กสทช. …ทำไมถึง “ไม่ตรงปก?”

582

หลังจากเส้นทางการสรรหาและแต่งตั้ง “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ” หรือ “กสทช” ของวุฒิสภา ต้องสะดุดตอ “ล้มเหลว” ไปถึง 2 ครั้ง 2 คราว..

โดยครั้งแรกเมื่อเมษายน ปี 2561 ที่ประชุมวุฒิสมาชิกได้โหวตคว่ำ รายชื่อ “ว่าที่ กสทช.” ทั้ง 14 คน ที่ คณะกรรมการสรรหาและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เสนอขึ้นมา เนื่องจากบรรดาว่าที่ กสทช.ที่ส่งนั้น มาล้วนมีปัญหาด้านคุณสมบัติ “ไม่ตรงปก”

ก่อนที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในเวลานั้นจะงัดคำสั่ง ม. 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 8/2562 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 62 ระงับกระบวนการสรรหา และให้ กสทช. ที่ทำหน้าที่อยู่ในเวลานั้นทำหน้าที่ต่อไปแทน

ครั้งล่าสุด เมื่อขวบเดือนที่ผ่านมา ที่ประชุมวุฒิสภา ก็ “ล้มกระดาน” กระบวนการสรรหา และ 14 รายชื่อว่าที่ กสทช.ชุดใหม่ อีกคำรบ ด้วยการชิงทำคลอด พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2564 ตัดหน้า หลังจากได้เห็นโฉมหน้า 14 ว่าที่ กสทช. แล้วยังคง “ไม่ตรงปก” อีก ทำให้ต้องริเริ่มกระบวนการสรรหา กสทช.ใหม่ยกชุด ซึ่งเท่ากับเป็นการล้มกระบวนการสรรหา กสทช. ชุดใหม่ ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาส่งมาโดยปริยาย!

การที่ที่ประชุมวุฒิสภา สั่งล้มกระบวนการสรรหา กสทช. ไปถึง 2 คำรบ ด้วยเหตุบรรดารายชื่อว่าที่ กสทช.ที่ส่งเข้ามา “ไม่ตรงปก” นั้น มันสะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการสรรหา กสทช. ภายใต้การขับเคลื่อนของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และโดยเฉพาะ “คณะกรรมการสรรหา กสทช.” นั้น

ทำหน้าที่ได้อย่างบกพร่อง ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง! จึงทำให้รายชื่อ “ว่าที่ กสทช.” ที่ส่งไปยังที่ประชุมวุฒิสภาไม่ได้รับการยอมรับ และถึงขั้นตั้งข้อกังขาว่า “มีวาระซ่อนเร้น” จนต้องโหวตล้มถีบหัวส่งไปถึง 2 ครั้ง 2 ครา เพราะไม่อาจจะยอมรับได้

ก็น่าจะเป็นจริงตามนั้น เพราะหากย้อนรอยไปดูกระบวนการสรรหาทั้ง 2 รอบจะเห็นได้ว่า “คณะกรรมการสรรหา กสทช. มีการดำเนินการอย่างหละหลวม ไม่รัดกุมมาตั้งแต่แรก” การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการสรรหา ซึ่งตามประกาศหลักเกณฑ์สรรหา และ พ.ร.บ.กสทช.นั้น จะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่จะเป็น กสทช.อย่างเข้มงวดทุกกระเบียดนิ้ว

แต่ที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหานั้น ไม่เคยได้ล้วงลูกลงไปตรวจสอบ ประสานขอข้อมูลเหล่านี้ในเชิงลึกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ

อาทิ การตรวจสอบดูความประพฤติ ดูประวัติอาชญากรรม  ที่สามารถตรวจสอบไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ หรือการตรวจสอบการถือครองหุ้น ว่าขัดกฎหมายหรือไม่ ก็สามารถร้องขอข้อมูลไปยังคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ได้ เช่นเดียวกับการตรวจสอบ ข้อมูลด้านการเงิน มีความผิดปกติ มีประวัติการฟอกเงินหรือไม่อย่างไร ก็สามารถขอข้อมูลไปยัง ป.ป.ช. หรือแม้กระทั่งเรื่องของประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ในกิจการวิทยุ กิจการโทรทัศน์หรือโทรคมนาคม ก็สามารถร้องขอข้อมูลไปยัง กสทช. ได้ รวมถึงการตรวจสอบความประพฤติและจริยธรรมที่ดี

ตรงกันข้าม ว่าที่ กสทช. แต่ละพะหน่อที่เล็ดรอดผ่านตระแกงสรรหาในช่วงที่ผ่านมานั้น ล้วนแล้วแต่ถูกตั้งข้อ “กังขา” ผ่านคุณสมบัติมาได้อย่างไร ทั้งที่ควรจะตกตั้งแต่แรกแล้ว  แต่เพราะคณะกรรมการสรรหาไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นกันให้ถ้วนถี่ ทำแบบลวกๆ แบบขอไปที

เมื่อรายชื่อว่าที่ กสทช.เหล่านี้เล็ดรอดส่งไปถึงที่ประชุมวุฒิสภา จึงถูกถลกหนังหัว ถูกประจานความฉาวโฉ่ กระทำกันแบบลวกๆ จนงานเข้า ต้องล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่ากันอย่างที่เห็น

