MCS เล็งย้ายหมวด ย้ำเหล็กโครงสร้างมาร์จิ้นแกร่ง

1523

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.เอ็ม.ซี.เอส.สตีล (MCS) โดยนายไน ยวน ชิ ประธานกรรมการ เปิดเผยถึงการเปลี่ยนแปลงย้ายให้หลักทรัพย์ของบริษัทไปอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุตสาหกรรม หมวดธุกิจเหล็กนั้น ไม่เหมาะสมและไม่สะท้อนถึงการประกอบธุรกิจที่แท้จริงของบริษัทฯ แต่อย่างใดเนื่องจากว่า บริษัทมิได้ประกอบกิจการผลิตหรือแปรรูปเหล็กชนิดต่างๆ แต่อย่างใด แต่บริษัทฯประกอบธุรกิจรับจ้างผลิตโครงสร้างเหล็ก (Structure Steel Fabrication) เพื่อส่งมอบให้กับผู้รับเหมาก่อสร้าง นำไปใช้สำหรับก่อสร้างอาคารสูง ซึ่งโครงสร้างเหล็กดังกล่าว สามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ดีกว่าคอนกรีตเสริมเหล็ก และที่สำคัญบริษัทยังได้รับอนุญาตจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมการก่อสร้างในประเทศญี่ปุ่นตามกฎหมายมาตรฐานอาคาร ทำให้บริษัทฯ มีสิทธิ์ผลิตโครงสร้างเหล็ก ระดับ S  ซึ่งเป็นระดับสูงสุด และสามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ ซึ่งมีราคาสูงกว่าโครงสร้างเหล็กระดับรองลงมา

 

ทั้งนี้การผลิตโครงสร้างเหล็กของบริษัท ส่วนใหญ่เป็นงานเสา (Column-Box) และงานคาน (Beam ) โดยเป็นการผลิตตามความต้องการของลูกค้าและแบบก่อสร้างของอาคารแต่ละอาคาร ไม่สามารถนำไปใช้กับอาคารอื่นได้ ซึ่งโครงสร้างเหล็กเหล่านี้จะมีมูลค่าประมาณร้อยละ 20 ของมูลค่าก่อสร้างอาคารทั้งอาคาร ซึ่งสูงกว่าราคาวัสดุก่อสร้างชนิดและประเภทอื่นๆที่นำมาก่อสร้างในอาคารเดียวกัน

 

เปิดหัวใจของธุรกิจผลิตเหล็กโครงสร้าง

 

ดังนั้น หัวใจสำคัญของการผลิตโครงสร้างเหล็กของบริษัทฯ คือ ประสิทธิภาพและความชำนาญงานของพนักงานและวิศวกรรมเป็นสำคัญ ไม่ใช่คุณภาพของวัตถุดิบเหล็กที่นำมาผลิตเป็นโครงสร้างเหล็กแต่อย่างใด ธุรกิจของบริษัทฯจึงเป็นการรับเหมาทำโครงสร้างเหล็กซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของอาคารให้แก่ลูกค้าตามแบบที่กำหนด

 

สร้างความสับสนให้ นลท.

นอกจากนี้ที่ญี่ปุ่นผู้ผลิตโครงสร้างเหล็กในประเทศญี่ปุ่น ที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศญี่ปุ่น ก็มีจัดกลุ่มธุรกิจอยู่ในหมวดธุรกิจ ผลิตภัณฑ์เหล็ก ไม่ได้อยู่ในหมวดเดียวกับกลุ่มผู้ผลิตแผ่นเหล็กเพื่อจำหน่ายให้กับผู้ผลิตโครงสร้างเหล็ก ดังนั้น การที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดคำนิยาม และจัดกลุ่มบริษัทที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบกับบริษัทที่นำเอาวัตถุดิบเหล่านั้นมาใช้ ให้อยู่ในหมวดธุรกิจเดียวกัน น่าจะสร้างความสับสนจนกลายเป็นสิ่งที่ยากเกินความเข้าใจของนักลงทุนชาวต่างประเทศ และมีผลทำให้นักลงทุนชาวต่างประเทศ ไม่สามารถเข้าใจธุรกิจของบริษัทฯได้อย่างถูกต้อง

 

ราคาหุ้นไม่สะท้อนผลประกอบการ

ดังนั้นการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯจัดให้หลักทรัพย์ของบริษัทไปอยู่ในหมวดธุรกิจเหล็ก กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุตสาหกรรมนั้น ไม่ถูกต้องและไม่สอดคล้องกับธุรกิจของบริษัทฯ ทำให้ราคาซื้อ/ขายหลักทรัพย์ของบริษัท จึงไม่สอดคล้องและสะท้อนกับผลประกอบการของบริษัท ที่มีกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยเฉพาะมาร์จิ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 35-40 % และยังมีโอกาสเข้าไปรับงานในญี่ปุ่นได้อีกมากเนื่องจากมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทฯ และบริษัทย่อยในกลุ่ม ทั้งที่ญี่ปุ่น และที่จีน มีกำลังผลิตรวมกันกว่า 1.4 แสนตันต่อปี เพียงพอรองรับงานได้เป็นจำนวนมาก

 

ตลท.รับการจัดหมวดหมู่อุตสาหกรรมมีความเพี้ยน

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงของตลาดหลักทรัพย์เปิดเผยว่า การจัดหมวดหมู่ของกลุ่มอุตสาหกรรมในตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าอาจจะมีความเพี้ยนไปบ้าง และอาจจะเกิดความไม่เข้าใจต่อผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนรวมถึงนักลงทุน ทั้งๆที่บางธุรกิจในกลุ่มเดียวกันอาจจะมีลักษณะของธุรกิจไม่เหมือนกัน ดังนั้นเบื้องต้น หากผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนบางรายรู้สึกไม่พอใจก็สามารถเข้ามาเจรจากับทาง ตลาดหลักทรัพย์ฯได้

www.mitihoon.com