เปิดโผหุ้น บจ. ผลิตถุงหูหิ้ว กระทบหนัก? หลัง ครม.อนุมัติยกเลิกใช้

1860

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ก.พ.64 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มติอนุมัติประกาศ ยกเลิกการใช้ “พลาสติก 4 ชนิด” ถุงหิ้ว-โฟม-แก้ว-หลอด แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเห็นชอบ “แผนการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ. 2563 – 2565” เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก รวมถึงการจัดการขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยให้ ยกเลิกการใช้พลาสติก 4 ประเภท แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ในปี 2565 ดังนี้ 1.ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง (ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน) , 2.กล่องโฟมบรรจุอาหาร (ไม่รวมโฟมกันกระแทกในภาคอุตสาหกรรม),3.แก้วพลาสติกบาง (ความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน),4.หลอดพลาสติก (ยกเว้นการใช้กรณีจำเป็น ได้แก่ การใช้ในเด็ก คนชรา ผู้ป่วย เป็นต้น)

พร้อมทั้งขีดเส้นพลาสติก 7 ชนิดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ไม่ต่ำกว่า 50% ในปี 2565 ประกอบด้วย 1. ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบหนา,2.บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว,3.ขวดพลาสติกทุกชนิด,4.ฝาขวด,5.แก้วพลาสติก,6.ถาด และกล่องอาหาร และ 7.ช้อน ส้อม มีดพลาสติก

ส่วนหุ้นที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.)ที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ประกอบด้วย SCPG, TPLAS, PDG, PJW, TPBI, SFLEX, TFI EPG

ในขณะที่ บมจ.ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) TPLAS โดย “นายธีระชัย ธีระรุจินนท์” ประธานกรรมการบริหาร เปิดเผยกับ “มิติหุ้น” ยืนยันว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบต่อข่าวดังกล่าวแต่อย่างใด แม้ธุรกิจของบริษัทจะมีการผลิตถุงหูหิ้วแบบบางขนาด 35 ไมครอน น้อยกว่าที่ ครม. กำหนด ซึ่งบริษัทสามารถขยับไมครอนให้สูงขึ้นอีกเพียง 1 ไมครอน และต้นทุนผลิตขยับเพิ่มเพียงเล็กน้อย ขณะที่บริษัทสามารถเพิ่มราคาขายสินค้าได้ และปัจจุบันยังมีคำสั่งซื้อจากฐานลูกค้า 5,000 รายเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ บริษัทมีการเริ่มรุกในส่วน “ธุรกิจกล่องกระดาษบรรจุอาหาร” เมื่อปลายปี 63 ซึ่งล่าสุดได้ติดตั้งเครื่องจักรใหม่รองรับกำลังการผลิตเสร็จแล้ว ส่งผลให้บริษัทจะมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านกล่อง จากเดิม 5 แสนกล่อง ซึ่งได้รับกระแสตอบรับดีมาก รวมถึงมีแผนศึกษาการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษในรูปแบบ จาน ถ้วย เพื่อเข้ามาต่อยอดตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้นในอนาคตด้วย และหาก ครม.อนุมัติ พรบ.ดังกล่าว มองว่าเป็นผลดีต่อบริษัทมากกว่า ส่วนผลประกอบการปี 64 ตั้งเป้าเติบโตต่อเนื่องจากปี 63

www.mitihoon.com