(รายงานพิเศษ) เปิดเสรีดาวเทียม ลู่วิ่งใหม่วงการ’สื่อสาร’ไทย

1657

ปฐมบทใหม่ “ธุรกิจดาวเทียมไทย” กำลังจะเริ่ม จากยุคสัมปทานดาวเทียมที่ใกล้สิ้นสุดสัญญา มาสู่การประมูลรับใบอนุญาตจาก กสทช. ที่เป็นผู้กำหนดให้สิทธิ์วงโคจรดาวเทียมแต่ละตำแหน่งของประเทศไทย ซึ่งกำหนดไทม์ไลน์การประมูลไว้ในช่วงไตรมาส 2/64 นี้

โดยที่ผ่านมา กสทช.ได้เริ่มจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมแล้ว ทั้งสิ้น 4 ชุด มูลค่าเริ่มต้นประมูลรวมกว่า 2.2 พันล้านบาท ประกอบด้วย ชุดที่ 1 วงโคจร 50.5, 51 องศาตะวันออก ราคาขั้นต่ำ 728.19 ล้านบาท, ชุดที่ 2 วงโคจร 78.5 องศาตะวันออก ราคาขั้นต่ำ 366.48 ล้านบาท, ชุดที่ 3 วงโคจร 119.5, 120 องศาตะวันออก ราคาขั้นต่ำ 745.56 ล้านบาท และชุดที่ 4 วงโคจร 126, 142 องศาตะวันออก ราคาขั้นต่ำ 364.68 ล้านบาท

เปิดช่องรายใหม่ร่วมประมูล

ทั้งนี้ การคัดเลือกผู้ชนะแต่ละวงโคจร จะพิจารณาข้อเสนอด้านประสบการณ์และความสามารถ และพิจารณาที่ราคา โดยแต่ละชุดจะมีอายุใบอนุญาต 20 ปี และผู้ครองสิทธิ์วงโคจรดาวเทียมไทยจะต้องเสียต้นทุนค่าธรรมเนียม 4.25% ของรายได้ (ค่าวงโคจร 0.25% ของรายได้อื่นๆ คือ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่า USO (เงินส่งเข้ากองทุนพัฒนาโทรคมคมส่วนกลาง), รวม 4.0% ของรายได้ ) ส่วนผู้ประกอบการที่ใช้วงโคจรต่างประเทศ แล้วต้องการดำเนินธุรกิจในไทยให้ขอใบอนุญาต Landing Right ค่าธรรมเนียม 3.2% ของรายได้

ปัจจุบันคาดว่ามีผู้สนใจเข้าประมูลทั้งไทยและต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น THCOM, NT, มิวสเปซ, อินเทล แซท และเอเชีย แซท ยังไม่รวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ที่เป็นบริษัทคนไทยอาจสนใจเข้าร่วมประมูลด้วย แว่วๆ มาว่า เช่น บมจ.คอมมิวนิเคชั่น แอนด์ ซิสเต็มส์ โซลูชั่น (CSS) ที่มั่นใจในศักยภาพและฐานเงินทุนแข็งแกร่ง

‘มิวสเปซ’ ท้าชิงไลเซ่นส์

ส่วนที่เห็นเปิดหน้าชัดเจนสุดตั้งแต่แรก คือ บริษัท มิวสเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด บริษัทเอกชนผู้ให้บริการดาวเทียมและธุรกิจอวกาศรายใหม่ของไทย ได้ขานรับนโยบายของภาครัฐดังกล่าวในการเข้าร่วมการประมูลใบอนุญาตครั้งนี้

NT สยายปีกหารายได้ใหม่

ฟาก บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เกิดจากการควบรวมระหว่าง 2 องค์กรรัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสารของไทย “ทีโอที” และ “กสท โทรคมนาคม” ก็เตรียมตัวสำหรับทิศทางและอนาคตที่จะมุ่งไปด้วยกัน เพื่อสร้างรายได้ใหม่ในธุรกิจดาวเทียม เนื่องจากตอบโจทย์ความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตที่เร็ว และครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น

THCOM มือเก๋าแต่มีข้อพิพาท

ทางด้าน บมจ.ไทยคม (THCOM) ที่เป็นผู้ประกอบการรายหลักในปัจจุบัน ฝ่ายวิจัย บล.เอเชีย พลัส เชื่อว่ามีโอกาสได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขประมูลชัดเจนดังกล่าว อีกทั้งยังได้เปรียบคู่แข่งที่ร่วมประมูลเพราะมีประสบการณ์ และลูกค้าอยู่แล้ว แต่มีประเด็นต้องติดตาม คือ แม้จะชนะประมูลวงโคจร แต่ THCOM ยังต้องใช้เวลาสร้างดาวเทียมใหม่ 1-2 ปี ซึ่งอาจจะไม่ทันต่อช่วงเวลาสิ้นสุดสัปทานในเดือน ก.ย.63 ที่จะต้องโอนทรัพย์สินดาวเทียมสัมปทานที่มี 2 จาก 4 ดวง คือ ไทยคม4 (iPSTAR) และไทยคม6 ให้กับรัฐฯ

ขณะที่ดาวเทียมที่เหลืออีก 2 ดวง คือ ไทยคม 7,8 ปัจจุบันไม่สามารถรองรับลูกค้าดาวเทียมสัมปทานได้ อีกทั้งยังเป็นดาวเทียมที่ไม่อยู่ในระบบสัมปทานและใบอนุญาต โดย THCOM เสียเฉพาะค่าใบอนุญาตให้รัฐฯ ที่ปีละ 4% อย่างเดียว ทำให้ปัจจุบันอยู่ภายใต้ข้อพิพาท จึงมีความเสี่ยงไม่มีดาวเทียมให้บริการลูกค้า จึงจำเป็นต้องหาทางรักษาลูกค้าบนดาวเทียมสัมปทานเอาไว้ให้ได้ก่อนดาวเทียมดวงใหม่จะสร้างเสร็จ

ดังนั้นจากกฏเกณฑ์ที่ออกมาถือเป็นบวกต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมดาวเทียมที่มีความชัดเจนกว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา การประมูลครั้งนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสสำหรับทั้งรายใหม่และรายเก่าในการทำธุรกิจดาวเทียมง่ายขึ้นกว่าเดิม.

www.mitihoon.com