LPN วางยุทธศาสตร์ Turnaround ภายในปี 2567

99

มิติหุ้น – นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) แถลงถึงแผนการดำเนินงานของบริษัทในปี  2564-2567 ว่า บริษัทได้วางยุทธศาสตร์แผน 3 ปี ให้เป็นปีของการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรที่มีอัตราการเติบโตในด้านของรายได้ และความสามารถในการทำกำไรอย่างยั่งยืน ผ่านการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ การใช้ข้อมูล (Big Data) มาวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า (Customer Insight) เพื่อการพัฒนาทั้งบ้านพักอาศัย และอาคารชุดพักอาศัย ให้มีฟังก์ชั่นการใช้งาน ที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้าในทุกมิติในระดับราคาที่เหมาะสม (Affordable Price) สำหรับผู้ซื้อในทุกกลุ่มภายใต้แนวคิด “ความพอดีที่ดีกว่า : The Better Balance”    

 “เพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ปี 2564 เป็นปีที่เรา ปรับโครงสร้างองค์กร (Reorganization)  จากโครงสร้างการทำงานตามหน้าที่(Functional Organization) สู่การบริหารงานในรูปแบบของหน่วยธุรกิจ (Business Unit) รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปรับปรุงกระบวนการทำงาน (Digital Transform)  เพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัวในการตัดสินใจ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการดำเนินงาน เพื่อยกระดับการบริหารประสบการณ์ลูกค้า ผ่านแพลตฟอร์มที่สร้างเครือข่ายงานบริหารทางธุรกิจ เป็นปีของการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเราจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2565-2567 โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 16,000 ล้านบาทในปี 2567 ซึ่งเป็นระดับรายได้ที่เราเคยทำได้ในปี 2558 หลังจากที่เราสามารถก้าวข้ามผ่านความเสี่ยงทางธุรกิจที่เกิดขึ้นในปี 2563 สามารถรักษาความสามารถในการสร้างรายได้และกำไร ไว้ได้ในอัตราที่เหมาะสมถึงแม้จะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ที่ทำให้ทุกภาคธุรกิจต้องปรับตัวรวมทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” นายโอภาส กล่าว 

 

ปี 2564 นอกจากปรับโครงสร้างขององค์กรแล้ว บริษัทได้กำหนดแผนในการทำธุรกิจโดยมุ่งให้ทุกหน่วยธุรกิจ “เพิ่มรายได้และบริหารต้นทุน” โดยกำหนด 4 ยุทธศาสตร์หลัก ประกอบด้วย การรุกตลาดบ้านพักอาศัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อในปัจจุบัน, ขยายฐานรายได้จากภาคธุรกิจบริการ, บริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินเพื่อรองรับกับความเสี่ยงทางธุรกิจ, และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพย์สินที่มีอยู่ 

 

การรุกตลาดบ้านพักอาศัย

            ปี 2564 บริษัทเน้นการเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัยเพิ่มขึ้นเพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ซื้อในตลาดที่ให้ความสนใจซื้อบ้านพักอาศัยทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์เฮ้าส์ เพิ่มขึ้น หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยมีแผนเปิดตัวบ้านพักอาศัย 6 โครงการ มูลค่า 5,500 ล้านบาท เป็นโครงการบ้านเดี่ยว สำหรับตลาดพรีเมี่ยมในระดับราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ภายใต้แบรนด์ “บ้าน 365” 1-2 โครงการ มูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท  โดยเน้นการเปิดตัวโครงการในย่านใจกลางเมืองในพื้นที่ขนาดเล็ก แต่มีความเป็นส่วนตัวสูงภายใต้แนวคิด Private Resident เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ซื้อในกลุ่มนี้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยใจกลางเมืองและมีความเป็นส่วนตัว และโครงการบ้านพักอาศัยภายใต้แบรนด์  “บ้านลุมพินี ทาวน์เพลส” และ “บ้านลุมพินี ทาวน์วิลล์” ที่ระดับราคาไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อหน่วย ประมาณ 3-5 โครงการ มูลค่าประมาณ  2,500 ล้านบาท  โดยออกแบบฟังก์ชั่นการใช้งานทาวน์เฮ้าส์หน้ากว้างที่สามารถจอดรถได้ 3 คัน เพื่อสมาชิกทุกคนในครอบครัว 

บริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้บ้านพักอาศัยจาก 20% ในปี 2563 เป็น 30% ในปี 2564 และมีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ของบ้านพักอาศัยขึ้นมาอยู่ที่ 50% ภายในปี 2567 ในขณะเดียวกันบริษัทยังคง รักษารายได้จากโครงการอาคารชุดพักอาศัยในปี 2564 ให้มีสัดส่วนไม่ต่ำกว่าปี 2563 โดยมีแผนที่จะเปิดตัวโครงการใหม่ประมาณ 2-3 โครงการ มูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท ในปี 2564 และมีแผนเปิดตัวโครงการแรกในไตรมาสสองของปี 2564  

 

              –  ขยายฐานรายได้จากงานบริการ : 

