มิติหุ้น-บริษัท อินเวสทรี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการเงินทุนด้วยแพลทฟอร์มคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) สำหรับธุรกิจรายย่อยไปจนถึงระดับกลาง (SMEs) ที่ต้องการต่อสายป่านในการดำเนินธุรกิจ เดินหน้ารุกตลาดทุนและสินเชื่อเพื่อธุรกิจเต็มตัว หลังได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ชูโซลูชั่นการลงทุนที่เป็น “เพื่อนแท้” เชื่อมนักลงทุนช่วย SMEs ไทยเข้าถึงแหล่งทุน
นางสาวณัทสุดา พุกกะณะสุต ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเวสทรี ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า เป้าหมายของอินเวสทรี คือ ต้องการเป็น “โซลูชั่น” ที่ช่วยให้ SMEs ทำธุรกิจได้ต่ออย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องกังวลถึงแหล่งเงินทุน ในเวลาเดียวกันเราก็เป็น “โซลูชั่น” ให้นักลงทุนในการเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ และอิสรภาพในด้านการลงทุน ด้วยระบบ Crowdfunding ซึ่งเป็นการระดมทุนจากคนหมู่มากที่เป็นได้ทั้งบุคคลและสถาบัน เพื่อสนับสนุนกิจกรรม โครงการ หรือธุรกิจต่าง ๆ โดยได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม
“เราทำหน้าที่เป็นตัวกลางระดมทุนผ่านช่องทางบนระบบอินเตอร์เน็ต ที่เรียกว่า “Crowdfunding Portal” เชื่อมต่อระหว่างผู้ออมเงินและผู้ขอออกหุ้นกู้ฯ ภายใต้ระบบที่โปร่งใสและน่าเชื่อถือ ซึ่งจะช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีความยืดหยุ่นได้อย่างรวดเร็วและประหยัดมากขึ้น ขณะที่ผู้ออมเงินหรือนักลงทุนก็จะได้รับการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนแบบใหม่ที่เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า ในภาวะที่สินทรัพย์การลงทุนอื่นไม่ตอบโจทย์ในเรื่องความสมดุลระหว่างความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนการลงทุน”
นับตั้งแต่ปี 2018 ที่บริษัทฯ เปิดตัวในไประเทศไทย ในฐานะผู้ให้บริการเงินทุนแก่ธุรกิจรายย่อยไปจนถึงระดับกลาง (SMEs) พบว่าปัญหาสำคัญของ SMEs ไทยในช่วงโควิด-19 คือ คู่ค้าหรือลูกค้ายืดเวลาการชำระเงินค่าสินค้าออก ทำให้ขาดสภาพคล่องระยะสั้น แต่ SMEs กลับเข้าไม่ถึงสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้ไม่มีกระแสเงินสดมาหมุนในธุรกิจได้ทันเวลา หลายรายจึงต้องกู้เงินนอกระบบ
“เพราะการเงินเป็นเรื่องของความเชื่อมั่น (Trust) ดังนั้น บริษัทฯ จึงลงทุนด้วยเงินของบริษัทฯ เองก่อน เพื่อทดสอบระบบ โมเดลให้คะแนนความน่าเชื่อถือด้านการชำระหนี้ (Credit Scoring Model) และเกณฑ์การคัดเลือก SMEs ที่จะขอกู้ ซึ่งผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ เราได้ผลตอบแทนเงินลงทุนเฉลี่ย 14% ต่อปี และยังไม่มีลูกหนี้รายใดเป็นหนี้เสีย โดยเราตั้งเป้าบริหารอัตราหนี้เสียให้อยู่ไม่เกิน 3% ทำให้วันนี้เราพร้อมที่จะเชื่อมต่อนักลงทุนกับ SMEs ไทยผ่าน Crowdfunding Platform ของ อินเวสทรี ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต” นางสาวณัทสุดา กล่าวย้ำ
นางสาวณัทสุดา กล่าวว่า “อินเวสทรีเป็นผู้ให้บริการ Investment-based Crowdfunding ในรูปแบบของการออกหุ้นกู้ ที่เป็นการระดมทุนรูปแบบเดียวที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ซึ่งการที่ผู้เล่นรายใดจะได้รับใบอนุญาตมานั้น ไม่ง่าย นอกจากนี้ เรายังมีเกณฑ์การคัดเลือกผู้ขอกู้ที่ชัดเจน คือ ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ทำธุรกิจมาแล้ว 1-2 ปี มีคู่ค้าที่ดีหรือมีใบแจ้งหนี้ (Invoice Financing) มีธุรกรรมซื้อขายบนระบบออนไลน์ และมีโอกาสไปต่อถ้าได้รับเงินทุน และนักลงทุนยังมั่นใจได้ว่าเงินลงทุนจะถูกส่งถึง SMEs เพราะเงินของนักลงทุนจะไปเก็บที่ “ผู้รับฝากทรัพย์สิน (Custodian)” ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต. เช่นกัน”
