IRCP คว้างานประกันสังคม 837 ล้าน!! เดินหน้าเทิร์นอะราวด์ มั่นใจแผนปรับโครงสร้างทุนฉลุย

210

มิติหุ้น – นายแดน เหตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสริช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IRCP ผู้ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่มีประสบการณ์มายาวนานกว่า 34 ปี เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการมีมติให้มีการปรับโครงสร้างทุนครั้งใหญ่ของบริษัท โดยให้มีการลดทุนและเพิ่มทุนจดทะเบียน ด้วยการลดมูลค่าราคาพาร์จาก 1 บาท เหลือ 0.50 บาท และเพิ่มทุนจดทะเบียนขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมนั้น เป้าหมายของการดำเนินการทั้งหมดเพื่อให้ IRCP มีโครงสร้างทุนที่แข็งแกร่ง และมีเงินทุนใหม่ เพื่อนำมารองรับการขยายธุรกิจ และรับงานใหม่ ๆ เพื่อสร้างการเติบโต ทำให้ผลดำเนินงานกลับมาเทิร์นอะราวด์ มีรายได้และกำไรเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและเพื่อนำกำไรและส่วนเกินผู้ถือหุ้นมาล้างขาดทุนสะสม เพื่อให้สามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้  หลังจากที่ผู้ถือหุ้นไม่ได้รับผลตอบแทนเป็นเงินปันผลมานาน

ทั้งนี้ ล่าสุด บริษัทได้รับหนังสือแจ้งจากทางสำนักงานประกันสังคม(สปส.)ว่าเป็นผู้ชนะการเสนอราคาในโครงการปรับเปลี่ยนระบบงานประกันสังคมบนเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมเป็นระบบ Web Application ตามประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่องประกาศผู้ชนะการเสนอราคา ประกวดราคาจ้างโครงการปรับเปลี่ยนระบบงานประกันสังคมบนเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมเป็นระบบ Web Application ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยเสนอราคาเป็นเงินทั้งสิ้น 837.88  ล้านบาท ซึ่งถ้าหากไม่มีการยื่นอุทธรณ์จากผู้ร่วมประมูลรายอื่นภายใน 7วันก็จะเข้าสู่ขั้นตอนในการเซ็นสัญญาต่อไป

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสริช คอร์ปอเรชั่น  กล่าวว่า แผนปรับโครงสร้างทุนทั้งหมด เมื่อได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ในวันที่ 9 เมษายน 2564 นี้แล้ว บริษัทจะมีการลดทุนและคาดว่าจะมีการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นได้ช่วงเดือน ก.ค.2564 และจะมีการล้างขาดทุนสะสมบางส่วน จาก ณ สิ้นปี 2563 ในงบการเงินเฉพาะกิจการมีขาดทุนสะสมอยู่ 297 ล้านบาท ก็จะลดลงเหลือเพียง 27.47 ล้านบาท    และคาดว่าผลดำเนินงานที่เทิร์นอะราวด์ ได้อย่างต่อเนื่อง จะทำให้สามารถล้างขาดทุนได้หมดภายในปีหน้า

“เงินที่ได้จากการเพิ่มทุนยังจะทำให้บริษัทมีสภาพคล่อง มีความคล่องตัวและทำให้มีความสามารถในการรับงาน ได้เพิ่มขึ้น เพราะมีแหล่งเงินทุนใหม่เข้ามา จากเดิมที่กว่า 70% เป็นเงินกู้จากสถาบันการเงิน และ30% เป็นเงินส่วนทุนของบริษัท ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถขยายกิจการ รองรับการประมูลงานในโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐได้มากขึ้น โดยปีนี้มีแผนเข้าร่วมประมูลงานภาครัฐมากกว่า 20 โครงการ มูลค่ารวมกันมากกว่า 1 พันล้านบาท เพื่อเพิ่มมูลค่างานในมือ (backlog) ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้และความมั่นคงให้กับบริษัทได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2564 จะสร้างรายได้ให้เติบโตขึ้นจากปี 2563 เกินกว่า 50 % โดยสิ้นปี 2563 บริษัทมีรายได้ 942.26 ล้านบาท และยังมีงานในมือที่เตรียมทยอยรับรู้รายได้ภายในปี 2564 อีกราว 350 ล้านบาท”  นายแดนกล่าว

นายแดนยังกล่าวว่า เงินที่ได้จากการเพิ่มทุน นอกจากทำให้โครงสร้างทุนแข็งแกร่งขึ้นแล้ว ยังทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุนมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยหลังเพิ่มทุนสำเร็จจะกดให้หนี้สินต่อทุนลดลงทันที ส่งผลให้ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของบริษัทดีขึ้น และทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทลดลง

