บีเจซี เผยกำไรไตรมาส 4/63 บวกขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา

67

มิติหุ้น – บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี รายงานผลประกอบการไตรมาส 4/63 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าบริษัทมีรายได้รวมในไตรมาส 4/63 อยู่ที่ 38,631 ล้านบาท ลดลง 5,908 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13.3% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รายได้รวมลดลงจากยอดขายและรายได้ค่าบริการที่ลดลงจากกลุ่มธุรกิจรวม อยู่ที่ 35,103 ล้านบาท ลดลง 5,461 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13.5% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยลดลงจากยอดขายในกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ กลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค และกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ แต่อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกับไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ยอดขายมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ และกลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค

สำหรับยอดขายกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ เห็นการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ทั้งจากกลุ่มบรรจุภัณฑ์แก้วและกระป๋อง โดยมียอดขายรวมในไตรมาส 4/63 อยู่ที่ 5,373 ล้านบาท เติบโตกว่า 430 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.7 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3/63 ในส่วนของกลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค แม้ยอดขายในไตรมาส 4/63 จะลดลงที่ 3.1% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งจากผลกระทบจากฤดูกาลขายโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจอาหาร และการกักตุนสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ส่วนตัวที่เกิดขึ้นในไตรมาสก่อนหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ยอดขายปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 24 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 0.5 โดยเกิดจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ ยอดขายกลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิคในไตรมาส 4/63 อยู่ที่ 2,158 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3/63 ยอดขายเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 205 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.5 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3/63 ทั้งจากการเติบโตของกลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์และกลุ่มเทคนิค และในส่วนของกลุ่มค้าปลีกสมัยใหม่ แม้รายได้จากการขายสินค้าในไตรมาส 4/63 อยู่ที่ 23,505 ล้านบาท ลดลง 394 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.6 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่เริ่มเห็นการฟื้นตัวรายได้ค่าเช่าและค่าบริการสถานที่ ที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจากไตรมาสที่ผ่านมา

สำหรับกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัทงบประจำปี 2563 เท่ากับ 4,001 ล้านบาท ลดลง 3,277 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 45.0 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว โดยกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัทในไตรมาส 4/63 เท่ากับ 1,353 ล้านบาท ลดลง 1,120 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 45.3 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัทในไตรมาส 4/63 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3/63 เพิ่มขึ้น 291 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 27.4 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา สาเหตุหลักเนื่องจากการฟื้นตัวของกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ กลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค และกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่

ในไตรมาส 4/63 กลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ยังคงมุ่งขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 4/63 ได้เปิดมินิบิ๊กซีทั้งหมด 65 สาขา (ปิด 3 สาขา) และเปลี่ยนบิ๊กซีมาร์เก็ตเป็นบิ๊กซีดีโป้ 2 สาขา (ปิดบิ๊กซีมาร์เก็ต 1 สาขา) ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2563 มีจำนวนสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด 152 สาขา (บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ และบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า) บิ๊กซีมาร์เก็ต 61 สาขา (บิ๊กซีมาร์เก็ต บิ๊กซีฟู้ดเพลส และบิ๊กซีดีโป้) มินิบิ๊กซี 1,215 สาขา (รวมสาขาแฟรนไชส์ 61 สาขา) และร้านขายยาเพรียว 144 สาขา

ด้วยประสบการณ์จากการจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่การระบาดในระลอกแรก ทำให้กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยการปรับปรุงและพัฒนาบริการใหม่ๆ เพื่อให้ตอบสนองต่อผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เช่น การนำเสนอช่องทางการขาย “Call-for-Shop” และ “Line-for-Shop” ซึ่งได้รับผลตอบรับอย่างดี นอกจากนี้ แม้อัตราการเช่าจะยังคงอยู่ที่ร้อยละ 91 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน แต่รายได้ค่าเช่าเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการให้ส่วนลดค่าเช่าที่เริ่มน้อยลง

www.mitihoon.com