จากมือถือ อผศ. …ถึง Mega Solar Farm 6 แสนล้าน!

821

ยังคงเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น Talk of the Town

กับเรื่องที่กองทัพบก โดย พลโท รังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการ ททบ.5 ในฐานะตัวแทนกองทัพบก เตรียมปัดฝุ่นที่ราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลของกองทัพ พื้นที่กว่า 4.5 ล้านไร่ทั่วประเทศ มาพัฒนาหาลู่ทางการใช้ประโยชน์ โดยเตรียมผุดโครงการ Mega Solar Farm 30,000 เมกะวัตต์

ล่าสุดได้ลงนามในข้อตกลง MOU กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการศึกษาโครงการนำร่องพื้นที่ 3,000 ไร่ที่ตำบลแก่งเสี้ยน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งนัยว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการทำ “โซลาร์ ฟาร์ม”  โดยคาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ 300 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท โดยมีแผนจะดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 51%


(ภาพจากอินเทอร์เน็ต)

หลังกองทัพบกตีปี๊บความร่วมมือกับ กฟผ. เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ Mega Solar Farm ดังกล่าว ได้สร้างความฮือฮาให้กับบริษัทพลังงานน้อย-ใหญ่กว่า 30 ราย ที่ต่างตบเท้าเข้าพบกรรมการผู้อำนวยการ ททบ.5 ในฐานะตัวแทนกองทัพบก เพื่อขอทราบรายละเอียด และแสดงเจตจำนงในการร่วมลงทุนในโครงการนี้ พร้อมยืนยันภารกิจของกองทัพในการนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ประเทศชาติ จึงไม่มีเหตุผลที่ใครจะมาคัดง้างได้

“แนวคิดการจัดตั้ง โรงไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกด้วยแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์ฟาร์ม โดยใช้พื้นที่ราชพัสดุที่อยู่ในการดูแลของกองทัพบก ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ลดมลพิษรักษาสิ่งแวดล้อมดังกล่าว เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่ต้องการสนับสนุนสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการมีกรอบระยะเวลาประมาณ 2 ปี ขอย้ำว่า โครงการดังกล่าวยังอยู่ในช่วงของการศึกษาความเป็นไปได้เท่านั้น กองทัพบกยังไม่มีนโยบายที่จะดำเนินโครงการในเชิงพาณิชย์”

แม้ผู้แทนกองทัพจะยืนยันว่า เป็นเพียงแนวคิดและอยู่ในช่วงของการศึกษาความเป็นไปได้ แต่กลับมีกระแสข่าวเล็ดลอดออกมาว่า มีการเตรียมรายงานผลศึกษาที่ว่าต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการในช่วงเดือน เม.ย.นี้ไปแล้ว


ท่ามกลางความงวยงงของผู้คนในแวงวงพลังงาน แม้แต่ “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน” หรือ “กกพ.” เองก็ยังไม่มีใครออกมาแสดงความเห็นหรือท่าทีใดๆ ต่อเรื่องนี้  ไม่แน่ใจว่ากำลัง “เมาหมัด” จากศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลที่เพิ่งเสร็จสิ้นลงไป หรือเพราะต่างกำลัง “ช็อคตาตั้ง” ที่จู่ ๆ แผนพัฒนาพลังงานของประเทศ และแผนผลิตกำลังไฟฟ้าของประเทศ PDP2018 ฉบับปรับปรุงกันจนปรุ กำลังเดินมาถึงจุดเปลี่ยนที่กระทรวงพลังงาน และ กกพ.อาจถูกเตะโด่งออกไปอยู่นอกวงโคจรเสียเองหรืออย่างไร !

เหตุใดและทำไมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ถึงเดินหน้านำร่องโครงการนี้ไปก่อนที่กระทรวงพลังงานจะล่วงรู้เสียอีก และเหตุใดภาคเอกชนถึงตบเท้าเตรียมเข้าร่วมโครงการนี้ โดยไม่ได้มีการหารือใดๆ กับ กกพ.และกระทรวงพลังงานเลยแม้แต่น้อย

หรือว่านี่คือการปฏิรูปพลังงานที่ทุกฝ่ายเพรียกหา!