นายแดนกล่าวด้วยว่า มั่นใจว่าผู้ถือหุ้นจะให้การสนับสนุนการเพิ่มทุนครั้งนี้ เพื่อสร้างการเติบโตและความมั่นคงให้กับบริษัท ทั้งนี้ จะมีการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน ให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (RO) จำนวน 181.25 ล้านหุ้น ในสัดส่วน 1.4 หุ้นเดิม                 ต่อ 1 หุ้นเพิ่มทุนใหม่ โดยเสนอขายที่ราคา 0.80 บาท คิดเป็นมูลค่าการระดมทุนทั้งสิ้น 145 ล้านบาทและเป็นการเสนอขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาหุ้นในตลาด จึงมั่นใจว่าผู้ถือหุ้นจะให้การสนับสนุนการเพิ่มทุนในครั้งนี้อย่างแน่นอน และที่สำคัญตนและนายประชา  เหตระกูล ซึ่งเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่พร้อมใช้สิทธิเพิ่มทุนเต็มสิทธิที่ได้และพร้อมใช้สิทธิส่วนเกินหากมีหุ้นเพิ่มทุนเหลืออยู่

“ผมและคุณพ่อคือนายประชา เหตระกูล พร้อมใช้สิทธิในการเพิ่มทุนเต็มที่ตามสิทธิที่ถือหุ้นอยู่ และพร้อมใช้เกินส่วนสิทธิ หากมีผู้ถือหุ้นรายอื่นไม่ใช้สิทธิ เพราะเรามีความพร้อมและมีความมั่นใจในทิศทางธุรกิจ ที่สำคัญเรามีความมุ่งมั่นในการสร้างการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับบริษัท โดยตลอด 1 ปี 8 เดือน ที่ผมเข้ามาเป็นซีอีโอธุรกิจกลับมาเทิร์นอะราวด์ได้อย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากปี 2563 ที่พลิกกลับมามีกำไรสุทธิ 7.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 107.39 % เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 101.45 ล้านบาท ซึ่งผมและคุณพ่อได้แจ้งเจตจำนงต่อที่ประชุมบอร์ดไปแล้ว ในการขอผ่อนผันการเทนเดอร์ออฟเฟอร์หุ้นทั้งหมด กรณีที่ต้องใช้สิทธิเพิ่มทุนในส่วนเกินสิทธิจนอาจทำให้สัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นจนเข้าเกณฑ์ต้องทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ เพราะต้องการให้ IRCP ยังคงเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์” นายแดนกล่าว

ด้านนายอดิศร  สิงห์ฤาเดช  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอที กรีน จำกัด (มหาชน) (ITG) บริษัทย่อย ที่ IRCP ถือหุ้นอยู่  91.14% ผู้ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าไอทีประเภทผลิตภัณฑ์ระดับองค์กร กล่าวว่า ที่ผ่านมา ITG มีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นโดยตลอดมา มีเพียงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่มีการระบาดของโควิด-19 และมีการปรับพอร์ตสินค้า ทำให้ยอดขายลดลงมาบ้าง  แต่บริษัทยังคงทำกำไรได้ทุกปี ซึ่งในปี 2563 มีรายได้ 486.51 ล้านบาท  และมั่นใจว่าธุรกิจของ ITG ยังมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น ทำให้มีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเพิ่มขึ้น ถือเป็นโอกาสของธุรกิจภายใต้ภาวะวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น

“เครือข่ายข้อมูลทั้งแบบมีสายและไร้สาย (Wired & Wirelees Network) ขณะที่ “ความปลอดภัยทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร” (ICT Security) และ“ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล” (Data Privacy) ถือเป็นโอกาสของธุรกิจอุปกรณ์เครือข่ายและโปรแกรมระบบรักษาความปลอดภัยของเครือข่าย ที่มีแนวโน้มเติบโตได้อีกมากตามธุรกรรมบนโลกออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น เพราะสินค้าหลักของ ไอทีกรีน คือ สินค้าที่จัดการเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยข้อมูลให้กับองค์กร ภายใต้กลุ่มผลิตภัณฑ์ด้าน Network & Security ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าว่าจะสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นทุกปีและเพิ่มขึ้นแตะระดับ  1,000 ล้านบาทต่อปีให้ได้ภายใน 5 ปีนี้” นายอดิศร กล่าว

www.mitihoon.com