GFC เผยไทยมีแนวโน้มอัตราการเจริญพันธุ์เหลือ 1.5 เทียบเคียงประเทศญี่ปุ่น

102

มิติหุ้น – นายกรพัส อัจฉริยมานีกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ จำกัด (GFC) ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเปิดเผยว่า จากผลการสำรวจและสถานการณ์ของประชากรในปัจจุบัน ประเทศไทยเป็น 1 ใน 23 ประเทศที่มีงานวิจัยระบุว่า ในอีก 80 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรจะลดลงจาก 71 ล้านคน เหลือเพียง 35 ล้านคน ซึ่งสาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ค่านิยมการอยู่เป็นโสด ผู้หญิงมีความสามารถและการศึกษาสูงขึ้น ต้องการทำงานสร้างฐานะเป็นอันดับแรก ชะลอเรื่องการแต่งงานมีครอบครัว ประกอบกับข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าสถิติทางสาธารณสุขของอัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate – TFR) ของประเทศไทยลดลงเหลือเพียง 1.5 ซึ่งเป็นอัตราเทียบเคียงกับประเทศญี่ปุ่น และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ส่งผลให้ในอนาคตประเทศไทยจะประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานและก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว จากการที่กลุ่มคนวัยทำงานตัดสินใจมีบุตรในช่วงอายุที่มากขึ้น ประกอบกับความเครียดจากการทำงาน ทำให้คู่สมรสหลายคู่ต้องหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีทางการแพทย์ จากปัจจัยดังกล่าว GFC ในฐานะที่ปรึกษาและศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากที่เปิดดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 5 มองว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจและแสดงถึงศักยภาพทางการแพทย์ของไทย โดยพบว่าในปี 2562 การให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศราว 4,500 ล้านบาท

  “ปัจจุบันความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์มีการพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทช่วยด้านการเจริญพันธุ์ นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีศักยภาพที่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ใช้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งกลุ่มลูกค้าของ GFC  เป็นคนไทยประมาณ 90 % ส่วนอีก 10 % เป็นกลุ่มที่สามีหรือภรรยาเป็นคนไทยกับคนต่างชาติ

 ด้าน รศ.นพ.พิทักษ์  เลาห์เกริกเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากศริริราชและประธานกรรมการบริหาร            เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ (GFC) กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการมีบุตรยากของคนไทยเพิ่มมากขึ้นทุกปี เนื่องจากรอความพร้อมด้านการเงิน หน้าที่การงาน ส่งผลให้แต่งงานช้าลง โดยความต้องการมีบุตรอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 35 – 40 ปี  ซึ่ง 85% ของคู่สมรสจะสามารถมีบุตรได้ภายใน 1 ปี หลังการแต่งงานและ 95% ของคู่สมรสจะมีบุตรได้ภายใน  2 ปี หากเกินช่วงเวลาดังกล่าวจะถูกจัดในภาวะมีบุตรยาก ซึ่งการมีบุตรตอนอายุมากโดยเฉพาะผู้หญิงที่อายุ 35 ปีขึ้นไป ความสมบูรณ์ของไข่จะมีน้อยและคุณภาพไข่ไม่ดี ส่วนผู้หญิงที่อายุเกิน 48 ปี ไม่ควรท้องด้วยวิธีธรรมชาติ เนื่องจากเป็นช่วงที่สุขภาพและความพร้อมของร่างกายไม่สมบูรณ์เต็มที่เหมือนช่วงวัยหนุ่มสาว  ส่งผลให้เด็กที่เกิดมีโอกาสเป็นดาวน์ซินโดรมได้ ดังนั้นการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาช่วยจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะวิธีทำเด็กหลอดแก้วและ NGS เพื่อตรวจความสมบูรณ์ของโครโมโซม

พญ.ปรวัน ตั้งธรรม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ของ Genesis Fertility Center และ        ผู้ก่อตั้งเพจ มีลูกยาก ปรึกษาหมอมิ้งค์ กล่าวเสริมว่า GFC มีเทคโนโลยีชื่อ Eeva ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเลือกตัวอ่อนใหม่ล่าสุด ที่ GFC Clinic นำมาใช้แห่งแรกในประเทศไทย โดยมีใช้ในต่างประเทศมาประมาณ 5 ปี ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าว สามารถเลือกตัวอ่อนได้มีประสิทธิภาพและแม่นยำ เนื่องจากมีการนำระบบ AI มาใช้ในการตรวจจับการเติบโตของตัวอ่อน ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อคัดเลือกตัวอ่อนที่ดีที่สุดในการนำมาฝังตัว ซึ่งเมื่อทำเด็กหลอดแก้วร่วมกับการตรวจ NGS จะสามารถเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์สูงถึง 73% เมื่อเทียบกับมาตรฐานที่อื่นซึ่งมีอัตราตั้งครรภ์อยู่ที่ประมาณ 30-50 %  สำหรับจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ การเป็นตู้เลี้ยงตัวอ่อนแยกของแต่ละเคส โดย   ตู้เลี้ยง 1 ตู้สำหรับ1 คนไข้ ไม่ใส่รวมปะปนกัน เพื่อลดการรบกวน พร้อมควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสม เพราะเราให้ความสำคัญกับความสำเร็จของคนไข้เป็นอันดับแรก พญ.ปรวัน ตั้งธรรม กล่าว

www.mitihoon.com