เมื่อสแกนลงไปดูสถานการณ์พลังงานไฟฟ้า และการจัดหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศในขณะนี้ ที่เศรษฐกิจไทยกำลัง “สำลัก” เชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างหนักหน่วง เรามีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ที่ 28,637 เมกะวัตต์ ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก

ขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศอยู่ที่ 46,475 เมกะวัตต์ หรือมีกำลังการผลิตสำรองสูงถึง 59% และยังมีคงโรงไฟฟ้าอีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง เฉพาะโครงการที่กลุ่มบริษัทพลังงานยักษ์ ก็คาดว่าจะมีกำลังผลิตใหม่เข้าระบบมากถึง 6,940 เมกะวัตต์ จนกระทรวงพลังงานเองยังต้อง “กุมขมับ” กระแสเรียกร้องจากทุกภาคส่วนที่ถั่งโถมให้กระทรวงพลังงานได้ทบทวนสำรองไฟฟ้าส่วนเกิน เพื่อไม่ให้เป็นภาระซ้ำเติมประชาชน ยังคงถั่งโถมเข้าใส่กระทรวงพลังงานเป็นรายวัน

หากมีการผลักดันโครงการเมกะ โซลาร์ฟาร์ม 30,000 เมกะวัตต์นี้เข้ามาอยู่ในแผนผลิตไฟฟ้า PDP2018 ฉบับพิสดารได้อีก จะยิ่งส่งผลกระทบต่อแผนการผลิตไฟฟ้าในภาพรวม เพราะแผน PDP 2018 ฉบับล่าสุดที่เพิ่งผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ไปเมื่อ 20 ตุลาคม 2563  นั้น ได้วางแผนผลิตไฟฟ้าถึงปี 2580 เอาไว้ 77,211 เมกะวัตต์ หากจะบรรจุกำลังผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ ฟาร์มเข้ามาเพิ่มอีก 30,000 เมกะวัตต์ ก็คงต้องไปหั่นกำลังการผลิตไฟฟ้าเดิมที่วางยุทธศาสตร์เอาไว้ก่อนหน้าใหม่ทั้งหมด ทั้งไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกอื่น ๆ

หาไม่แล้วประชาชนคนไทยคงได้สำลักค่าไฟฟ้าส่วนเกินกันไปตลอดศกแน่ เพราะไม่รู้ผลิตมาแล้วจะไปขายใคร จะไปขายแข่งเพื่อนบ้าน สปป.ลาว ที่ประกาศตัวเองเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” หรือเวียดนามที่เดินหน้าผลิตไฟฟ้าทั้งจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน และนิวเคลียร์ไปแล้วนั้น ทุกฝ่ายต่างรู้กันอยู่เต็มอก เราไม่มีทางไปแข่งต้นทุนกับเขาได้เลย

เหนือสิ่งอื่นใดในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านพลังงาน ที่ “หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” ใช้อำนาจตามมาตรา 44  และรัฐบาลปฏิรูป คสช. ได้จัดตั้งคณะกรรมการยุทศาสตร์ขาติดำเนินการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ ในระยะ 20 ปีข้างหน้า ซึ่งก็ก็รวมไปถึงยุทธศาสตร์ชาติด้านพลังงานนั้น

หาได้มีเรื่องของโซลาร์ ฟาร์มของกองทัพบกแทรกเป็นยาดำอยู่ด้วย และในยุทธศาสตร์พลังงานอันเป็นแผนปฏิบัติของกระทรวงพลังงาน ก็ไม่ได้มีโซลาร์ฟาร์มขนาดมหึมาของกองทัพเบียดแทรกเข้ามาเป็นยาดำ โอกาสที่จะประเคนโครงการนี้ให้รัฐมนตรีกลาโหมสนับสนุนอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้

หาไม่แล้วนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่อนุมัติแผนผลิตกำลังการไฟฟ้า PDP2018 มากับมือคงตอบคำถามตัวเองไม่ถูก!

นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลของพลพรรคฝ่ายค้านที่มีการพาดพิงมาถึงผลประโยชน์ทั้งหลายทั้งปวงของที่ดินทหารนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ที่ดินราชพัสดุนั้น ไม่ใช่ที่ดินกองทัพบก แต่กรมธนารักษ์มอบหมายให้กระทรวงกลาโหมดูแลรักษา ใครจะใช้ต้องไปขออนุมัติผ่านกรมธนารักษ์ มายังกองทัพบกก่อนจะให้ก็ต้องดูในส่วนของความจำเป็นด้วย ทหารเป็นเพียงผู้ดูแลเท่านั้น ไม่ใช่เจ้าของ มีกติกากฎหมายในการดูแลหมด

แต่เมื่อหันมาดูโครงการ Mega Solar Farm  30,000 เมกะวัตต์ ที่ผู้แทนกองทัพบกกำลังผลักดันอย่างสุดขั้วอยู่ในขณะนี้  มันช่างย้อนแย้งกับสิ่งที่นายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนโดยสิ้นเชิง!


