รายงานพิเศษ: ทบ.-กฟผ.เซ็นดีลสะท้านวงการ “ลุยโซลาร์ฟาร์ม 30,000 MW” วัดใจนายกฯเคาะแผน 31 มี.ค.

3194

 

ข่าวใหญ่เมื่อปลายเดือน ม.ค.64 กองทัพบก (ทบ.) ได้เซ็น MOU ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ภายใต้โครงการ “เมกะโปรเจคโซลาร์ฟาร์ม 30,000 เมกะวัตต์”โดยจะใช้พื้นที่ราชพัสดุ ที่กองทัพบกดูแลทั่วประเทศกว่า 4.5 ล้านไร่ มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านเกษตรกรรมและพลังงาน

โดยโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายให้ประเทศไทยและประชาชนได้รับประโยชน์ในเรื่องของการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด, มีอัตราค่าไฟฟ้าลดลง, เป็นการลดการขาดดุลจากการซื้อไฟฟ้าและนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศ, เป็นการระดมทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย,สร้างงานสร้างอาชีพให้ประชาชน ตลอดจนเป็นการช่วยเกษตรกรไทยในการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรแบบแลกเปลี่ยน (Barter Trade) กับประเทศที่จำหน่ายเทคโนโนโลยีโซลาร์ ซึ่งทาง พลโทรังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง5 ในฐานะตัวแทนกองทัพบก ให้สัมภาษณ์ย้ำด้วยตนเองว่า “โครงการนี้มาถูกที่ ถูกเวลา ท่ามกลางวิกฤต”

สำหรับโครงการ “เมกะโซลาร์ฟาร์ม” คาดว่าจะใช้พื้นที่ประมาณ 300,000 ไร่ และจะใช้เงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 600,000 ล้านบาท

ล่าสุดมีผู้ประกอบธุรกิจด้านพลังงานให้ความสนใจแล้วกว่า 50-60 บริษัท ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ทั้งที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และนอกตลาด ติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมแสดงเจตจำนงเข้าร่วมลงทุน “เมกะโซลาร์ฟาร์ม” รวมถึงลงทุนในอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ครบวงจร ทั้งการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ อุตสาหกรรมที่เป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และลดต้นทุน

นำร่องเฟสแรก 300 MW
ถัดจากนี้ไป ทั้ง กองทัพบก และ กฟผ.จะตั้งคณะกรรมการทำงานของฝ่ายตนขึ้นมา และทำงานร่วมกันเพื่อพิจารณาว่าจังหวัดไหน ใช้พื้นที่เท่าไหร่ และสร้างได้จำนวนกี่เมกกะวัตต์ หลังจากนั้นก็จะเชิญเอกชนเข้าร่วมลงทุน และให้ใบอนุญาตรับซื้อไฟฟ้า (PPA) ส่วนเฟสแรกที่สามารถนำร่องได้เลยคือ พื้นที่ตำบลแก่งเสี้ยน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี พื้นที่ 3,000 ไร่ จำนวน 300 MW ที่มีความเหมาะสมในการทำโซลาร์ฟาร์ม เป็นเขตเศรษฐกิจพุน้ำร้อน และมีสายส่งข้ามไปถึงพม่าได้ ใช้เงินลงทุน 6,000 -7,000 ล้านบาท โดยให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน และเตรียมจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ต่อไป

เซ็นดีลสะท้านวงการ
ด้านกระทรวงพลังงานที่แม้จะออกมาระบุว่าโครงการนี้ไม่ได้อยู่ในแผน PDP ฉบับใหม่ แต่ พลโทรังษี กล่าวว่า แผน PDP สามารถปรับปรุงได้ เพราะตอนเขียนแผนไม่ได้อยู่ในภาวะไม่ปกติแต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว และหากดูประเทศเพื่อนบ้านเช่น เวียดนาม ก็ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจำนวนมหาศาล ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของานาชาติ หากไทยประกาศในลักษณะเดียวกันก็เชื่อว่าจะช่วยดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติให้หันมาที่ไทยได้เช่นกัน ส่วนเหตุผลที่ กองทัพบก เดินหน้าผลักดันเรื่องนี้ หากรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี เห็นด้วยก็เชื่อว่าจะทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้จริง เพราะมองว่าเป็นการปฏิรูปพลังงานไฟฟ้าครั้งใหญ่

ส่วนหลักเกณฑ์การลงทุนในโครงการเบื้องต้น จะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน และต้องมีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยไม่ต่ำกว่า 51% วางแบงก์การันตี 100% ของมูลค่าลงทุน คาดว่าะมีต้นทุนราว 18 ลบ./เมกะวัตต์ ไม่รวมค่าเช่าที่ดินราชพัสดุที่ต้องจ่าย 4,000บาท/ไร่/ปี ใช้วัสดุก่อสร้างและจ้างแรงงานในพื้นที่ และต้องก่อสร้างให้เสร็จภายใน 2ปี และห้ามเปลี่ยนมือใบ PPA ภายใน 3 ปี หากไม่เป็นไปตามสัญญา ทบ. จะยึดโครงการคืน และอาจเสนอให้รัฐบาลออกพันธมิตรระดมทุนเพื่อรับไปดำเนินการต่อ

‘แร่ควอตซ์’ ไฮไลท์สำคัญ
พลโทรังษี กล่าวอีกว่า จากการสำรวจในไทยมีแหล่งแร่ควอตซ์ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับแปรรูปเป็นซิลิคอนเป็นวัตถุดิบสำคัญในการนำมาผลิตแผงโซลาร์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ประเมินว่าสามารถผลิตได้มากถึง 500,000 MW โดยแหล่งแร่ควอตซ์ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ทหารในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งกองทัพบกมีแนวคิดที่จะร่วมมือกับผู้ผลิตแผงรายใหญ่จากจีนให้เข้ามาสำรวจและพิจารณาเปิดเหมืองในพื้นที่ทหาร ซึ่งกองทัพบกสามารถดำเนินการได้เองผ่านการยื่นขอประทานบัตรเพื่อทำเหมือง และกำหนดผลตอบแทนในรูปแบบ Profit sharing

อย่างไรก็ดีสำหรับ “โครงการ เมกะโซลาร์ฟาร์ม 30,000 เมกะวัตต์” ถือเป็นตัวเลขที่ใหญ่มากๆ ของประเทศไทย และโครงการนี้จะช่วยปฎิรูปในเรื่องพลังงานไฟฟ้า และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ขณะนี้ กองทัพบก และ กฟผ. อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี  ทั้งหมดจึงอยู่ที่นายกฯ เป็นคนตัดสินใจเลือก และส่งให้ครม. พิจารณา ในวันที่ 31 มี.ค.นี้ ได้รู้กัน

www.mitihoon.com

รับ Outlook for Android