มิติหุ้น – “บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์” หรือ TPIPP ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคได้รับเอกสารจาก อบจ.สงขลาว่าเป็นผู้ชนะการประมูลโรงไฟฟ้าขยะที่เปิดประมูลไป โดยทาง TPIPP ได้ยื่นซองไปร่วมการประมูล ซึ่งทาง อบจ.สงขลาให้ความสำคัญกับ ความน่าเชื่อถือ และอื่นๆ ซึ่งทางบริษัทฯ มีครบถ้วน ด้วยคะแนนสูงที่สุดในบรรดาผู้ร่วมประมูล ทางบริษัทฯ ยังพร้อมเข้าร่วมประมูลโคราชและโรงไฟฟ้าขยะอื่น ๆ อีกรวม 11 โครงการ รวม 135 เมกกะวัตต์
นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ TPIPP รับผิดชอบสายบัญชีและการเงิน เปิดเผยว่า ทางบริษัทฯ ได้รับการติดต่อจาก อบจ.สงขลา ว่าจากการที่บริษัทฯได้ยื่นประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะสงขลาฯ กับทาง อบจ. เพื่อทำโรงไฟฟ้า พร้อมกับโรงกำจัดขยะที่ ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยทาง อบจ. ได้ระบุเหตุผลว่าให้คะแนนกับ ประสบการณ์ เทคโนโลยี ฐานะการเงิน และชื่อเสียงสูง รวมไปถึงการประกวดราคาค่ากำจัด ซึ่งทางบริษัทฯ มีคะแนนดีเยี่ยมในทุกหัวข้อ ส่งผลให้บริษัทฯ ได้คะแนนสูงที่สุดในหมู่ผู้เข้าร่วมประมูล และชนะการประมูลไปในที่สุด
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าขยะสงขลานี้จะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี หลังจากเริ่มผลิต ราคาขายไฟฟ้าอยู่ที่ 5.78 บาทสำหรับ 8 ปีแรก และ 5.08 บาทสำหรับ 12 ปีหลัง ตามประกาศของกระทรวงพลังงานเนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้า VSPP (Very small power plant) นอกจากนั้นทางบริษัทฯ ยังได้รับค่ากำจัดขยะอีก 400 บาทต่อตัน ซึ่งทางเทศบาลได้ระบุว่าต้องส่งมอบขยะ 400-700 ตันต่อวัน โดยการประมูลเป็นแบบ BOO (build-operate-own) หลังจากครบสัญญา 20 ปี ทางคู่สัญญาสามารถต่อสัญญาได้อีก 5 ปีไปเรื่อยๆ ซึ่งราคาขายไฟฟ้าและค่ากำจัดต้องไปเจรจากันใหม่ในตอนนั้น โดยทางบริษัทฯ ประเมินว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาทสำหรับโครงการนี้
“ขั้นตอนต่อจากนี้คือการ ทำผลกระทบสิ่งแวดล้อม Code of Practice หรือ COP ควบคู่ไปกับการเจรจาสัญญาสัมปทานบ่อขยะ หลังจากทั้งสองเรื่องเรียบร้อยก็จะเป็นการเจราจาขอเซ็นสัญญา Power Purchase Agreement หรือ PPA กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. ต่อไป นอกจากโรงไฟฟ้าขยะที่สงขลาแล้ว บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างเตรียมตัวเข้าร่วมประมูลอีก 11 โครงการ รวม 135 เมกกะวัตต์ ซึ่ง TOR ของแต่ละโครงการจะทยอยออกมาในปีนี้และปีหน้า ปัจจุบันทางบริษัทฯ ได้ยื่นเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าขยะชุมชนใน จังหวัดนครราชสีมาแล้ว คาดว่าจะประกาศผลภายในเดือนกุมภาพันธ์” นายภัคพล กล่าว
ทางด้านความคืบหน้าของโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ Strategic Environmental Assessment (SEA) ตามหลักการของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อันเป็นกระบวนการที่เป็นระบบเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายแผนหรือแผนงานโดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและการบูรณาการด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ซึ่งนำไปใช้ในการวางแผนเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) อันมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้รับมอบอำนาจทำการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานเจ้าของแผนงานทำ SEA มีมติเห็นชอบกับโครงการของ TPIPP และครม.มีมติรับทราบ ซึ่งถือว่าเป็นมติครม.เห็นชอบกับโครงการตามแผน/แผนงาน/นโยบายสามเหลี่ยมมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืนของกพต. นอกจากนี้กพต. ได้มีมติให้เร่งรัดให้กรมโยธาธิการให้ทำการเปลี่ยนพื้นที่สีเขียวเป็นสีม่วง กระทรวงพลังงาน กกพ. และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจให้จัดการทำ PPA ให้เสร็จ ภายในเดือนมีนาคม 2564 และครม.มีมติรับทราบ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของบริษัทฯ ที่ต้องทำ EIA/EHIA
บริษัทฯ ยืนยันว่าจะจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่มีการลัดขั้นตอนใด ๆ ทั้งสิ้น ขณะนี้บริษัทอยากให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาคุยกัน อย่าปล่อยข้อมูลอันเป็นเท็จ เพื่อที่จะหยุดความไม่สงบทางภาคใต้ พัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ ผลักดัน GDP ของประเทศให้เติบโตขึ้น และเป้าหมายสูงที่สุดคือการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติ
www.mitihoon.com