นี่ยังไม่รวมกับปัญหาที่จะมีตามมาอีกว่า หากต้องเดินหน้าโครงการนี้จริงๆ กองทัพบกจะนำงบประมาณส่วนไหนไปร่วมลงทุนกับเอกชน เพราะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล โดยหากคิดจากโครงการนำร่องที่กองทัพได้ลงนาม MOU กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ในการลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มขนาด 300 เมกะวัตต์ ที่คาดจะใช้เงินลงทุน 6,000-7,000 ล้านบาท หากจะต้องลงทุนทั้งโครงการ 30,000 เมกะวัตต์ ที่ต้องใช้เงินลงทุน 600,000-700,000 ล้านบาทนั้น กองทัพจะนำงบประมาณจากไหนมาลงทุน?

หากจะตีมูลค่าที่ดิน ที่ราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลของกองทัพ ที่คาดว่าจะใช้ที่ดินราว 30,000 ไร่ มาใช้กับโครงการนี้ ก็ยังคงมีปัญหาตามมาอีกว่า ที่ดินราชพัสดุเหล่านั้นเป็นที่ดินของรัฐที่กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เพียงมอบหมายให้กองทัพดูแลเพื่อภารกิจของกองทัพเท่านั้น หากจะนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ก็คงจะมีปัญหาตามมาอีกว่า จะต้องทำสัญญาเช่าจากกรมธนารักษ์โดยตรง หรือกับกองทัพกันแน่ และผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะต้องนำส่งเข้ารัฐคือกรมธนารักษ์หรือไม่?

เห็นแล้วก็ให้นึกย้อนไปถึงเมื่อครั้งที่ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ได้ผุดโครงการ “มือถือ อผศ.” ที่จะออกมาแก้ลำมือถือจากค่ายยักษ์โทรคมนาคมทั้งหลายแหล่ในช่วงปี 2540-41 เหลือหลาย

ในเวลานั้น ทุกฝ่ายต่างเอือมระอากับค่าบริการมือถือ ที่นัยว่าแพงและต้องเสียค่าเช่าเครื่อง ค่าบริการโทรเข้า-ออก จึงมีกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (หรือบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ ในปัจจุบัน) ผุดไอเดีย มือถือ อผศ.ราคาถูกออกมาแก้ลำ มีการเดินเครื่องไปถึงขั้นผ่านการอนุมัติในระดับบอร์ด ทศท.ในเวลานั้น และระดับรัฐบาลเสียด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายก็มาตายน้ำตื้น เมื่อจะต้องจัดหางบมาลงทุนกันเป็นแสนล้านที่ไม่พ้นจะต้องลากเอาภาษีประชาชนคนไทยนั่นแหล่ะไปแบกรับ

มาถึงโครงการ “เมกะโซลาร์ ฟาร์ม” นี้ก็เช่นกัน ไม่เพียงจะเป็นโครงการที่ไม่มีที่มาที่ไปแล้ว บทที่จะต้องดึงกองทัพเข้าไปร่วมลงทุนกับเอกชน ก็ไม่รู้จะมีโอ้โม่งที่ไหนดอดเข้ามาสวมรอย หรือหากจะต้องเข้าไปร่วมจริง ๆ ก็ยังต้องมาพิจารณาอีกว่า ต้องดึงเม็ดเงินภาษีประชาชนไปแบกรับภาระหรือไม่

สุดท้าย แทนที่โครงการ “เมกะโซลาร์ ฟาร์ม” จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาด ก็อาจกลายเป็นตัวถ่วงสร้างภาระซ้ำเติมผู้บริโภคและภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่กำลังย่ำแย่จากวิกฤติเศรษฐกิจอันเนื่องจากโควิดหนักเข้าไปอีกหรือไม่!

http://www.natethip.com/news.php?id=3714

www.mitihoon.com