อย่าง 14 ว่าที่ กสทช.รอบล่าสุด ที่คณะกรรมการสรรหาส่งเข้าสู่ประชุมวุฒิสภานั้น 7-8 รายชื่อว่าที่ กสทช. ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามา ก็ถูกสังคมตั้งข้อกังขากรรมการคัดเลือกพิจารณากันอีท่าไหนถึงปล่อยผ่านเข้ามาได้สุด “โหลยโท่ย” ได้ขนาดนี้

ประเภทเป็นทหารอากาศ (ขาดรัก) มาทั้งชีวิต แต่กลับได้รับการคัดเลือกในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการกระจายเสียง ซึ่งขัดแย้ง ไม่เป็นไปตามตัวบทกฎหมายแม้แต่น้อย แล้วอย่างนี้จะไปสร้างความน่าเชื่อถือให้กับ องค์กร กสทช.ได้อย่างไร

กับการสรรหา กสทช.ระลอกใหม่ ที่กำลังจะมีขึ้นในระยะไม่ถึงขวบเดือนนับจากนี้ จะว่าไป หลักเกณฑ์ในการสรรหาว่าที่ กสทช. ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายก็มีความชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว หากคณะกรรมการสรรหาที่มาจากตัวแทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ทำหน้าที่อย่างมีหลักการ จุดยืนไม่ทำตัวเป็น “ไม้หลักปักเลน” ยึดตัวบทกฎหมายมันคงไม่เกิดปัญหาโลกแตกดังที่เป็นอยู่แน่

แต่หากกระบวนการสรรหายังคงเป็นไปตามอีหรอบเดิม ภายใต้คณะกรรมการสรรหาที่กฏหมายกำหนดเอาไว้ภายใต้การโม่แป้งของ 7 อรหันต์สรรหา ที่ไม่ได้มีความรู้ ความเข้าใจในบทบาท อำนาจหน้าที่ขององค์กร กสทช.อะไรเลยนั้น

หลายฝ่าย ต่างแสดงความเป็นกังวล …อะไรจะเกิดขึ้น?

หากคณะกรรมการสรรหายังตงขาดความรู้ ความเข้าใจ และยังไม่เข้าใจบทบาท ความสำคัญ และเป้าหมายของการสรรหา กสทช.ใดๆ เลย แถมระยะเวลาที่ต้องดำเนินการสรรหา ก็กระชั้นชิด ทั้งที่ปกติควรใช้เวลา 3-5 เดือน เพื่อจะได้กลลั่นกรองตัวบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ กสทช.ได้สมความมุ่งหมาย

ก็คงหนีไม่พ้นที่เราจะได้ ว่าที่ กสทช. “ไม่ตรงปก” คือได้บุคคลที่เต็มไปด้วยบาดแผล ไม่ตรงปก ขาดความรู้ ความเชี่ยวชาญที่แท้จริง เผลอๆ อาจได้บุคคลที่กลุ่มทุนการเมือง ผู้มีอำนาจ หรือ Invisible Hand ที่ไหนก็ไม่รู้ คอยชักใยอยู่เบื้องหลัง ซึ่งนั้นจะเป็นอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อสถานะองค์กร กสทช.อย่างยิ่งยวด

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้น ไม่เพียงกระทบต่อวุฒิสภาในฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่สรรหากรรมการในหน่วยวานหรือองค์กรอิสระแล้ว ยังกระทบต่ออนาคตของ กสทช. รวมทั้งยังทำร้ายโอกาสของประเทศ ทั้งที่เราได้เห็นตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพราะประเทศจะสูญเสียโอกาสในการพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมไปเท่าไหร่

บรรดาสถานีวิทยุกระจายเสียง วิทยุชุมชนที่กำลังรอ กสทช.เข้ามาจัดระเบียบการออกอากาศก็คงจะหาวเรอรอกันต่อไป เข่นเดียวกับกิจการทีวีดิจิตอล ที่กำลังสำลักพิษจากธุรกิจโฆษณาที่ทรุดฮวบลง

หรือบรรดาผู้ให้บริการเคเบิ้ลทีวีทีวีดาวเทียมที่ปราศจากการควบคุม ออกอากาศกันได้ตามอำเภอใจ แทบจะขายยาเสริมอึ๋ม เสริมหน้าอกปลุกเซ็กส์ เสกเครื่องรางของขลังกันเป็นหลักไปแล้ววันนี้

ตั้งสตินับหนึ่งใหม่ “กลัดกระดุมให้ถูกเม็ด” กันอีกที และหวังว่าคราวนี้ คงจะไม่จบลงด้วยการล้มกระบวนการสรรหาเป็นคำรบที่ 3 เพราะถ้าหากยังต้องล้มไปอีกคำรบ ก็อย่ามีมันเลย คณะกรรมการสรรหาที่ว่านั่น
       
ให้ไอ้เด็กเมื่อวานซืน ม็อบคอซอง เด็กเลวทั้งหลายแหล่มาช่วยแต่งตั้งให้แทนจะดีกว่า อย่างน้อยยังมีหลักการจุดยืนที่หนักแน่นยิ่งกว่า “คนแก่กินหญ้า” ซะอีก!

ที่มา : http://www.natethip.com/news.php?id=3751

โดยม้าเฉียวดูหุ้น The Future

www.mitihoon.com