5 ทางลัดสำหรับ SME ไทย ลุย “อี-คอมเมิร์ซ แพลตฟอร์ม

513

มิติหุ้น – ผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน ได้เป็นแรงผลักให้บริษัทต่างๆ ต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ให้ธุรกิจอยู่รอดด้วยทางเลือกใหม่ โดยเฉพาะการปรับสู่รูปแบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มฐานลูกค้า เติบโตรายได้และขยายสู่โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ จนทำให้ ธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ กลายเป็นธุรกิจที่เติบโตสวนทางกับธุรกิจอื่นๆ ในเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาด

การเติบโตของตลาด อี-คอมเมิร์ซ ในปี 2563 คาดการณ์มูลค่าสูงถึง 220,000 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นร้อยละ 35 จากปี 2562 และเรายังคงเห็นการเติบโตของเทรนด์นี้ต่อเนื่องในปี 2564 เป็นผลจากข้อจำกัดจากสถานการณ์การแพร่ระบาด ผสานกับความสะดวกสบายในการช้อปปิ้งผ่านแพลตฟอร์ม อี-คอมเมิร์ซ เป็นแรงผลักให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นการปรับธุรกิจสู่อี-คอมเมิร์ซจึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในยุคนี้

ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย จึงได้จัดหลักสูตรอบรมทางออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อให้ความรู้และพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลต่างๆ ที่เกี่ยวกับ อี-คอมเมิร์ซ เพื่อช่วย SME ขยายฐานธุรกิจบนระบบออนไลน์และดึงดูดลูกค้ารายใหม่ ภายใต้โครงการ Smart Business Transformation Programme (SBTP) โดยนับตั้งแต่การแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงปีที่ผ่านมาได้จัดอบรมไปทั้งสิ้น 27 ครั้ง และมี SME กว่า 1,000 รายเข้าร่วม

และเมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย และเดอะ ฟินแล็บ หน่วยงานบ่มเพาะนวัตกรรม (Innovation Accelerator) ที่ดำเนินงานภายใต้ธนาคารยูโอบีเพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอีรวมถึงธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ได้ร่วมกับพันธมิตรได้แก่ Make Web Easy, Tell score, Qwik Payment Solution  จัดการอบรมหัวข้อ “Tech Pitching Day: Showcasing for E-commerce Solutions” โดยได้แนะนำ 5 ทางลัดสำหรับ SME ที่ต้องการเจาะตลาด อี-คอมเมิร์ซที่กำลังเฟื่องฟู ดังนี้

ทางลัดที 1: สร้างตัวตนบนโลกออนไลน์

จุดเริ่มต้นของการก้าวสู่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ  สิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่สุดคือ การสร้างเว็บไซต์ขององค์กร  คุณมาริสา มูชิน Business Development แห่ง Make Web Easy ผู้ให้บริการเว็บไซต์เพื่อการตลาดออนไลน์ได้ให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับการเริ่มต้นธุรกิจของเอสเอ็มอีว่า ถ้าต้องการสร้างแบรนด์ ต้องมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง เพื่อบริหารจัดการ “แบรนด์ต้องมีความอิสระ” ถึงแม้ว่าจะต้องขายผ่านแพลตฟอร์มต่างๆด้วยก็ตาม การสร้างเว็บไซต์ครบวงจรที่สามารถนำเสนอสินค้าและปิดการขายได้ด้วย จะทำให้ได้ข้อมูลจริงจากผู้ซื้อ  ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการกำหนดเป้าหมายโปรโมชั่นต่างๆได้ในอนาคต อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับสื่อสังคมออนไลน์ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีเว็บไซต์และเปิดร้านค้าออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพครบวงจร ขายของได้ มีออเดอร์จริง และเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง

 ทางลัดที่ 2: สร้างแบรนด์ให้ปัง ด้วยการสื่อสารแบบบอกต่อ

ก้าวต่อไปของอี-คอมเมิร์ซ คือ การทำการตลาดอย่างไรที่จะช่วยให้สินค้าและแบรนด์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณสุวิตา จรัญวงศ์  CEO จาก Tell score ผู้นำด้าน influencer  มีระบบบริหารจัดการ influencer  กล่าวว่า Tell score คือ Influencer Marketing Automation Platform ที่เข้ามาเชื่อมต่อนักการตลาดเข้ากับเหล่า influencer และบล็อกเกอร์บนโซเชียลมีเดีย โดยใช้เทคโนโลยี Artificial Intelligence/ Machine Learning เป็นเครื่องมือที่ช่วยแนะนำ influence ที่มีความถนัดแต่ละด้านให้ตรงตามความต้องการ ปัจจุบันพบว่าผู้บริโภคที่นิยมช้อปปิ้งออนไลน์ กว่า 87% ชอบดูการรีวิวสินค้า ดังนั้นการใช้ influencer หรือ blogger นับเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่สำคัญของการทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เพราะจะเข้ามาช่วยให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นช่วยส่งผลให้ธุรกิจเอสเอ็มอี มีพลังและอำนาจในการบริหารจัดการยอดขายได้อย่างมีนัยยะสำคัญอีกช่องทาง

