BGRIM จัดพิธีวางศิลาฤกษ์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม แหลมฉบัง 1 กำลังผลิต 140 เมกะวัตต์ เดินหน้าขายไฟฟ้าให้ กฟผ. และลูกค้าอุตสาหกรรม รองรับ EEC 

120

 

 

มิติหุ้น-บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM หนึ่งในผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดย ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) จัดพิธีวางศิลาฤกษ์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (แหลมฉบัง) 1 จำกัด  ในวันศุกร์ที่ 19  กุมภาพันธ์  2564 เวลา 9.59 น. ณ นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ เปิดเผยว่า บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (แหลมฉบัง) 1 จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ภายใต้รูปแบบโรงไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรม (Small Power Producer หรือ SPP) เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย อาทิเช่น กลุ่มยานยนต์ ยางรถยนต์ บรรจุภัณฑ์ ก๊าซอุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2544

เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC นี้ได้รับการสนับสนุนไฟฟ้าและไอน้ำที่มีเสถียรภาพในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง บี.กริม เพาเวอร์ จึงดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่มีกำลังการผลิต 140 เมกะวัตต์ มีกำหนดการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2565 ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังนี้เพื่อทดแทนโครงการเดิมที่มีขนาดกำลังการผลิต 103เมกะวัตต์ และกำลังจะหมดอายุสัญญาลง

ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามแผนการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อทดแทน (SPP Replacement) ของรัฐบาล ซึ่ง บี.กริม เพาเวอร์ อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในพื้นที่ EEC รวมทั้งสิ้น 5 โครงการ โครงการละ 140 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำนวน 30 เมกะวัตต์ ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ระยะเวลา 25 ปี และส่วนที่เหลือเป็นการจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม รวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 700 เมกะวัตต์ อันเป็นการสร้างเพื่อทดแทนโครงการเดิมด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง และคาดว่าจะลดอัตราการใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติได้ถึงร้อยละ 10-15 เมื่อเทียบกับโครงการเดิมที่กำลังจะหมดอายุสัญญาลง

ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ มีโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งหมด 48 โครงการ รวมกำลังการผลิต 3,058 เมกะวัตต์ หากรวมโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนาจะทำให้กำลังการผลิตขยายเป็น3,682 เมกะวัตต์ โดยภายในปี 2568 มีเป้าหมายขยายกำลังการผลิตเป็น 7,200 เมกะวัตต์ จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาและศึกษา คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในอนาคตอันใกล้

www.mitihoon.com