ก.ล.ต.นำซีอีโอหญิงร่วมเสวนา “Women CEO Dialogue” จุดประกายแนวคิดสานต่อความร่วมมือ ขับเคลื่อนการเสริมบทบาทสตรี ในตลาดทุน

66

 

ก.ล.ต. จัดงานเสวนา “Women CEO Dialogue” เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นเวทีสำหรับผู้บริหารระดับสูงที่เป็นผู้หญิง (ซีอีโอหญิง) จากบริษัทจดทะเบียนจากหลายภาคอุตสาหกรรมร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในการเพิ่มบทบาทของผู้หญิงในองค์กรธุรกิจ รวมทั้งมีแนวคิดจะสานต่อเป็นเครือข่ายของความร่วมมือกันต่อไป (networking)  เพื่อขับเคลื่อนการเสริมบทบาทสตรี (Women Empowerment) ในตลาดทุน อันเป็นการเสริมสร้างตลาดทุนอย่างยั่งยืนและร่วมขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs)

เนื่องด้วยในวันที่ 8 มีนาคมของทุกปีองค์การสหประชาชาติประกาศให้เป็นวันสตรีสากล (International Women’s Day) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงได้จัดงานเสวนา Women CEO Dialogue เมื่อวันที่ 2  มีนาคม 2564 ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เป็นการรวมตัวของผู้หญิงที่มีบทบาทเป็นผู้นำและผู้บริหารสูงสุดของภาคธุรกิจในตลาดทุนไทย จากทั้งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) จากหลายภาคอุตสาหกรรม จำนวน 23 คน พร้อมทั้งได้รับเกียรติจากคุณจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คุณธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ สมาชิก ASEAN Parliamentarians for Human Rights คุณสิรินยา บิชอพ ทูตสันถวไมตรีของ UN Women ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และคุณสิริพร ราธี ผู้จัดการโครงการ Empower Asia ประจำประเทศไทย องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ร่วมเสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ซีอีโอหญิงที่ร่วมเสวนามีมุมมองร่วมกันว่า สิ่งสำคัญคือการร่วมกันเสริมสร้างความเชื่อมั่นของสตรีที่มีต่อตนเอง เพื่อให้ตระหนักถึงคุณค่าและพัฒนาจุดแข็งของตนเองโดยไม่นำเรื่องความแตกต่างทางเพศมาเป็นประเด็น ภาคธุรกิจสามารถช่วยได้โดยสร้างเกณฑ์วัดที่เป็นมาตรฐานและไม่นำประเด็นเรื่องเพศมาเป็นข้อจำกัด ซึ่งจะช่วยให้สตรีที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงมีความภาคภูมิใจ สร้างการยอมรับที่ตัวตนของสตรี พร้อมทั้งร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและการให้ความรู้ทางการเงินกับชุมชน

คุณรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า “ก.ล.ต. ขอขอบคุณซีอีโอหญิง วิทยากร และผู้เข้าร่วมทุกท่านที่ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการขับเคลื่อนการเพิ่มบทบาทผู้หญิง (Women Empowerment) ในตลาดทุนอย่างเป็นรูปธรรม ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) และสอดรับกับหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) โดย ก.ล.ต. จะขอนำข้อเสนอที่ได้รับไปผลักดันและสานต่อเป็นเครือข่ายของความร่วมมือ (networking) รวมถึงส่งเสริมการเพิ่มจำนวนกรรมการผู้หญิงในบริษัทจดทะเบียนไทย เพื่อร่วมมือกันเพิ่มบทบาทสตรีที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้วให้เพิ่มมากขึ้น”

www.mitihoon.com