AIS เผยงบปี 63 กำไรสุทธิ 28,423 ล้านบาท จัดงบลงทุน ปี ’64 2.5 – 3 หมื่นลบ. ขยายเครือข่าย 5G เสริมศักยภาพผู้นำ

551

มิติหุ้น –  เอไอเอส รายงานผลประกอบการ ปี 2563 มีรายได้รวม 172,890 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 4.4% เป็นผลจากสถานการณ์ COVID-19 นับตั้งแต่ไตรมาสแรก และส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยมีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 28,423 ล้านบาท ในภาพรวมธุรกิจโทรศัพท์มือถือ เอไอเอส ยังคงมีจำนวนผู้ใช้บริการมากที่สุด 41.4 ล้านราย ส่วนเน็ตบ้าน เอไอเอส ไฟเบอร์ พุ่งแรง เติบโตกว่า 22% จากปีก่อน สูงสุดเหนืออุตสาหกรรม ปัจจุบันมีลูกค้าอยู่ที่ 1.3 ล้านราย โดยในปี 2564 เอไอเอส เตรียมงบประมาณสำหรับการลงทุนรวมทั้งสิ้น 25,000 – 30,000 ล้านบาท สำหรับขยายเครือข่าย 5G/4G เดินหน้าขับเคลื่อนประเทศด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ เอไอเอส ยังคงนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 70% ของกำไรสุทธิ โดยจ่ายเงินปันผล 3.68 บาทต่อหุ้น ในวันที่ 20 เมษายน 2564

*ไม่รวมผลของมาตรฐานบัญชีไทย 16*

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “จากวิกฤต COVID-19 ช่วงต้นปี 63 ที่ผ่านมา ทำให้ทุกภาคส่วนได้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และตระหนักถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด ฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจ และเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศชาติให้เติบโตอย่างยั่งยืน เรายังเชื่อมั่นว่า โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G ซึ่งปัจจุบัน
เอไอเอส ถือครองคลื่นความถี่ ทั้ง 4G และ 5G มากที่สุด ครอบคลุมมากที่สุดในไทย จำนวน 1420MHz และภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะได้รับใบอนุญาตคลื่น 26GHz ครบทั้ง 3 ย่านความถี่ สูง กลาง และต่ำ
จะมีส่วนช่วยเสริมประสิทธิภาพของการขยายเครือข่าย 5G เพื่อรองรับการใช้งานของลูกค้าคนไทย
และผลักดันส่งเสริมให้เกิดการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม หลังจากช่วงที่ผ่านมา เราได้ร่วมงานกับ
พาร์ทเนอร์ใน ecosystem หลายราย เพื่อทดลองทดสอบการใช้งานในพื้นที่จริงมาแล้วอย่างต่อเนื่อง”
สำหรับภาพรวมผลประกอบการ ปี 2563 เอไอเอส มีรายได้รวม 172,890 ล้านบาท ลดลง 4.4% จากปีก่อน ด้านธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีรายได้ลดลง 6.5% เทียบกับปีก่อน เป็นผลจากการสูญเสียรายได้ในกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวที่ยังคงไม่ฟื้นตัว เนื่องจากข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม เอไอเอส ยังครองส่วนแบ่งการตลาด อันดับ 1 ทั้งด้านรายได้ และจำนวนผู้ใช้บริการ ปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือมากที่สุดในตลาดอยู่ที่ 41.4 ล้านเลขหมาย เป็นลูกค้าระบบรายเดือน จำนวน 10.2 ล้านราย ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 จำนวน 420,900 ราย และมีลูกค้าระบบเติมเงินอยู่ที่ 31.2 ล้านราย เพิ่มขึ้น 74,400 ราย ขณะที่ การใช้งาน 4G ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ณ สิ้นปี มีลูกค้าที่ใช้งาน 4G เพิ่มขึ้นเป็น 77% โดยลูกค้าใช้ปริมาณดาต้าเฉลี่ย 18 กิกะไบต์ต่อเดือน เพิ่มขึ้น 42% เทียบกับปีก่อน ส่วนการใช้งาน 5G นับตั้งแต่เปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน มีลูกค้ารวมทั้งสิ้น 239,000 ราย

ทั้งนี้ เอไอเอส ได้พัฒนาเครือข่าย 5G มาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งขยายเครือข่าย 5G เพื่อรองรับปริมาณการใช้งานของลูกค้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนการสนับสนุนการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งการแพทย์ โลจิสติกส์ การผลิต การรักษาความปลอดภัย และสมาร์ทซิตี้ เราเชื่อมั่นว่า 5G จะกลายเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เป็น The Real New Normal ด้านเทคโนโลยีที่พร้อมสนับสนุนการทำงานของทุกภาคส่วน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และประชาชน