บริษัทรุกขยายฐานรายได้จากงานบริการเพิ่มขึ้นจากฐานธุรกิจเดิมที่มีอยู่ไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่นอกเหนือจากของ LPN โดยมีการนำแพลตฟอร์มธุรกิจ (Business Platform) สร้างเครือข่ายกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับกลุ่มธุรกิจบริการภายใต้การบริหารของบริษัทในเครือทั้ง บริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด (LPP) บริษัท แอล พี ซี วิสาหกิจ เพื่อสังคม จำกัด (LPC) บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom) และบริษัท รักษาความปลอดภัย แอลเอสเอส โซลูชั่นส์ จำกัด (LSS) โดยตั้งเป้ารายได้ในส่วนของงานบริการเติบโตไม่น้อยกว่า 20%  ในปี 2564  เทียบกับปี 2563 ที่มีรายได้จากงานบริการและธุรกิจให้เช่าที่ 1,361 ล้านบาท 

 

              –  การบริหารสภาพคล่องทางการเงิน

ปี 2564 บริษัทมีนโยบายบริหารสภาพคล่องทางการเงิน โดยชะลอแผนการซื้อที่ดินใหม่เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาอาคารชุดพักอาศัย เนื่องจากบริษัทมีที่ดินที่ซื้อเก็บไว้ในปี 2563 ทั้งสิ้น 6-8 แปลง   สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาโครงการอาคารชุดพักอาศัยในปี 2564 ได้ตามแผนที่วางไว้ ประกอบกับปัจจุบันบริษัทมีโครงการอาคารชุดพักอาศัยที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและที่สร้างเสร็จพร้อมขายรองรับกับการเติบโตของธุรกิจได้ต่อเนื่องในปี 2564-2567 บริษัทจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อที่ดินใหม่เพื่อการพัฒนาอาคารชุดพักอาศัย ทำให้บริษัทสามารถรักษากระแสเงินสดของบริษัทให้สามารถที่จะรองรับกับแผนการลงทุนในด้านอื่นๆ หรือสามารถที่จะรองรับกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากความไม่แน่นอนของการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19   

ในขณะเดียวกันบริษัทมีแผนที่จะออกหุ้นกู้ประมาณ  3,000 ล้านบาท  เพื่อนำมาใช้ในการชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระคืนในปี 2564 จำนวน 2,000 ล้านบาท และเพื่อลงทุนซื้อที่ดินสำหรับการพัฒนาโครงการบ้านพักอาศัยที่บริษัทมีแผนใช้งบลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาทในปี 2564 โดยที่บริษัทยังคงสามารถรักษาสัดส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity Ratio) ในสัดส่วนไม่เกิน 1:1 เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับบริษัท  

 

            – การสร้างรายได้และ Backlog จากทรัพย์สินที่มีอยู่

ในปี 2564 บริษัทมีแผนที่จะนำเอาทรัพย์สินที่มีอยู่ เช่น อาคารชุดพักอาศัยที่สร้างเสร็จรอขายแล้วนั้นมาปล่อยเช่าเพื่อสร้างรายได้และรวมถึงการสร้าง Backlog เพื่อขายในอนาคต ทั้งนี้ บริษัทมีแผนนำที่ดินที่รอการพัฒนาบางส่วนมาพัฒนาในรูปแบบที่แตกต่างออกไป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับที่ดินที่บริษัทถือครองอยู่ เพิ่มเติมจากที่ดำเนินการไปแล้วในปี 2563 ที่สามารถทำรายได้เติบโตในส่วนนี้ได้ถึง 30

จาก 4 ยุทธศาสตร์ในการทำธุรกิจในปี 2564 นายโอภาส กล่าวว่า  บริษัทตั้งเป้ารักษาการเติบโตของรายได้ไม่น้อยกว่าปี 2563 โดยแบ่งสัดส่วนรายได้จากบ้านพักอาศัยประมาณ 30% ของรายได้รวม และรายได้จากอาคารชุดพักอาศัยประมาณ 70% ของรายได้รวม และรายได้ที่มาจากธุรกิจบริการและการเช่าเติบโตประมาณ 20% โดยมีเป้าหมายที่จะมีรายได้จากการขาย (Presale) ประมาณ 10,000 ล้านบาท ในปี 2564 ใกล้เคียงกับปี 2563 ที่มีรายได้จากการขายและบริการ 7,362 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 734 ล้านบาท  

                ทั้งนี้  ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมียอดขายรอโอน (Backlog) ประมาณ 2,200 ล้านบาท ที่จะรับรู้รายได้ในปี 2564 และมีสินค้าคงเหลือที่พร้อมขายประมาณ 11,000 ล้านบาท 

เรามั่นใจว่าหลังจากที่ผ่านวิกฤติ COVID-19 ในปี 2563 มาแล้ว เราได้เรียนรู้จากทุกวิกฤติที่ผ่านมาตลอดเวลา 32 ปี ทำให้เรามีความแข็งแกร่งและความพร้อมที่เราจะเติบโตอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายที่เราได้วางไว้” นายโอภาส กล่าว  

www.mitihoon.com