ทางลัดที่ 3: เปิดช่องทางการขายผ่านออนไลน์  ปิดการจ่ายด้วยดิจิทัล

คุณ วาริน อัจฉริยะกุลพร  Executive Director บริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ 2C2P ผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์ได้ให้มุมมองว่าคนไทยกว่า 82% มีการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์  โดยส่วนใหญ่กว่า 69% ซื้อผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก และ 34% เป็นการซื้อผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ดังนั้นระบบการชำระเงินถือเป็นสิ่งสำคัญในธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ เป็นการอำนวยความสะดวกที่รวดเร็ว สร้างความมั่นใจและน่าเชื่อถือให้กับผู้ซื้อ และ Qwik เป็น payment gateway (บริการรับชำระเงิน)     ที่เพิ่มความสะดวกให้กับร้านค้าที่ขายของผ่านระบบออนไลน์  โดยรับชำระเงินจากลูกค้าได้หลากหลายช่องทางผ่านเคาน์เตอร์, ผ่านบัตรเครดิต, ผ่านบริการธนาคารบนมือถือ, ผ่าน e-Wallet และ QR payment      ช่วยเพิ่มทางเลือกในการจ่ายเงินให้ลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลก (Payment Card industry Data Security Standard) อีกทั้งยังสามารถส่งลิงก์ค่าสินค้าให้กับลูกค้าได้ทันทีแบบเรียลไทม์ พร้อมยืนยันตอบรับการชำระเงินสิ้นสุด ตอบโจทย์ปิดยอดขายให้เอสเอ็มอีได้ทันที

ทางลัดที่ 4:  จบออเดอร์ ส่งไว ใช้ผู้ช่วยมือดี

จากภาพที่เห็นในช่วงปีนี้ บริษัทตัวแทนรับฝากสินค้า ขนส่งผลิตภัณฑ์ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีตัวเลือกมากมายหลากหลายบริษัท นายสุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิปป๊อป จำกัด ให้ความเห็นว่าตลาดอี-คอมเมิร์ซ มีการเติบโตสูงถึง 40%  เมื่อเกิดการขาย -ชำระเงิน ระบบขนส่งที่สะดวกสบาย รวดเร็วจึงเป็นสิ่งสำคัญของการดำเนินธุรกิจ ของชิปป๊อป จึงเปิดตัวให้บริการด้าน E-Logistic ที่เป็นแพลตฟอร์มการขนส่งบนโลกออนไลน์โดยการรวมบริการขนส่งพัสดุในประเทศไทยเข้ามารวมอยู่ในระบบเพื่อนำมาให้บริการกับร้านค้าทั่วไปในราคาที่ถูกกว่าการใช้งานปกติ ช่วยจัดการเรื่องขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จัดเรียงตามราคา, การบริการ, วันและเวลาในการจัดส่งพัสดุ  สามารถติดตามและตรวจสอบการทำงานได้ทุกขั้นตอนเอสเอ็มอีที่เข้ามาเป็นลูกค้า หากมีจำนวนมากๆยังสามารถพิจารณาร่วมทำธุรกิจกับชิปป๊อปได้ในรูปแบบของแฟรนไชส์ได้อีกด้วย

ทางลัดที่ 5: ใช้เครื่องมือดิจิทัลปรับปรุงกระบวนการหลังบ้าน

เมื่อ SME มีความพร้อมในขั้นตอนทั้ง 4 มาแล้ว หนึ่งในการสร้างธุรกิจเพื่อให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนคือ การปรับปรุงประสิทธิภาพขั้นตอนการทำงานหลังบ้าน การเลือกใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน จะช่วยลดเวลา ขั้นตอนในการทำงาน และลดความผิดพลาดอีกด้วย  ยูโอบี บิสสมาร์ท (UOB Biz Smart)  โซลูชันจัดการธุรกิจครบวงจรบนคลาวด์ที่รวมการทำงานทุกส่วนของธุรกิจ อาทิ ระบบจัดการข้อมูลพนักงานและจ่ายเงินเดือนอัตโนมัติ การทำบัญชี การจัดการคลังสินค้าและสินค้าคงเหลือ ซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนและประหยัดเวลาในการบริหารธุรกิจ

สำหรับ SME ไทยที่สนใจสามารถสร้างแต้มต่อและติดปีกธุรกิจด้วยดิจิทัล ผ่านโครงการ SBTP สามารถติดต่อเข้าร่วมโครงการได้ที่ https://thefinlab.com/th/thailand/ ซึ่งโครงการนี้ไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการสมัครเข้าร่วมโครงการ โดยในปีที่ผ่านมาโครงการ SBTP ได้สนับสนุนเอสเอ็มอีในการนำดิจิทัลโซลูชันไปใช้ปรับเปลี่ยนธุรกิจ ด้วยการมอบความรู้ จับคู่ธุรกิจ และช่วยให้นำดิจิทัลโซลูชันไปใช้งานได้จริง จนเห็นผลลัพธ์เชิงบวกสามารถเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ สร้างทัศนคติและความคิดดิจิทัลให้เกิดขึ้นในองค์กรได้อย่างดี