COTTO กางแผนปี 64 รับมือตลาดเซรามิกแข่งเดือด ส่งสินค้าใหม่รับเทรนด์ที่อยู่อาศัย-รุกตลาดพลังงานทดแทนเจาะลูกค้าอุตสาหกรรม

358

มิติหุ้น -เอสซีจี เซรามิกส์ ปี 2563 กำไรเพิ่ม ไม่ประมาทพร้อมรับมือตลาดเซรามิกแข่งขันดุเดือด ส่งสินค้าใหม่ควบบริการครบวงจรรับเทรนด์ที่อยู่อาศัย  เร่งเดินหน้ารุกตลาดพลังงานทดแทนเจาะกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม

นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องภายใต้แบรนด์  “คอตโต้” (COTTO) โสสุโก้ (SOSUCO) และ คัมพานา (CAMPANA)   เปิดเผยว่า   งบการเงินรวมก่อนสอบทานของ COTTO ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 2,419  ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 8 จากไตรมาสก่อน โดยมีผลกำไร 83 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 219 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 51 จากไตรมาสก่อน  เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ   โดยเฉพาะตลาดประเทศกัมพูชา เมียนมาร์และลาว  รวมถึงปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่มีผลทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งออก    นอกจากนี้การชะลอโครงการก่อสร้างและโปรเจคขนาดใหญ่ทั้งของภาครัฐและเอกชน และการที่ช่องทางการจัดจำหน่ายโมเดิร์นเทรดในบางพื้นที่ต้องหยุดการดำเนินงานชั่วคราว ยังส่งผลกระทบต่อยอดขายและรายได้บางส่วนด้วย

สำหรับผลประกอบการปี  2563  บริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 9,951  ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 10 โดยมีกำไรสุทธิรวม 420  ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 252  ล้านบาท  โดยมีปัจจัยสำคัญจากต้นทุนการผลิตที่ลดลงตามราคาก๊าซธรรมชาติ ความสามารถในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต รวมทั้งสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการบริหารการขายและการตลาดได้ตามเป้าหมาย

ด้านสถานการณ์ตลาดเซรามิกในประเทศ ไตรมาสที่ผ่านมาความต้องการใช้กระเบื้องเซรามิกชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและมีปัจจัยลบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ตลอดจนอุทกภัยในหลายพื้นที่และการสิ้นสุดของมาตรการพักชำระหนี้ แม้ว่าภาครัฐมีการคลายการล็อคดาวน์ตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ผ่านมา รวมทั้งออกมาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน อาทิ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง และช้อปดีมีคืน ที่อาจจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อในประเทศมากขึ้น แต่ยังไม่มีนโยบายหรือมาตรการที่ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างโดยตรง

สำหรับสถานการณ์ตลาดเซรามิกในปี 2564 นี้ นายนำพล กล่าวว่า “ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID19 ในขณะนี้ มีผลโดยตรงต่อความมั่นใจของลูกค้าในช่วงต้นปีซึ่งเป็นเวลาที่ปกติมีความต้องการสูงสุดของทุกปี  ถึงแม้ตอนนี้จะยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ที่แน่ชัดได้  แต่คาดว่าจะส่งผลกระทบทำให้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศยังคงชะลอตัวต่อไปอีกระยะหนึ่ง และการแข่งขันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นจากความต้องการและกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง  ในสถานการณ์นี้ บริษัทได้มีการปรับตัวและเตรียมแผนงานเพื่อรับมือ โดยมุ่งเน้นที่จะรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ให้ได้และควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น รวมถึงเร่งการดำเนินการในแผนงานต่าง ๆ อย่างเต็มกำลัง เพื่อรองรับการฟื้นตัวในอนาคต ระหว่างนี้ ได้นำจุดเรียนรู้จากการล็อคดาวน์ครั้งก่อนมาเร่งดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการเร่งการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ตลอดจนวางแผนและประมาณการทางด้านความต้องการซื้อของลูกค้าและการผลิตสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม”

ในส่วนกลยุทธ์การดำเนินงานที่สำคัญ ในช่วงต้นปีนี้ บริษัทจะยังคงมุ่งเน้นเรื่องช่องทางที่หลากหลายทั้งในแบบออฟไลน์และออนไลน์ควบคู่กันไปเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคทุกระดับ โดยปัจจุบันบริษัทได้ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาช่องทางจัดจำหน่ายให้มีความหลากหลายมากขึ้นทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าของบริษัทได้จากหลากหลายช่องทาง และมุ่งเน้นสินค้านวัตกรรม (High Value Added) ทั้งในด้านฟังก์ชันการใช้งานควบคู่ไปกับความสวยงามอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและสอดรับกับเทรนด์ที่กำลังมาแรง โดยเฉพาะเทรนด์เรื่องการให้ความสำคัญกับสุขภาพและสุขอนามัยที่ดี (Well-Being) ความตื่นตัวเรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัยตลอดจนการเตรียมพื้นที่สำหรับสมาชิกครอบครัวที่เป็นผู้สูงอายุ รวมถึงเทรนด์เรื่องการปรับปรุงที่อยู่อาศัย (Renovation)