นายวรกร สิริจินดา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อินเวสทรี ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “หุ้นกู้ฯ ของเราจัดเป็น unrated high yield bond อายุตั้งแต่ 1 เดือน – 2 ปี ที่ไม่มีหลักทรัพย์ ค้ำประกัน แต่ช่วง โควิด-19 เราจำกัดให้อายุไม่เกิน 1 ปี เพื่อลดความเสี่ยงให้นักลงทุน หุ้นกู้ฯ นี้ออกโดย SMEs ที่เราได้คัดเลือกมาให้ในระดับหนึ่งแล้ว โดยทีมผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ความเสี่ยงของ SMEs และยังมีระบบ จัดอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ขอออกหุ้นกู้ (Credit Worthiness Rating) ซึ่งคำนวณจากหลายปัจจัยที่สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของกิจการ เพื่อช่วยให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม สูงสุดอาจถึง 26% ต่อปี ซึ่งก็มาพร้อมความเสี่ยง เทียบกับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยตอนนี้ ที่ผลตอบแทนไม่สูงนักแต่ความผันผวนเฉลี่ยสูงถึง 30% และที่สำคัญ การลงทุนในหุ้นกู้ย่อมได้สิทธิดีกว่าลงทุนในหุ้น เพราะเป็นสิทธิในฐานะเจ้าหนี้ของกิจการ มีสิทธิได้เงินคืนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ แต่ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลก่อนลงทุน และต้องกระจายการลงทุน”
นายวรกร แนะนำว่า การลงทุนภายในพอร์ตหุ้นกู้ฯ เอง นักลงทุนก็ควรเลือกลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย และถ้าจะให้เกิดประโยชน์สูงสุด นักลงทุนควรเลือกธุรกิจที่ตนมีความรู้ความเข้าใจ หรือมีความสนใจลงทุนในธุรกิจประเภทนั้น โดยอินเวสทรี มีเป้าหมายให้มีหุ้นกู้จากหลากหลายอุตสาหกรรมให้นักลงทุนเลือกลงทุน และใช้เงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาทต่อหุ้นกู้ ทำให้แม้แต่นักลงทุนรายย่อยก็สามารถกระจายการลงทุนได้อย่างสะดวก อย่างไรก็ดี เกณฑ์ ก.ล.ต. ยังจำกัดให้นักลงทุนรายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดาสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อหุ้นกู้ฯ และลงทุนบนระบบ Crowdfunding ทั้งหมดไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนที่มีความมั่งคั่งสูง นิติบุคคลหรือมีบุคคลที่ความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน (Accredited Investor) สามารถลงทุนได้ไม่จำกัดวงเงิน
นางสาวณัทสุดา กล่าวเพิ่มเติมว่า “สมัยก่อน ผู้ออมเงินยังไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะโดยธรรมชาติของกลไกตลาดทุน เงินทุนมักไหลไปที่ธุรกิจรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเงินฝาก หรือกองทุนรวม เงินออมเหล่านั้นก็มักจะไหลไปลงทุนในหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ แต่วันนี้ พัฒนาการทางเทคโนโลยีและเกณฑ์การกำกับดูแลทำให้เกิด “เครื่องมือ” ที่สร้างความเท่าเทียมในการให้บริการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน นวัตกรรมการ
ลงทุนอย่าง Investment Crowdfunding ช่วยให้การลงทุนมีความเป็นธรรม (Fairness) เพิ่มขึ้นและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ในต่างประเทศ Crowdfunding นั้นเกิดมานานแล้ว เพราะในมุมผู้ขอระดมทุน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก วิธีนี้ช่วยให้เข้าถึงเงินทุนได้สะดวก ในมุมนักลงทุน วิธีนี้เป็นโอกาสกระจายการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย และทำให้ทุกคนมีโอกาสลงทุนอย่างเท่าเทียมกัน”
“SMEs เป็นเส้นเลือดฝอยของระบบเศรษฐกิจไทย แต่โอกาสเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs กลับมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของ GDP ขณะที่สินเชื่อภาคธุรกิจมีถึง 85% ของ GDP จะเห็นว่ามันมี Credit Gap ที่ใหญ่มากในระบบการเงินไทย ซึ่งเป็นแบบนี้ในหลายประเทศเช่นกัน ทั้งนี้ เราอยากให้นักลงทุนลองคิดดูว่า ถ้าคุณมีเงินพร้อมลงทุน เข้าใจความเสี่ยงของ SME และอยากช่วย SME ที่เขามีความพร้อมให้ผลตอบแทนนักลทุงนที่เหมาะสม อินเวสทรีก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลงทุน” นางสาวณัทสุดา ฝากไว้ให้คิด
www.mitihoon.com