รายงานพิเศษ : ถอดบทเรียน GameStop พลังรายย่อย ที่ล้ม ยักษ์ !

479

ตลาดหุ้นสหรัฐ รวมไปถึงตลาดหุ้นทั่วโลก คงได้จารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ที่มีเรื่องราวของ ‘GameStop’ ไว้เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ ‘GameStop’ ได้สร้างปรากฎการณ์ “รายย่อย” ไล่กิน “กองทุน” หรือการที่นักลงทุนรายย่อยได้รวมตัวกันกลายเป็นพลังมด รุมกินโต๊ะยักษ์ใหญ่ หรือบรรดากองทุน “เฮดจ์ฟันด์” (Hedge Fund) จนเจ๊งไม่เป็นท่าในช่วงที่ผ่านมา และสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก

สำหรับ GameStop หรือ GameStop Corporation เป็นร้านขายวีดีโอเกมที่จดทะเบียนอยู่ใน New York Stock Exchange (NYSE) ธุรกิจคือเป็นบริษัทขายวิดีโอเกมรายใหญ่สุดของโลก กระจายอยู่ในหลายๆ ประเทศ ปัจจุบันมีรวมทั้งสิ้น 5,509 สาขา และในอดีต GameStop เคยมีมูลค่าสูงถึง 5 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท

ต่อมาธุรกิจซบเซาเพราะต้องเผชิญการดิสรัปต์จากธุรกิจเกมออนไลน์ ทำให้คนซื้อแผ่นเกมที่ร้านลดลงไปอย่างมาก และส่งผลไปถึงราคาหุ้น GameStop เริ่มปรับตัวลดลง กระทั่งในเดือน ม.ค. 64 ราคาหุ้นของบริษัทกลับปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 900% ภายในช่วงเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ จากราคาปิด 35.50 ดอลลาร์สหรัฐ/หุ้น เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 64 ไปแตะที่ระดับ 347.51 ดอลลาร์สหรัฐ/หุ้น เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 64

ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นได้อย่างไร?
ในเรื่องนี้ บทความของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อธิบายไว้อย่างละเอียดว่า เมื่อบริษัท GameStop มีผลการดำเนินงานไม่ดี กองทุนต่างๆ ก็เข้ามาขายชอร์ต เพื่อทำกำไร เนื่องจากคาดการณ์ว่าราคาหุ้นจะลดต่ำลงไปอีก (การขายชอร์ต คือ การยืมหุ้นมาขาย โดยจะซื้อหุ้นคืนแก่ผู้ให้ยืมในภายหลัง ซึ่งถ้าหุ้นราคายิ่งตกลงมากก็จะได้กำไรมาก แต่หากหุ้นราคาขึ้นสูงกว่าราคาที่ขายไว้ ก็จะขาดทุนได้อย่างไม่จำกัด) โดยตามข่าวที่เปิดเผยผ่านสื่อต่างๆ สัดส่วนการขายชอร์ตของกองทุนสูงกว่า 80%

กระทั่งมี “นักลงทุนรายย่อย” มองเห็นว่าราคาหุ้น GameStop ปรับตัวลดลงมากเกินไป และนำเรื่องมาพูดคุยกันผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่ชื่อว่า Reddit ซึ่งเป็นแหล่งรวมของผู้ลงทุนรายย่อย และเกิดปรากฏการณ์รวมพลังของกลุ่มผู้ลงทุนรายย่อย เข้ามาไล่ซื้อหุ้น GameStop รวมถึง stock options ของหุ้น GameStop ด้วย จนราคาหุ้นพุ่งขึ้นเกินกว่า 1,000%!!! (stock options เป็นการให้สิทธิผู้ถือที่จะซื้อหรือขายหุ้นสามัญกับผู้ขาย options โดยต้องระบุสิทธิ์ให้ชัดเจน เช่น ให้สิทธิซื้อหรือขายจำนวนเท่าใด ณ ราคาใด ใช้สิทธิวันใด และส่งมอบอย่างไร) ซึ่งการที่ผู้ลงทุนรายย่อยกลุ่มดังกล่าว ระดมไล่ซื้อและเก็บสะสมหุ้นไว้โดยไม่ขาย

ขณะที่กองทุนที่ขายชอร์ตไว้ ก็ต้องเข้าไปซื้อหุ้นเพื่อนำไปส่งมอบ และตัดผลขาดทุน (cut loss) รวมทั้งสถาบันการเงินที่ขาย stock options ก็เข้าไปซื้อหุ้น GameStop ด้วย เพื่อบริหารความเสี่ยงจากการขาย stock options ทำให้ราคาของหุ้น GameStop สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมิได้มีปัจจัยพื้นฐานรองรับแต่อย่างใด และส่งผลให้กองทุนที่ขายชอร์ต “ขาดทุน” จำนวนมากจากการต้องซื้อหุ้นเพื่อนำไปส่งมอบ

จากเหตุการณ์ข้างต้น สร้างความตื่นตัวให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งวุฒิสภา และ ก.ล.ต. โดยได้มีการยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาเพื่อให้มั่นใจถึงความมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และความน่าเชื่อถือของตลาดทุน รวมถึงการคุ้มครองผู้ลงทุน

กรณีนี้ มีประเด็นน่าสนใจว่า กลไก เครื่องมือ หรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายในปัจจุบัน ยังมีช่องว่าง มีความไม่เท่าเทียม หรือก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ระหว่างกลุ่มผู้ลงทุนหรือไม่???