ขณะที่ ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน เอไอเอส ไฟเบอร์ ยังคงเติบโตเหนืออุตสาหกรรม ด้วยจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ เป็นผลให้คนไทยส่วนใหญ่ปลี่ยนวิถีชีวิตมา Work from Home และ Learn from Home เป็นจำนวนมาก ตลอดปี 2563 มีลูกค้าเพิ่มขึ้น 29% หรือกว่า 299,300 ราย ซึ่งสูงกว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่เติบโตเฉลี่ย 10-12% โดยปัจจุบันมีลูกค้า อยู่ที่ 1.3 ล้านราย จากความมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าและบริการอย่างดีเยี่ยม เอไอเอส ไฟเบอร์ ได้รับเลือกเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ยอดเยี่ยมในเอเชีย-แปซิฟิกประจำปี 2020 โดย Frost & Sullivan องค์กรให้คำปรึกษาทางธุรกิจและการวิจัยเชิงธุรกิจที่มีประสบการณ์มายาวนานกว่า 50 ปี และ Ookla® Speedtest® ผู้ให้บริการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตระดับโลก ประกาศให้ AIS Fibre ได้รับรางวัล เครือข่ายอินเทอร์เน็ตบ้านที่เร็วที่สุดอันดับ 1 ในประเทศไทย -Thailand’s Fastest ISP 2 ปีซ้อน (ปี 2019 – 2020) พร้อมตั้งเป้าหมายที่จะก้าวสู่ Top 3 ผู้นำอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ของไทย ให้ได้ภายในปี 2564
ส่วนธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร การทำตลาด Enterprise ยังได้รับความสนใจจากลูกค้า Corporate และ SME อย่างต่อเนื่อง โดยมีความสนใจในกลุ่ม Telecom Services ซึ่งเป็นบริการโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการติดต่อสื่อสาร และเครือข่ายขององค์กรต่างๆ และบริการ Digital Enabler สำหรับธุรกิจต่างๆ เพื่อนำ Digital Technologies ไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจยุคใหม่ เช่น IT, Cloud, IoT, Cyber Security, Digital Marketing รวมถึง เทคโนโลยี 5G ในอนาคต

โดยภาพรวม จากการบริหารต้นทุนที่ดี ทั้งด้านต้นทุนการให้บริการ และค่าใช้จ่ายด้านการขายและบริหาร ส่งผลให้เอไอเอสมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย และค่าเสื่อม (EBITDA) อยู่ที่ 76,619 ล้านบาท ลดลง 2.7% ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าการลดลงของรายได้ และมีกำไรสุทธิ 28,423 ล้านบาท ลดลง 8.9% เทียบกับปีก่อน โดยเอไอเอสจะจ่ายเงินปันผลจากผลประกอบการครึ่งปีหลังที่ 3.68 บาทต่อหุ้น หรือประมาณ 75% ของกำไรสุทธิ ในวันที่ 20 เมษายน 2564

“จากบทเรียนในวิกฤตที่ผ่านมา ทำให้เราเชื่อว่า ภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด คือการเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รอบตัว จะช่วยผลักดันให้เราเจอแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ในวันนี้ เทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ได้อยู่ไกลตัวเราอีกต่อไป อยู่ที่ว่าใครจะปรับใช้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร สำหรับเอไอเอส วันนี้เรามีทั้ง Core Business และการเติบโตในกลุ่มธุรกิจใหม่ หรือ New Business อาทิ ธุรกิจวิดีโอ, ประกันภัย, ดิจิทัลเพย์เมนท์ และบริการร่วมกับพาร์ทเนอร์ เป็นต้น ที่มีความท้าทายและโอกาสอย่างมหาศาล แต่สิ่งสำคัญคือความสำเร็จข้างหน้าร่วมกัน โดยเอไอเอสเดินหน้าจัดสรรงบลงทุนในปี 2564 จำนวน 25,000 – 30,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลสำหรับประเทศไทยอย่างไม่หยุดยั้ง และพร้อมที่จะเป็นแกนกลาง สนับสนุนทุกภาคส่วน จากความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ใน Digital Ecosystem เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศชาติให้ก้าวผ่านทุกความท้าทายไปด้วยกันอย่างยั่งยืน” นายสมชัย กล่าวสรุป

www.mitihoon.com