“ปีที่ผ่านมาบริษัทได้ออกสินค้าภายใต้แบรนด์ COTTO หลายซีรีย์ที่อยู่ในกลุ่มกระเบื้อง Hygienic Tile (ไฮจีนิก ไทล์) ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์เรื่องสุขภาพและความสะอาดมาโดยตลอด  จนถึงปัจจุบันนี้นอกจากความโดดเด่นในเรื่องฟังก์ชันการใช้งานที่เน้นคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของ “เชื้อแบคทีเรีย” แล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่ามีการเพิ่มเติมและพัฒนาเรื่องความสวยงามมากขึ้น โดยล่าสุดได้มีการพัฒนากระเบื้องลวดลายไม้ในแต่ละแผ่นกระเบื้องเป็นแบบ Random Design ที่ไม่ซ้ำและมีความแตกต่างกันในแต่ละแผ่นเสมือนลวดลายไม้ธรรมชาติจริง ๆ โดยยังคงคุณสมบัติในเรื่องความเป็น ไฮจีนิก ไทล์ ด้วย  นอกจากนี้เรายังคงผลักดันสินค้าใหม่ คือ แผ่นปูพื้น LT แบบ Smart Flexible by COTTO ซึ่งเป็นวัสดุปูพื้นที่มีดีไซน์สวยงาม ติดตั้งง่าย รวดเร็ว และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งที่จะเป็น Product expert ซึ่งมีความครบครันตั้งแต่สินค้าจนถึงบริการ มีสินค้าที่ตอบโจทย์ทุกพื้นที่รวมทั้งมีอุปกรณ์เสริมครบทุกรายการเพื่อให้จบงานได้ จนถึงมีทีมบริการติดตั้งที่ได้มาตรฐาน ลูกค้าสามารถซื้อได้ครบจบในที่เดียว” นายนำพล กล่าวเสริม

ด้านการขยายธุรกิจด้านพลังงาน ภายใต้ แบรนด์ SUSUNN” ที่บริษัทได้ดำเนินธุรกิจให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดจำหน่าย ติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนซึ่งเป็นพลังงานสะอาดหลากหลายประเภทโดยเฉพาะระบบโซลาร์เซลล์  นายนำพล กล่าวว่า “วิสัยทัศน์ของ แบรนด์ SUSUNN คือ มุ่งหวังที่จะเป็นผู้ให้บริการ (Solution Provider) ด้านวิศวกรรม พลังงาน และนิคมอุตสาหกรรมในระดับอาเซียนด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพและประสบการณ์ของทีมงานสามารถทำให้เป็นไปได้อย่างแน่นอน  ตั้งแต่เริ่มดำเนินการมาในระยะ 2-3 ปีจนถึงขณะนี้ สินค้าและบริการของเราได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และมีลูกค้ารายใหม่เพิ่มเติมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ตลาดของโซลาร์เซลล์ที่ยังคงเติบโตได้ดีในปัจจุบัน และยังมีแนวโน้มที่ดีมากในอนาคต ”

ภายใต้แบรนด์ SUSUNN มีสินค้าและบริการด้านการบริหารจัดการพลังงานและพลังงานทดแทน ได้แก่

RENEWABLE ENERGY

ให้บริการแนะนำ ออกแบบ และติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ครบวงจร ทั้งแบบ บนหลังคา (Solar Rooftop) แบบติดตั้งบนพื้นที่ว่างเปล่า (Solar Farm) และ ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ (Solar Floating) เป็นการใช้พื้นที่แหล่งน้ำให้เกิดประโยชน์

SOLAR CARPORT SOLUTIONS

บริการออกแบบและติดตั้งระบบหลังคาโซลาร์เซลล์ สำหรับลานจอดรถ สะดวกรวดเร็ว ประหยัด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน  สามารถถอดประกอบ ย้ายพื้นที่ติดตั้งได้ง่าย เพื่อบริหารพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ENERGY MANAGEMENT

บริการด้านการจัดการพลังงานตรวจรับรองการจัดการพลังงาน ตรวจวัดวิเคราะห์การใช้พลังงานและโครงการอนุรักษ์พลังงานให้กับสถานประกอบการของลูกค้าด้วยมาตรฐานระดับสากล และพัฒนาระบบพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานภาคอุตสาหกรรม

SOLAR MONITORING SYSTEM

ระบบตรวจวัดและควบคุมการใช้พลังงานผ่านแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นเพื่อติดตามและสรุปข้อมูลการใช้พลังงานจากระบบโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อปรับปรุงการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

www.mitihoon.com