มิติหุ้น – แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 มาตลอดทั้งปี 63 แต่ อาร์เอส กรุ๊ป ผลงานกลับโตแรงสวนกระแส ทำรายได้รวมมากถึง 3,774 ล้านบาท กำไรพุ่ง 528 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 45% จากปีก่อน เป็นผลมาจากรายได้ธุรกิจคอมเมิร์ซที่เติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากการนำเทคโนโลยี PDS เข้าร่วมบริหารข้อมูลลูกค้า ความหลากหลายของการโฆษณาและนำเสนอสินค้าที่แตกต่าง อีกทั้งการนำเสนอแคมเปญและโปรโมชั่นที่ตรงใจ รวมถึงรายได้จากธุรกิจทีวีก็เติบโตสูงขึ้นจากปีก่อนจากการหารายได้เพิ่มจากการบริหารคอนเทนต์ ล่าสุด บอร์ดอาร์เอสอนุมัติแจกวอแรนต์ในอัตราส่วน 5:1 ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมแทนการจ่ายปันผล
นายวิทวัส เวชชบุษกร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ปี 2563 ถือเป็นปีที่ท้าทายของ อาร์เอส กรุ๊ป ท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน รวมไปถึงโควิด-19 แต่ด้วยการปรับตัวอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลาของบริษัทฯ ทำให้ผลการดำเนินงานในปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้รวม 3,774 ล้านบาท กำไรสุทธิ 528 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 45% จากปี 2562 โดยธุรกิจคอมเมิร์ซยังคงทำรายได้เติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 2,382 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 18% จากปีก่อน เนื่องมาจากความสำเร็จของการขยายช่องทางการขายทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงความหลากหลายของการโฆษณาและนำเสนอสินค้าที่แตกต่างในแต่ละช่วงเวลา ตลอดจนการพัฒนาระบบและทักษะของทีมเทเลเซลล์อย่างต่อเนื่อง ทำให้จำนวนฐานลูกค้า ณ สิ้นปี 2563 ทะยานขึ้นสู่ 1.6 ล้านราย และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องขึ้นเรื่อยๆ”
ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นการบริหารข้อมูลลูกค้าเป็นสำคัญ เนื่องจาก
- ความแม่นยำที่สูงขึ้นของระบบ Predictive Dialing System (PDS) จึงสามารถนำมาใช้ครอบคลุมลูกค้าทุกประเภท ส่งผลให้ทีมเทเลเซลล์สามารถติดต่อลูกค้าได้เพิ่มขึ้น
- การวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มุ่งดูแลสุขภาพ และการแยกประเภทนำเสนอแคมเปญและโปรโมชั่นที่ผ่านการวิเคราะห์จากพฤติกรรมลูกค้าในแต่ละกลุ่มอย่างตรงใจ
- การทำกิจกรรมการขายและการตลาดต่อเนื่องทุกเดือน เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของลูกค้า โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งลูกค้าหันมาใส่ใจสุขภาพและสนใจสินค้าประเภทเสริมอาหารเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้จากทุกช่องทางเติบโตต่อเนื่อง
ขณะที่ธุรกิจสื่อ แม้ว่าทั้งอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันด้านราคาและการหดตัวของงบโฆษณาตามผลกระทบของโควิด-19 ก็ตาม แต่รายได้ธุรกิจสื่อของบริษัทฯ กลับเพิ่มขึ้น 7% เป็น 1,148 ล้านบาท จากปีก่อน เนื่องจาก
- การบริหารคอนเทนต์ เพื่อขยายไปยังตลาดต่างประเทศและบนแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ (OTT)
- มุ่งเน้นการบริหารต้นทุนการผลิตคอนเทนต์ไปพร้อมๆ กับการทำให้เรตติ้งของช่อง 8 ปรับตัวดีขึ้น โดยเรตติ้งในกลุ่มอายุ 15+ และ 18 ชั่วโมงเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2563 อยู่ที่ 0.43% เทียบกับ 0.42% ในปีก่อนหน้า แม้ว่าจะมีการนำละครมารีรันในช่วงโควิด-19 เพื่อเป็นการบริหารต้นทุนการผลิตก็ตาม
- สามารถบริหารนาทีโฆษณาได้เต็มประสิทธิภาพ 100% จากการนำมาโฆษณาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของธุรกิจคอมเมิร์ซ สะท้อนสู่อัตราการเติบโตของธุรกิจคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นทุกไตรมาสตลอดทั้งปี 2563
“อาร์เอสมุ่งเน้นการทำธุรกิจด้วยโมเดล Entertainmerce ที่แตกต่าง และเสริมความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องด้วยการเข้าลงทุนในบริษัทต่างๆ เพื่อต่อยอด Ecosystem ของอาร์เอสและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กร ในส่วนของธุรกิจคอมเมิร์ซ ยังคงขยายช่องทางการโฆษณาและการขายให้ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า และเน้นการเติบโตของช่องทางออนไลน์ เตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สู่ mass market สร้างจุดแข็งและข้อได้เปรียบทั้งช่องทางการขายและสินค้าอย่างครบถ้วน ในส่วนการบริหารข้อมูลลูกค้าจะมีการนำระบบ Voice Analytics เข้ามาวิเคราะห์เสียงของลูกค้าเพื่อให้ทีมเทเลเซลล์ตอบสนองได้อย่างทันท่วงที ตรงจุด และสามารถปิดการขายให้สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงผลักให้รายได้ของบริษัทฯ เติบโตแบบก้าวกระโดด สร้าง All Time High นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติอนุมัติจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญครั้งที่ 4 (RS-W4) ระยะเวลา 3 ปี แทนการจ่ายเงินปันผลประจำปี ให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกรายในสัดส่วน 5 หุ้นเดิมต่อ 1 หน่วยวอแรนต์ ที่ราคาแปลงสิทธิ 29 บาท โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิ (Record Date) ในวันที่ 27 เมษายน 2564 การแจกวอแรนต์ในครั้งนี้ เป็นการให้ผลตอบแทนกับผู้ถือหุ้นแทนการจ่ายเงินปันผล ซึ่งบริษัทฯ สามารถเก็บเงินสดเพื่อใช้ในการดำเนินการขยายธุรกิจต่อไป และยังเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินสำหรับการเติบโตของอาร์เอสในระยะยาวอีกด้วย” นายวิทวัส กล่าวปิดท้าย
www.mitihoon.com