กรณี องค์การอาหารและยา (อย.) มีแผนปลดล็อคสารสกัดจากเมล็ดกัญชงในอาหารและเครื่องดื่มในเดือน ก.พ. และสาร CBD ภายในเดือน เม.ย.2564 นี้ ทำให้ธุรกิจเครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่ม ตอบรับกันอย่างคึกคัก พ่วงไปถึงวงการตลาดทุนที่ฮอตไม่แพ้กัน เพราะราคาหุ้นของบรรดาบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ประกอบธุรกิจต่างๆ ดังกล่าว พาเหรดกันปรับตัวขึ้นอย่างคึกคัก
อย.จึงต้องจัดการประชุมเรื่องกัญชาและกัญชงกับนักวิเคราะห์ เพื่อสร้างความเข้าใจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยสรุปประเด็นสำคัญ คือ 1. ทุกขั้นตอนเกี่ยวกับกัญชงจะต้องได้รับใบอนุญาต ทั้งการนำเข้าเมล็ดกัญชง การเพาะปลูก การสกัด และการผลิตสินค้าจากกัญชง 2. ระยะเวลาการเติบโตของต้นกัญชงจะอยู่ที่ 3-6 เดือนขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และวิธีปลูก 3.อย.จะเร่งออกใบอนุญาตให้กับสินค้าที่ผลิตมาจากกัญชงภายใน 2-3 เดือนต่อจากนี้
หุ้นอาหาร-เครื่องดื่มใส่เกียร์รอ
ด้าน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในรายงานว่า ต้นกัญชงที่ อย. อนุญาตให้ปลูก จะต้องมีส่วนผสมของ THC ไม่เกิน 1% ส่วนสารสกัดกัญชงจะต้องมี THC ไม่เกิน 0.2% ในส่วนของการนำไปใช้นั้น ในกลุ่มเครื่องสำอาง สามารถใช้เมล็ดกัญชง, น้ำมันสกัดจากเมล็ดกัญชง และสารสกัดเมล็ดกัญชง มาผลิตเครื่องสำอางได้ทุกประเภท ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป แต่ต้องมีคำเตือนการใช้ สำหรับการนำ CBD (THC น้อยกว่า 0.2%) มาใช้ในเครื่องสำอาง จะออกประกาศฯในช่วงปลายเดือน ก.พ. – ต้น มี.ค 2564
ขณะที่ในกลุ่มอาหาร และเครื่องดื่ม คาดมีการอนุญาตให้ใช้เมล็ดกัญชง, น้ำมันสกัดจากเมล็ดกัญชงภายในเดือนก.พ. 2564 เช่น เมล็ดกัญชง นำมาทำอาหารเสริมที่มี Omega-3 สูง, ใช้ในเครื่องดื่มชูกำลัง สำหรับ CBD ที่ใช้ในอาหารและเครื่องดื่มคาดออกประกาศฯได้ในเดือน มี.ค. – เม.ย. 2564 นี้
ชี้เป้าหุ้น3กลุ่มถูก “เก็งกำไร”
ปัจจุบัน คือ อยู่ในช่วงการเริ่มต้นมาขอใบอนุญาตในขั้นตอนต่างๆ แต่ไทยต้องรอระยะเวลาการปลูกรอบนี้ก่อน อย.จึงคาดว่าจะเริ่มเห็นสินค้าครั้งแรกได้ไม่เกินครึ่งปีแรกของปี64 นี้ โดย อย.จะมีการเปิดเผยข้อมูลบุคคลที่ได้รับอนุญาต ว่าใครได้รับใบอนุญาตส่วนไหน จึงคาดว่าจะมีการเก็งกำไร บจ.ที่ได้รับใบอนุญาตที่ อย.จะทยอยประกาศนับจากนี้ไป อย่างต่อเนื่อง
โดยฝ่ายวิจัยได้สรุปหลักทรัพย์ที่จะได้ประโยชน์จากการนี้ คือ
1) ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมด้านขั้นตอนการสกัด 3 บริษัทคือ RBF, DOD และ IP (ตลาด MAI)
2) ผู้ประกอบการเครื่องสำอางและสมุนไพร ที่จะเกิดขึ้นก่อน เช่น BEAUTY, KAMART, DDD และ RS เป็นต้น
3) ผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่มจะเกิดขึ้นช้ากว่า เช่น CBG, OSP, ICHI, SAPPE, RS, GLOCON, JKN, NRF เป็นต้น
ICHI มีศักยภาพในผลิตภัณฑ์ผสมกัญชง
