วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุนประจำสัปดาห์ วันที่ 25 – 29 ม.ค. 2564
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (18-22 ม.ค.) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯอย่างเป็นทางการของนายไบเดน และการที่นางเจเน็ต เยลเลน ว่าที่รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้สภาคองเกรสเร่งอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เสนอโดยนายไบเดน ทำให้นักลงทุนมีความหวังว่า คณะรัฐบาลชุดใหม่จะเร่งผลักดันการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ นอกจากนี้ ดัชนีฯยังได้แรงหนุนจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ ด้านตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเล็กน้อย โดยดัชนีฯยังได้รับปัจจัยกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่เยอรมนีจะขยายเวลาบังคับใช้มาตรการ lockdown ประกอบกับการที่ประธานธนาคารกลางยุโรปได้เตือนว่า จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นและการล็อกดาวน์จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะใกล้ สำหรับตลาดหุ้นจีน (A-Share) ปรับเพิ่มขึ้น หลัง GDP ของจีน ในไตรมาส 4/2020 ขยายตัว 6.5% ซึ่งดีกว่าในไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 4.9% รวมทั้ง ขานรับการที่ธนาคารกลางจีนได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบมูลค่า 2.78 แสนล้านหยวน ด้านตลาดหุ้นไทยปิดลบ ตามแรงขายนำในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี พลังงาน และการเงิน รวมถึงข่าวการเตรียมปรับปรุงเกณฑ์เกี่ยวกับ Free float ที่เกี่ยวเนื่องกับการคำนวณดัชนีตลาดหุ้นไทย ส่วนราคาน้ำมันดิบปิดลบเล็กน้อย โดยได้รับปัจจัยกดดันจากการที่สำนักงานพลังงานสากล ปรับลดคาดการณ์ความต้องการน้ำมันดิบในตลาดโลกในปี 2021 ลง 280,000 บาร์เรล/วัน สู่ระดับ 5.5 ล้านบาร์เรล/วัน ในขณะที่ ราคาทองคำปิดบวก โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ สหรัฐฯ และความหวังเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ
มุมมองของเราในสัปดาห์นี้
ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นส่วนใหญ่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างจำกัด โดยยังคงได้รับ Sentiment ในเชิงบวกในระยะสั้น จากแนวนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้คณะบริหารของประธานาธิบดีไบเดน ที่จะเน้นมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 และนโยบายเรื่องการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 นอกจากนี้ ตลาดฯ ยังได้รับปัจจัยหนุนจากแนวโน้มที่ที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ จะคงนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายตามเติม และประธานธนาคารกลางสหรัฐฯมีแนวโน้มจะยังไม่ส่งสัญญาณการลดหรือยุติมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) ในอนาคต ประกอบกับ การทยอยรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนของสหรัฐฯ และยุโรป ประจำไตรมาสที่ 4/2020 ที่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ โดยในสัปดาห์นี้ มีจำนวนของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ และยุโรป ที่รายงานคิดเป็น 43% และ 12% ของ Market cap ของในแต่ละตลาดฯ อย่างไรก็ตาม ความกังวลการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 รวมถึงการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 จะทำให้ทางการหลายประเทศยังต้องคงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดต่อ รวมถึง นักลงทุนบางส่วนเริ่มมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด-19 นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ หลังจีนได้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินรบไปยังน่านฟ้าใกล้ๆกับไต้หว้น รวมถึง ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯและจีนที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับความเสี่ยงจากแรงขายทำกำไรในระยะสั้น โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสหรัฐฯ ตาม Valuation ที่ตึงตัวอย่างมาก และแนวโน้มการทยอยปรับเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี โดยประเด็นต่างๆข้างต้น สามารถกดดันให้ตลาดหุ้นโดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด
เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)
- การออกมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมของสหรัฐฯ โดยล่าสุด ประธานาธิบดีไบเดนได้ลงนามในคำสั่งบริหาร เพื่อให้ความช่วยเหลือกับชาวอเมริกันที่มีรายได้ต่ำ และเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางเป็น 15 ดอลลาร์ สหรัฐฯ ในขณะที่ นักลงทุนบางส่วนกังวลว่า ประธานาธิบดีไบเดนอาจถูกกดันจากวุฒิสภาสหรัฐฯ ให้ปรับลดวงเงินในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
- แนวโน้มการออกมาตรการเยียวยาโควิด-19 เพิ่มเติมของไทย โดยคาดว่า คณะรัฐมนตรีจะเน้นมาตรการด้านภาษี เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงลดรายจ่ายประกันสังคมให้กับพนักงาน แต่คงวงเงินสมทบจากนายจ้าง
- ติดตามการระบาดของโควิด-19 และการใช้มาตรการ lockdown โดยนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรแถลงว่า ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์อาจส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตมากกว่าที่คาด และเตือนว่า จะยังไม่ผ่อนคลายมาตรการ lockdown เร็วเกินไป ขณะที่ ประธานาธิบดีไบเดนเตรียมดำเนินมาตรการระงับการเดินทางเข้าสหรัฐฯของบุคคลที่ไม่ใช่พลเมืองสหรัฐฯ ที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง
- ประเด็นเรื่องการพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสโควิด-19 โดยซิโนแวค เปิดเผยว่า วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 มากขึ้น หากมีการฉีดวัคซีนโดส 2 หลังจากโดสแรกนาน 21 หรือ 28 วัน ในขณะที่ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) ได้รับรายงานว่า พบผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทโมเดอร์นา จำนวน 1,266 คน
- ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ หลังรัฐบาลสหรัฐฯเรียกร้องให้รัฐบาลจีนเลิกข่มขู่ไต้หวันด้วยวิธีการทางทหาร การทูต และเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลสหรัฐฯจะให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเต็มที่ ซึ่งรวมถึงความสามารถในการป้องกันตัวเอง
- ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯและจีน หลังทางการจีนประกาศคว่ำบาตรนายไมค์ ปอมเปโอ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ และอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูง 27 คน เนื่องจากเป็นผู้มีอคิตและเกลียดชังจีน รวมถึงมีนโยบายต่อต้านและทำลายผลประโยชน์ของจีน
- ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 28 ม.ค. โดยคาดว่า ที่ประชุมฯจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0-0.25% และคงการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่อัตรา 120 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ต่อเดือน สอดคล้องกับถ้อยแถลงประธานธนาคารกลางสหรัฐฯก่อนหน้านี้ ที่ยืนยันว่า จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตอนนี้ และจะแถลงให้สาธารณะชนรับรู้ก่อน หากจะลดมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงิน
- การรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ เช่น Apple, Facebook และ Microsoft โดยตลาดคาดการณ์ว่า บริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ในดัชนี S&P500 จะรายงานกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 4/2020 หดตัวอยู่ที่ -8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และรายงานรายได้หดตัวอยู่ที่ -1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
- การทบทวนประมาณการเศรษฐกิจของ IMF โดยคาดว่า IMF จะปรับประมาณการ GDP โลกในปีนี้ลง จากที่เคยคาดในรายงานครั้งก่อนหน้าที่ 2% เพื่อสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เป็นไปอย่างช้าๆ ตามสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่ยังคงรุนแรงทั่วโลก
- ตัวเลขเศรษฐกิจ
สหรัฐฯ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก GDP ในไตรมาสที่ 4 และดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคล
เยอรมนี ยอดค้าปลีก และ GDP ในไตรมาสที่ 4
ญี่ปุ่น ยอดค้าปลีก อัตราการว่างงาน และดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม
จีน กำไรภาคอุตสาหกรรม
ไทย รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือน ธ.ค.ของธปท. และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม
วิเคราะห์โดย: นางสาวเกษรี อายุตตะกะ CFP® ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด และนายจตุรภัทร ทนาบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการ Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด
www.mitihoon.com