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้น GameStop เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากและรวดเร็ว โดยไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัท ยังอาจสะท้อนให้เห็นช่องว่างของกลไกการซื้อขายในตลาด ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ลงทุนต่างๆ ใช้ตลาดหุ้นเป็นเครื่องมือในการซื้อขายให้เป็นไปในทิศทางที่ตนเองต้องการได้โดยง่าย อันกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกลไกตลาดโดยรวม จึงมีประเด็นชวนคิดดังนี้

ประเด็นแรก การขายชอร์ตในจำนวนที่มากจนเปิดโอกาสให้มีช่องทางในการซื้อขายที่ส่งผลต่อราคาหุ้น หากไม่กำหนดกฎเกณฑ์และการกำกับดูแลให้เหมาะสม อาจจะทำให้เกิดกรณีไม่สามารถซื้อหุ้นคืนได้ในเวลาอันสั้น จากการเก็บสะสมหุ้นไว้ของผู้ลงทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (short squeeze) เช่นเดียวกับกรณีหุ้น GameStop

หากพิจารณาเครื่องมือในการกำกับดูแลที่ผ่านมาในบ้านเรา หลักทรัพย์ที่ขายชอร์ตได้ต้องเป็นหลักทรัพย์ที่มี สภาพคล่องโดยอยู่ใน SET 100 มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ market cap สูง เฉลี่ย 3 เดือน ไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท มีการกำหนดปริมาณการให้ยืมสูงสุดที่ บล. สามารถให้ยืมได้เมื่อเทียบกับเงินกองทุนของ บล. เป็นต้น ซึ่งกฎเกณฑ์ดังกล่าวก็จะช่วยป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะ GameStop ได้ในระดับหนึ่ง โดยในส่วนของสหรัฐอเมริกา ไม่ได้มีข้อห้ามในการขายชอร์ตเช่นกัน แต่อาจมีรายละเอียดของกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันไป

ประเด็นที่สอง การเผยแพร่ข้อความใน social media ในลักษณะชักชวนให้เข้าไปซื้อขายหลักทรัพย์ จนส่งผลให้ผู้ลงทุนจำนวนมากเข้าไปซื้อขาย และส่งผลกระทบให้สภาพการซื้อขายของหลักทรัพย์นั้นผิดไปจากสภาพปกติ โดยที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ เป็นกรณีที่ต้องระมัดระวัง เนื่องจากในการกระทำต่างๆ ควรมีความเหมาะสม คำนึงถึงเหตุและผล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพิจารณาลงทุนต่างๆ ควรคำนึงถึงคุณค่าและความเสี่ยงของหลักทรัพย์ เช่น ปัจจัยพื้นฐาน โอกาสในการเติบโตและการทำกำไรของบริษัท ดังนั้น ราคาที่จะซื้อจะขาย จึงควรจะสอดคล้องกับมูลค่าของหลักทรัพย์นั้นด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ การกระทำในลักษณะดังกล่าว ยังอาจสร้างความไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์ และกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดทุนโดยรวม ซึ่งในกรณีนี้กฎหมายและกฎเกณฑ์ของทั้งสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย ก็มีกำหนดไว้เพื่อการกำกับดูแล โดยกรณีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็มีกฎเกณฑ์หรือเครื่องมือที่ใช้ในการกำกับดูแลกรณีดังกล่าวได้

ประเด็นที่สาม การให้บริการของโบรกเกอร์ หรือ platform (ตัวกลาง) ที่เกี่ยวข้อง ควรมีบทบาทขอบเขต หรือมีการให้คำแนะนำ และยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างไร โดยในส่วนของการกำกับดูแลตัวกลางทั้งสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย จะมีหลักการในทำนองเดียวกัน ที่กำหนดให้ตัวกลางซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจมืออาชีพ ต้องให้บริการแก่ผู้ลงทุนอย่างเท่าเทียมกัน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ลงทุน ทั้งนี้ในกรณีที่ตัวกลางเป็นเพียง online platform ซึ่งไม่มีบริการด้านการให้คำแนะนำ ก็ต้องมีระบบงานที่ทำให้มั่นใจได้ว่า การส่งคำซื้อขายของลูกค้าที่ผ่าน platform ตนเอง เป็นไปอย่างเป็นธรรม มีระบบ ระเบียบเรียบร้อย ไม่เกิดผลกระทบต่อผู้ลงทุนและตลาดโดยรวม และหากมีพฤติกรรมการส่งคำสั่งไม่เหมาะสม ควรมีกลไกหรือบทบาทในการยับยั้ง โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของตลาดทุนโดยรวม

ผลจะเป็นอย่างไรต่อไป?
กรณีนี้ ปรากฎข่าวตามสื่อออนไลน์ต่างๆ ว่า ก.ล.ต. สหรัฐอเมริกา อยู่ระหว่างติดตามตรวจสอบพฤติกรรม การซื้อขายหุ้นที่มีความผันผวน อันนำไปสู่การปรับตัวที่สูงขึ้นอย่างมากของราคาหุ้น GameStop และหุ้นตัวอื่นๆ รวมถึงพิจารณามาตรฐานในการประกอบธุรกิจของตัวกลาง ที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุน มีการให้บริการอย่างเป็นธรรม ไม่ทำให้ผู้ลงทุนเสียประโยชน์ และพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย หากพบการกระทำผิดที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ลงทุน และเพื่อให้มั่นใจว่า ระบบการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งเราคงต้องติดตามกันต่อไป ว่าผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร

www.mitihoon.com