TKS บอร์ดชงจ่ายปันผลครึ่งปีหลัง 0.20 บาท/หุ้น แย้มปี 64 กลับมาโตใกล้เคียง 2,500 ลบ. พร้อมรุกธุรกิจลาเบลและแพคเกจจิ้ง

145

 

มิติหุ้น-TKS ประเมินผลงานปี 2564 ฟื้นตัวชัดเจน ตั้งธงรายได้โตใกล้เคียงปี 62 ซึ่งอยู่ที่ราว 2,500 ลบ.
พร้อมเดินหน้าประมูลงานใหม่ทั้งรัฐ-เอกชนต่อเนื่อง โชว์ Backlog ปัจจุบันมากกว่าร้อยละ 70 ของเป้าหมายยอดขายปี 2564 เผยผลงานปี 2563 มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 1,891.6 ลบ. มีกำไรสุทธิ 231.1 ลบ. และความสำเร็จในการปรับโครงสร้างกิจการ หนุนต้นทุนการผลิตลดลง อัตรากำไรดีขึ้น ด้านบอร์ดมีมตินำเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติจ่ายปันผลงวดครึ่งปีหลังเป็นเงินสด 0.20 บาท/หุ้น ขึ้น XD วันที่ 15 มีนาคมนี้  กำหนดจ่ายปันผลวันที่ 21 พฤษภาคม 2564  

นายจุติพันธุ์ มงคลสุธี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.เค.เอส.เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ TKS
ผู้ประกอบธุรกิจ Security Printing ครบวงจรรายใหญ่ของประเทศ เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในงวด ปี 2563(1 ม.ค.-31 ธ.ค.2563) บริษัทฯมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 1,891.6 ล้านบาท  ลดลง 605.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.2 จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 2,496.9 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นผลให้ยอดขายสินค้าในกลุ่มธนาคารและการส่งออกชะลอตัวลง

อย่างไรก็ตาม จากผลของการปรับโครงสร้างกิจการของกลุ่มบริษัทในธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ตั้งแต่ไตรมาส 2/2563 เป็นต้นมา ก่อให้เกิดการประหยัดต่อขอบเขต (Economy of scope) ซึ่งช่วยให้สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ ทำให้ภาพรวมอัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มเพิ่มสูงขึ้น โดยกลุ่มบริษัทยังคงสามารถบริการจัดการค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยมีกำไรสุทธิ 231.1 ล้านบาท ลดลง 178.7 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 43.6 เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 409.8 ล้านบาท

“ในปี 2563 รายได้และกำไรที่ลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้รายได้ในกลุ่ม Security Document Solution (โซลูชันเอกสารความปลอดภัย)  และ Card Solution ลดลงอย่างมีสาระสำคัญ โดยมีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 424.1 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 20.4  ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอยู่ที่ 409.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.9 สาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจากการปรับโครงสร้างกิจการ หากไม่นับค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียวดังกล่าว กลุ่มบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลงจากปีก่อน 27 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการค้าร่วมเพิ่มขึ้น 48 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.8” นายจุติพันธุ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการตอบแทนผู้ถือหุ้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสดจากผลการดำเนินงานปี 2563 ในอัตราหุ้นละ 0.26 บาท คิดเป็นเงินปันผลรวมทั้งสิ้น 120.18 ล้านบาท  ทั้งนี้ บริษัทฯได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้ว ในอัตราหุ้นละ 0.06 บาท และสำหรับงวด 6 เดือนหลัง สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ให้จ่ายปันผลเป็นเงินสดในอัตราหุ้นละ 0.20  บาท  กำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่  15 มีนาคม 2564  และกำหนดการจ่ายเงินปันผลในวันที่  21 พฤษภาคม 2564

นายจุติพันธุ์ กล่าวถึงแผนการดำเนินงานในปี 2564 ว่า บริษัทฯวางเป้าหมายการเติบโตของรายได้จะกลับไปใกล้เคียงหรือดีกว่าเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีรายได้จากการขายและการให้บริการอยู่ที่ 2,496.9 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 409.8 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักๆ เป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างองค์กรทำให้บริษัทมีการบริหารงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังคงมีความสนใจและมองหาโอกาสเข้าร่วมประมูลงานเกี่ยวเนื่อง Printing ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือรอการทยอยส่งมอบ (Backlog) แล้วกว่า 70% ของเป้าหมายยอดขายรวมปี 2564 แล้ว ซึ่งรอบการรับรู้รายได้อยู่ที่ประมาณ 3-4 เดือน ส่งผลให้บริษัทมั่นใจว่าผลการดำเนินงานในปี 2564 จะดีกว่าปี 2563 ส่วนการกลับมาแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และขยายตัวเป็นวงกว้างในตอนนี้นั้น มองว่าอาจส่งผลกระทบต่อโอกาสที่จะได้งานใหม่ต้องล่าช้าหรือเลื่อนกำหนดออกไปบ้างในระยะสั้น แต่ยังยืนยันว่าทิศทางผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2564 ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีกว่าเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน

ขณะเดียวกันบริษัทก็จะมุ่งเน้นการทำตลาดของธุรกิจลาเบล (Label) และแพคเกจจิ้งให้มากขึ้น เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีมาก โดยเฉพาะแพคเกจจิ้ง เป็นเทรนด์ที่มีความต้องการใช้งานสูง พร้อมกันนี้บริษัทยังพิจารณาที่จะทำคลังสินค้า โดยบริษัทมีฐานลูกค้าบ้างแล้วในกลุ่ม B2B และเชื่อว่าจะเป็นโอกาสที่จะสร้างรายได้ให้แก่บริษัทอีกทางในอนาคตด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการกลับมาแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาปรับแผนงานและจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารบริษัท (บอร์ด) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564

นอกจากนี้ คาดว่าการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนดีกว่าปีก่อน จากการถือหุ้นในบริษัท ทีบีเอสพี จำกัด (มหาชน) หรือ TBSP ในสัดส่วนร้อยละ 97.14  โดยแนวโน้มผลงานของ TBSP ในปี 2564 นี้ คาดว่าจะมีการเติบโตที่ดีขึ้นจากปี 2563 จากการรับงานใหม่ๆ เข้ามาเพิ่ม รวมถึงสามารถรับงานผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้ อย่างเช่น งานพิมพ์สมาร์ทลาเบล ที่ทำให้กับลูกค้าต่างประเทศที่บวกเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้าไปด้วย เป็นต้น

ส่วนบริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SYNEX บริษัทถือหุ้นอยู่ที่ร้อยละ 38.51 ในปี 2563 เป็นปีที่ท้าทาย แต่ SYNEX ก็สามารถผลักดันกำไรให้เติบโตขึ้น จากการบริหารจัดการ Product Mix ที่หลากหลาย ครอบคลุมแบรนด์ชั้นนำในตลาด โดยงบปี 63 กำไรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22.53 อยู่ที่ 642 ล้านบาท แม้ว่ารายได้จะลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ 32,149 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการเน้นทำกำไรให้ดีขึ้น ท่ามกลางความต้องการสินค้าไอทีเพิ่มสูงขึ้น การแข่งขันลดลง แนวโน้มปี 2564 ประเมินตลาดไอทีจะกลับมาเติบโตอย่างเต็มที่ หลังปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบในแง่สินค้าขาดตลาด รับวิถีชีวิตใหม่ของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสินค้าเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น

www.mitihoon.com