มิติหุ้น – บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย รายงานผลประกอบการประจำปี 2563 มีกำไรสุทธิ 367.6 ล้านบาท ลดลง 23.6% จาก 481.1 ล้านบาทในปี 2562 ประกาศจ่ายปันผล 0.42 บาท/หุ้น และมีสถานะเงินสดหลังจากชำระคืนหุ้นกู้ในปี 2563 จำนวน 1,800 ล้านบาท แล้วยังมีเงินสดอยู่ที่ระดับ 2,213 ล้านบาท เผยธุรกิจแปรผันตามตลาดรถจักรยานยนต์และตลาดรถยนต์ รวมทั้งขึ้นอยู่กับภาพรวมของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ กลุ่มผู้ผลิตรถจักรยานยนต์และรถยนต์รายใหญ่คาดการณ์ตลาดรถจักรยานยนต์ปี 2564 จะเพิ่มขึ้น 1.5% ที่ 1.5 ล้านคันและตลาดรถยนต์จะเพิ่มขึ้น 7.3 – 13.6% ที่ 850,000 – 900,000 คัน คาดเห็นผลกระทบบวกจากมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเยียวยาจากภาครัฐ TK กางกลยุทธ์ปี 2564 พร้อมเร่งขยายธุรกิจหลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง และเดินหน้าบริหารต้นทุนทางการเงินและต้นทุนการดำเนินธุรกิจ มุ่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นมาใช้เพื่อบริการสอดรับในยุคนิวนอร์มอล ในขณะที่ยังคงใช้มาตรการเข้มงวดในการให้บริการสินเชื่อ รวมทั้งเตรียมเงินทุนพร้อมเดินหน้าขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศในทุกรูปแบบทันทีเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย
นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยว่า ปี 2563 ที่ผ่านมาเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยหดตัว 6.1% จากปี 2562 ด้วยวิกฤติโควิด-19 ธุรกิจส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการใช้จ่ายในประเทศที่ปรับตัวลงอย่างมาก รวมทั้งยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์และรถยนต์ซึ่งหดตัวต่อเนื่องจากปี 2562 โดยรถจักรยานยนต์มียอดจำหน่าย 1,517,682 คัน ลดลง 11.7% ส่วนรถยนต์มียอดจำหน่าย 792,110 คัน ลดลง 21.4% โดยธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และรถยนต์จะแปรผันตามตลาดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและควบคุมคุณภาพลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นมาใช้ในการให้บริการลูกค้า โดยเฉพาะในช่วงที่มีการล็อคดาวน์และในช่วงที่ใช้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคไวรัสโควิด-19 ช่วยให้ผลการดำเนินงานในปี 2563 ยังคงมีกำไรสุทธิ 367.6 ล้านบาท ทั้งนี้ กำไรสุทธิลดลง 23.6% จาก 481.1 ล้านบาทในปี 2562
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริษัทฯ อนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานในปี 2563 ในอัตราหุ้นละ 0.42 บาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 210 ล้านบาท คิดเป็นอัตราร้อยละ 57.1 ของกำไรสุทธิ โดยจะปิดสมุดพักการโอนหุ้นเพื่อรับเงินปันผลในวันที่ 9 มีนาคม 2564 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 นี้ ด้านสถานะทางการเงิน TK มีเงินสดหลังจากชำระคืนหุ้นกู้ในปี 2563 จำนวน 1,800 ล้านบาท แล้วยังมีเงินสดอยู่ที่ระดับ 2,213 ล้านบาท
“ในปี 2564 กลุ่มผู้ผลิตรถจักรยานยนต์และรถยนต์รายใหญ่คาดการณ์ตลาดรถจักรยานยนต์ปี 2564 จะเพิ่มขึ้น 1.5% ที่ 1.5 ล้านคันและตลาดรถยนต์จะเพิ่มขึ้น 7.3 – 13.6% ที่ 850,000 – 900,000 คัน ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเยียวยาในรูปแบบต่าง ๆ จากทางภาครัฐ จะช่วยฟื้นกำลังซื้อเป็นลำดับในปีนี้ ทั้งนี้ TK กำหนดกลยุทธ์การบริหารธุรกิจในปี 2564 ด้วยการเตรียมเงินทุนให้พร้อมตลอดเวลา เพื่อสามารถเดินหน้าขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศในทุกรูปแบบทันทีเมื่อมีจังหวะและโอกาส ด้านการบริหารการปฏิบัติการ (Operation Management) TK ยังคงบริหารต้นทุนทางการเงินและต้นทุนการดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นมาใช้ในกระบวนการทำงานและการบริการลูกค้า ผ่านแพลตฟอร์ม TK Plus ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นเพื่อบริการลูกค้า สอดรับในยุคนิวนอร์มอล ในขณะที่ยังคงมาตรการเข้มงวดในการให้บริการสินเชื่อและควบคุมคุณภาพลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง” นางสาวปฐมากล่าว
ด้าน นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ TK กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านจำนวนลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เงินให้กู้ ณ สิ้นปี 2563 มีจำนวนสุทธิ 4,591.3 ล้านบาท ลดลง 38.3% จาก 7,438.6 ล้านบาท บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 7,356.8 ล้านบาท ลดลง 19.7% จาก 9,163.3 ล้านบาท และมีหนี้สินรวม 2,000.5 ล้านบาท ลดลง 48.4% จาก 3,878.5 ล้านบาท เมื่อเทียบจากปีที่ก่อน
นายประพลกล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านตลาดในต่างประเทศ ในปี 2563 TK มีลูกหนี้เช่าซื้อต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 24.86% ของลูกหนี้เช่าซื้อ ซึ่งทางบริษัทมีเป้าหมายเดิมที่จะขยายสัดส่วนลูกหนี้ในต่างประเทศให้เป็น 50% ของลูกหนี้เช่าซื้อทั้งหมด ภายในสิ้นปี 2563 แต่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งหากเหตุการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดี บริษัทคาดว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนลูกหนี้ในตลาดต่างประเทศและลูกหนี้ในประเทศเป็น 50:50 ได้ในปี 2565
อนึ่ง TK ดำเนินธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และรถยนต์ ในราชอาณาจักรกัมพูชา ภายใต้ชื่อ “Suosdey Finance PLC” และในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ภายใต้ชื่อ “Sabaidee Leasing Co.,Ltd” รวมทั้งดำเนินธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ในเมียนมา ภายใต้ชื่อ “Mingalaba Thitikorn Microfinance Co., Ltd.” ณ สิ้นปี 2563 TK มีสาขาในต่างประเทศรวม 16 สาขา คือ ราชอาณาจักรกัมพูชา จำนวน 12 สาขา สปป. ลาว จำนวน 3 สาขา และเมียนมา จำนวน 1 สาขา ทั้งนี้ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด–19 และสถานการณ์การเมืองในเมียนมาคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น คาดจะสามารถเพิ่มจำนวนสาขาอีก 6 สาขา รวมทั้งสิ้นเป็น 22สาขา ภายในสิ้นปี 2564
www.mitihoon.com