ส่องยอดขายรถยนต์ปี 2564 …มีลุ้นปลายปี ฟื้นกระโดด…

837

มิติหุ้น-TMB Analytics คาดปี 2564 ยอดขายรถยนต์ในประเทศอยู่ที่ 8.35 – 8.50 แสนคัน หรือขยายตัว 5.5 – 7.3% จากภาคการส่งออกที่ดีขึ้นและภาคเกษตรที่ทยอยฟื้นตัว ชี้ปลายปีมีลุ้นฟื้นตัวกระโดดจากปัจจัยหนุน คือ ภาคบริการที่ฟื้นตัวและกำลังซื้อจากความต้องการเปลี่ยนรถใหม่

ปี 2563 ยอดขายรถยนต์ในประเทศเท่ากับ 792,146 คัน หรือ หดตัว -21.4% สาเหตุหลักมาจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวในช่วงต้นปี ประกอบกับช่วงเมษายน – มิถุนายน ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกแรก อย่างไรก็ดี ภายหลังผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ ยอดขายรถยนต์ในภาพรวมได้ค่อย ๆ ฟื้นตัว โดยในครึ่งปีหลัง หดตัวลดลง -4.2% ซึ่งดีกว่าครึ่งปีแรกที่หดตัวกว่า -37.3% และเมื่อมาพิจารณาดูประเภทของรถยนต์พบว่า ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ครึ่งปีหลังขยายตัว 2.5% ซึ่งดีกว่าครึ่งปีแรกที่หดตัว -34.4% ในขณะที่รถยนต์นั่งครึ่งปีหลังหดตัว -11.8% ดีกว่าครึ่งปีแรกที่หดตัว -40.6% จะเห็นว่าครึ่งปีหลังรถยนต์เชิงพาณิชย์มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น

จับทิศทางยอดขายรถยนต์ในประเทศฟื้นตัว หนุนโดยภาคส่งออก และภาคเกษตร

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาดว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2564 จะอยู่ที่ 8.35 – 8.50 แสนคัน โดยรถยนต์นั่งจะขยายตัว 4.7% – 6.5% และรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัว 6.1% – 7.9% โดยประเมินว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี ยอดขายจะมีทิศทางชะลอตัวลง เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องการระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากนั้น เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ยอดขายจะทยอยปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติอีกครั้ง โดยจะได้รับแรงสนับสนุนจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ และปัจจัยด้านพฤติกรรม ดังนี้

ปัจจัยสนับสนุนด้านเศรษฐกิจ

1) การส่งออกสินค้าฟื้นตัว การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในหลายประเทศ จะช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ซึ่งส่งผลให้บรรยากาศการค้าโลกปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 ปี 2564 โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าของไทยจะขยายตัวได้ 3.4% จากปีก่อนที่หดตัว -6.9% ซึ่งสินค้าที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักร ดังนั้น แรงงานที่อยู่ในภาคธุรกิจดังกล่าว จะยังคงมีกำลังซื้ออยู่

2) ภาคเกษตรดีขึ้น ในปี 2564 จีดีพีภาคเกษตรมีแนวโน้มขยายตัว 1.3% – 2.3% จากสภาพอากาศที่เอื้อต่อการทำเกษตร ปริมาณน้ำมีเพียงพอ และนโยบายประกันราคาสินค้าเกษตรของภาครัฐ ทำให้แนวโน้มสินค้าเกษตรหลายชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสําปะหลัง น้ำมันปาล์ม สับปะรด ทุเรียน ไก่ สุกร ปรับตัวดีขึ้น ทั้งในด้านปริมาณและราคา เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น แรงงานในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่กระจายตัวในส่วนภูมิภาค จะยังมีความสามารถซื้อรถยนต์ได้ โดยเฉพาะรถปิคอัพ

3) ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และมีโปรโมชันต่างๆ จูงใจผู้ซื้อ ทิศทางดอกเบี้ยในปีนี้ จะยังคงอยู่ระดับต่ำตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ทรงตัวอยู่ที่ 0.50% ประกอบกับโปรโมชันกระตุ้นยอดขายของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ด้วยอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (flat interest rate) ที่อยู่ประมาณ 2-3% ต่อปี และโปรโมชันผ่อนชำระยาวจะจูงใจให้ผู้บริโภคที่ยังพอมีกำลังซื้อตัดสินใจได้

 

ปัจจัยสนับสนุนด้านพฤติกรรม

1) ความต้องการเปลี่ยนรถใหม่ จากกลุ่มผู้ซื้อรถในโครงการรถคันแรก โครงการรถยนต์คันแรกในช่วงปี 2554 -2555 มีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 1.1 ล้านคัน ซึ่งตามหลักเกณฑ์ต้องถือครองรถยนต์มากกว่า 5 ปี จึงสามารถขายออกได้ ทั้งนี้ จะเห็นว่าผู้เข้าร่วมโครงการที่ถือครองรถยนต์ 6-7 ปี ได้ทยอยขายรถยนต์แล้วเปลี่ยนรถใหม่บางส่วน ทำให้ยอดขาย 6-7 ปีต่อมา สามารถแตะระดับปีละ 1 ล้านคัน ในช่วงปี 2561 – 2562 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณายอดขายในช่วงโครงการรถยนต์คันแรกและการกระตุ้นยอดขายของค่ายรถยนต์ในช่วงปี 2555 – 2556 ที่มียอดขายสะสมรวมกัน 2.77 ล้านคัน เทียบกับยอดขายสะสมในปี 2561 – 2562 จำนวน 2.05 ล้านคัน จะพบว่ายังมีความต้องการจากผู้ถือครองรถยนต์ภายใต้โครงการรถคันแรกที่ถือครองรถมากกว่า 7 ปี ที่พร้อมขายเพื่อเปลี่ยนรถใหม่อยู่ประมาณ 6-7 แสนคัน หากมีความมั่นใจรายได้ของตนเองในอนาคต