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า ICHI เป็นหนึ่งในผู้มีศักยภาพในการประกอบธุรกิจผลิตภัณฑ์ ที่มีส่วนผสมจากกัญชงเป็นลำดับต้นๆ ของตลาด หลังอย.เปิดอนุญาตเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยเฉพาะสินค้าปลายน้ำ เนื่องจากบริษัทมีจุดแข็ง คือมีเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงในการผลิตได้ และมีกำลังการผลิตเหลือเพียงพอ รองรับการผลิตสินค้าใหม่ ปัจจุบันอัตราการใช้กำลังการผลิตของบริษัทอยู่ที่ราว 50- 60% เท่านั้น
ประกอบกับอย.มีแผนปลดล็อคสารสกัดและน้ำมันเมล็ดกัญชงในอาหารและเครื่องดื่มในเดือน ก.พ. 2564 และสาร CBD ในอาหารและเครื่องดื่มประมาณช่วงไตรมาส 2/64 ดังนั้นหากมีการอนุญาตให้ใช้สารสกัด และสาร CBD จากกัญชงในอาหารและเครื่องดื่ม ICHI จะเป็นผู้ประกอบการรายแรกๆ ที่สามารถผลิตสินค้าออกสู่ตลาดได้ทันที เบื้องต้นคาดจะได้เห็นผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้อย่างเร็วสุดในไตรมาส4/64
ตลาดยังไม่ได้ให้มูลค่าของการผลิตสินค้ากลุ่มใหม่
หาก ICHI ออกผลิตภัณฑ์ผสมกัญชงจริง นอกจากรายได้ที่คาดจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะแล้ว อัตราการผลิตของบริษัทจะสูงขึ้นด้วย ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุนของบริษัทให้สูงขึ้น, ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง และ GPM สูงขึ้น เราใช้สมมติฐานให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของ ICHI จะเพิ่มขึ้นเป็น 80% ใน Base Case และสูงสุดถึง 100% ใน Best Case ส่งผลให้ EPS2565 ของ ICHI คาดเพิ่มสูงเป็น 0.85 1.18 บาท และหากอิง PER เดียวกับที่ใช้ในการประเมินมูลค่าในปัจจุบันที่ 29 เท่าจะทำให้ราคาที่เหมาะสมในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 24.80 34.75 บาทต่อหุ้น ซึ่งยังไม่รวม PER จากธุรกิจกัญชง ที่ควรซื้อขายด้วย PER ที่เป็น Premium จากธุรกิจเครื่องดื่มทั่วไป
ดังนั้นจึงมองว่าราคาเป้าหมายตามสมมติฐานข้างต้นค่อนข้างระมัดระวัง โดยตลาดยังไม่ได้ให้มูลค่าในธุรกิจกัญชง ของ ICHI มากนัก เมื่อเทียบกับหุ้นอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้ที่ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นไปแล้ว เช่น RBF, DOD เป็นต้น ซึ่งราคาตลาดสูงกว่าราคาเป้าหมายของ Consensus แล้ว ส่วน ICHI ยังมี Upside 30.65% จากราคาเป้าหมายปัจจุบันที่ 16.20 บาท ดังนั้นจึงเป็นโอกาสเข้าสะสม
ราคาเป้าหมายไม่รวมธุรกิจกัญชง แนะนำ “ซื้อ”
ทั้งนี้ หากไม่รวมธุรกิจกัญชงในการประเมินมูลค่า ปี 2564 จะเป็นปีที่บริษัทรับรู้รายได้กลุ่มเครื่องดื่มผสมวิตามินได้เต็มปี ฝ่ายวิจัยมองว่าตลาดน้ำดื่มผสมวิตามินยังอยู่ในทิศทางที่ดี ทั้งภายใต้แบรนด์ตัวเองและการรับจ้างผลิต โดยคาดกำไรปกติในปี 2564 ของบริษัทอยู่ที่ราว 726 ล้านบาท โต 34.5% จากปีก่อนหน้า คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายสิ้นปี 2564 ที่ 16.20 บาท และคาดความชัดเจนจะมีความคืบหน้า ว่าบริษัทสนใจในธุรกิจกัญชงหรือไม่ ภายในการประชุมนักวิเคราะห์ในวันที่ 3 มี.ค 2564
www.mitihoon.com