนเงินสำรองฯ ต่อหนี้เสียซึ่งเปรียบเสมือนกันชนรับความเสี่ยงปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 134% เทียบกับ 120% ในปี 2562 ถือเป็นการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบและเตรียมการล่วงหน้าเพื่อรองรับแนวโน้มหนี้เสียในอนาคตภายหลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2563 สินเชื่อภายใต้โปรแกรมพักชำระหนี้ของธนาคารลดลงจากระดับประมาณ 40% ในช่วงเริ่มต้นโปรแกรม มาอยู่ที่ประมาณ 15% ของสินเชื่อรวม ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่เข้ามาขอรับความช่วยเหลือเพิ่มเติมหลังจากที่โปรแกรมแรกจบลง

สำหรับรายละเอียดผลการดำเนินรอบ 12 เดือน ปี 2563 มีดังนี้ เงินฝากอยู่ที่ 1.37 ล้านล้านบาท ลดลง 1.8% จากสิ้นปี 2562 การลดลงดังกล่าวเป็นไปตามแผนการบริหารการเติบโตของเงินฝากให้สอดคล้องกับภาวะสินเชื่อ และการปรับโครงสร้างเงินฝากหลังการรวมกิจการ โดยการปรับลดสัดส่วนเงินฝากประจำและแทนที่ด้วยเงินฝากที่เป็นผลิตภัณฑ์หลัก เช่น เงินฝาก All Free และเงินฝาก No Fixed ซึ่งยังคงเติบโตได้ดี

เงินให้สินเชื่ออยู่ที่ 1.39 ล้านล้านบาท ทรงตัวจากปีก่อน ตามการชะลอตัวของสินเชื่อใหม่ และการปรับโครงสร้างเพื่อเสริมคุณภาพพอร์ตสินเชื่อ โดยการลดสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันลง ทั้งนี้ เมื่อรวมพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อของธนาคารธนชาตเข้ามา ส่งผลให้สินเชื่อที่มีหลักประกันมีสัดส่วนสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพอร์ตสินเชื่อรายย่อย ซึ่งประมาณ 90% ของพอร์ตเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน

ด้านรายได้ ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 53,805 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100.3% จากปีก่อนหน้า (YoY) หนุนโดยส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย หรือ NIM ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.00% จาก 2.81% ในปีก่อนหน้า เป็นผลจากการรับรู้ Balance sheet synergy และการบริหารการใช้เงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 14,986 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.7% YoY การเติบโตที่น้อยกว่าด้านรายได้ดอกเบี้ย สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ต่อรายได้ค่าธรรมเนียม ทั้งนี้ รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิอยู่ที่ 10,575 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.6% YoY จากการชะลอตัวของรายได้จากการขายประกันและกองทุนรวมโดยเฉพาะในไตรมาส 2 ส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานรวมอยู่ที่ 68,791 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72.8% YoY

ในส่วนของค่าใช้จ่ายนั้น แม้ว่าในปีนี้ธนาคารมีการทำ Integration แต่จากการรับรู้ประโยชน์ด้าน Cost synergy ก็ทำให้สามารถบริหารค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี ทำให้อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ลดลงมาอยู่ที่ 46% จาก 51% ในปีที่แล้ว และส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ ทรงตัวในระดับแข็งแกร่งที่ 37,266 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 89.6% จากปี 2562 และเอื้อให้ธนาคารสามารถตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นเป็น 24,831 ล้านบาท หลังหักสำรองฯ และภาษี ธนาคารรายงานกำไรสุทธิปี 2563 อยู่ที่ 10,112 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.0% จากปี 2562

ด้านสภาพคล่องและเงินกองทุนยังคงแข็งแกร่ง โดยอัตราส่วน LCR ซึ่งบ่งบอกถึงสินทรัพย์สภาพคล่องที่ใช้รองรับความผันผวนในภาวะวิกฤต ในปีผ่านมาอยู่ในช่วง 170%-220% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 100% มาโดยตลอด สำหรับความเพียงพอของเงินกองทุนยังอยู่ในระดับสูงเป็นลำดับต้นๆ ของอุตสาหกรรมธนาคารไทย โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 อัตราส่วน CAR และ Tier I (เบื้องต้น) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 19.5% และ 15.4% จาก 18.9% และ 14.6% ในปีก่อนหน้า และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 11.0% และ 8.5% ตามลำดับ

นายปิติ ตัณฑเกษม กล่าวในตอนท้ายว่า “ด้วยการเตรียมการและเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินในปี 2563 ที่ผ่านมา ธนาคารมีความพร้อมในการรับมือกับปี 2564 และพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดในครั้งใหม่ ด้านการรวมธนาคารคาดว่าเสร็จสิ้นได้ตามแผนภายในเดือนกรกฎาคมนี้

www.mitihoon.com