2) ความต้องการเปลี่ยนรถใหม่ เนื่องจากอายุรถยนต์สูงขึ้น เมื่อพิจารณาอายุรถยนต์เฉลี่ยที่วิ่งบนท้องถนน(คำนวณจากสัดส่วนรถยนต์จำแนกตามอายุ ข้อมูลสถิติของกรมขนส่งทางบก) พบว่า อายุรถยนต์เฉลี่ยที่วิ่งบนท้องถนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต (2550-2563) โดยในปี 2563 รถยนต์เชิงพาณิชย์ที่วิ่งบนท้องถนนมีอายุเฉลี่ย 12.3 ปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่อยู่ที่ 10.8 ปี ในขณะที่รถยนต์นั่งมีอายุเฉลี่ย 9.1 ปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตเล็กน้อยที่มีอายุอยู่ที่ 8.7 ปี อายุรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยหนุนให้เกิดความต้องการซื้อรถยนต์ใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งเหตุผลสนับสนุนเพิ่มเติมของการฟื้นตัวของยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในปีที่แล้ว นอกเหนือจากปัจจัยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

3) เทคโนโลยีรถยนต์ใหม่ จูงใจผู้ซื้อ ผู้ผลิตรถยนต์นำรถยนต์รุ่นใหม่ออกจำหน่าย นอกจากจะแข่งขันกันออกแบบรูปลักษณ์รถยนต์ให้สะดุดตาแล้ว ยังแข่งขันด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเสนอต่อผู้บริโภค อาทิ ระบบความปลอดภัย ระบบช่วยเบรก ระบบประเมินสภาพแวดล้อมการขับขี่ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังนำเสนอเทคโนโลยีเครื่องยนต์ที่ประหยัดพลังงานทั้งระบบไฮบริด พลังงานไฟฟ้า เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

 

ปัจจัยเสี่ยงฉุดรั้งยอดขายรถยนต์

ยอดขายรถยนต์ในประเทศยังคงมีความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1) ระยะเวลาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หากต้องมีการควบคุมอย่างความเข้มงวดและมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกินกว่าไตรมาสแรกของปีนี้ จะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงและชะลอการตัดสินใจซื้อออกไป 2) หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง (มากกว่า 85% ของจีดีพี) ระดับหนี้สินต่อรายได้ที่อยู่ในระดับสูงจะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค และสถาบันการเงินจะเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อในปีนี้ โดยเฉพาะผู้บริโภคที่เป็นแรงงานในธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว 3) ภาคการท่องเที่ยวที่ยังชะลอตัว เป็นปัจจัยที่จะลดกำลังซื้อที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวซึ่งอยู่ในภาคบริการ จากการศึกษาของ TMB Analytics พบว่า การทำให้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวได้อย่างแท้จริง จนนำไปสู่การบริโภคสินค้าคงทน ได้แก่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ฯลฯ เพิ่มขึ้นได้อย่างแข็งแกร่งนั้น ต้องประกอบด้วยการใช้จ่ายในสินค้าคงทนและการใช้จ่ายในภาคบริการจะต้องกลับมาเติบโตไปด้วยกัน ดังนั้น ความหวังของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในช่วงปลายปี จะเป็นปัจจัยในการฟื้นภาคการบริการให้กลับมา และทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นได้

 

ลุ้นปลายปี อาจเห็นยอดขายรถยนต์ ฟื้นกระโดด จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และพฤติกรรมการเปลี่ยนรถใหม่

TMB Analytics ประเมินว่ายอดขายรถยนต์ปลายปีนี้ มีโอกาสฟื้นตัวกระโดดมากกว่าคาดการณ์ได้ หากว่าภาคบริการสามารถกลับมาฟื้นตัวจากความหวังของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่นำออกมาใช้กับประชาชนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทำให้ภาคการท่องเที่ยวทยอยกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งจะนำไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และเมื่อรวมกับเหตุผลปัจจัยความต้องการเปลี่ยนรถใหม่ทั้งจากผู้ซื้อรถยนต์โครงการรถคันแรกที่ถือครองมากกว่า 7 ปี และอายุรถยนต์เฉลี่ยบนท้องถนนของเมืองไทยที่ปรับตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ย ในอดีต ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น จะเป็นตัวเร่ง “ความเป็นไปได้ของการฟื้นตัวกระโดดในช่วงปลายปีนี้ได้”

www.mitihoon.com