7UP ปักธงรายได้โต50% ผงาดขึ้นเป็นSouth Waterเน้นให้บริการน้ำในพื้นที่ภาคใต้

179

 

มิติหุ้น-7UP เดินหน้าลุยธุรกิจน้ำ ดันเป็นเรือธงสร้างรายได้หลัก-มาร์จิ้นสูง ลุ้นขายน้ำประปาภูเก็ตเพิ่ม! หลังกปภ.เลิกสัญญาซื้อเอกชน 7 ราย เหตุขาดคุณสมบัติไม่มีสัมปทานและใบ รง.4 อนาคตหวังผงาดขึ้นเป็น SOUTH  WATER ขณะที่ธุรกิจบำบัดน้ำเพื่อใช้เลี้ยงกุ้งให้ซีพีเอฟโตก้าวกระโดด มั่นใจปี 64 รายได้โต 50% และเติบโตต่อเนื่องในปี 65

นายมนต์เทพ มะเปี่ยม รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูทิลิตี้ส์แอนด์พาวเวอร์ จำกัด(มหาชน) หรือ7UP เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัทฯในปี 2564-2565 คาดว่าจะรักษาการเติบโตในระดับสูงอย่างต่อเนื่องจากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 122.66 ล้านบาท  หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตจากปีก่อนหน้า 162.74%

ในปี 2564 บริษัทฯตั้งเป้าหมายรายได้รวมจะมีจำนวน 2,000 -2,200 ล้านบาท เติบโตราว 50% ธุรกิจน้ำจะเริ่มสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯอย่างมีนัยสำคัญ โดยธุรกิจขายน้ำประปาในจังหวัดภูเก็ต ดำเนินการภายใต้ บริษัท โกลด์ ชอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือนั้น พบว่าชนะประกวดราคา ขายน้ำเฟสที่ 2 ให้การประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.) จำนวน 7,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้เร็วๆนี้  หลังได้ดำเนินการขายน้ำให้กับการประปาภูเก็ต เฟส 1 แล้ว ปริมาณ 3,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

การประปาส่วนภูมิภาคในจังหวัดภูเก็ตมีแผนจะเปิดรับซื้อน้ำอีก  26,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวันนั้น บริษัทมีความมั่นใจและมีความพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะเข้าร่วมประกวดราคา  เพราะมีแหล่งน้ำดิบรองรับเพียงพอ ภายหลังเข้าไปลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำดิบที่จังหวัดพังงา ในพื้นที่เหมืองเก่าขนาด 340 ไร่  ผลิตน้ำได้ 48,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และสร้างท่อขนส่งรองรับไว้แล้ว  ที่สำคัญ โกลด์ ชอร์ส เป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวในจังหวัดภูเก็ต ที่มีใบอนุญาตหรือได้รับสัมปทานการขายน้ำให้ กปภ.ได้อย่างถูกต้องตามปว.58 จากกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม อายุ 20ปี และขอขยายเพิ่มอีก 10 ปี รวมเป็น 30 ปี  ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของเอกชนที่จะขายน้ำให้ กปภ.ได้ นอกจากที่ต้องมีใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานหรือรง.4 แล้ว หลังจากต้นปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันบริษัทฯ ถือหุ้นใน โกลด์ ชอร์ส สัดส่วน  41%และยืนยันเจตนารมณ์เดิมจะซื้อหุ้นเพิ่มเป็น 80% โดยโกลด์ชอร์ส ยังกำหนดขายให้โรงแรมและภาคธุรกิจอื่นๆในภูเก็ตอีกด้วย โดยเฉพาะรัฐบาลเตรียมเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และมีผลเป็นลบ สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้นั้น คาดว่าจะส่งผลดีต่อปริมาณการใช้น้ำในจังหวัดภูเก็ต  และมีแผนผลิตน้ำอาร์โอ (RO) คือนำน้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำจืดขายในเกาะพีพี เกาะยาวน้อย และเกาะท่องเที่ยวต่างๆ เป็นต้น ซึ่งมีความต้องการน้ำจืดปริมาณมาก และขายได้ในราคาสูง  โดยตั้งเป้าเป็น SOUTH WATER ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้บริการประชาชนและธุรกิจท่องเที่ยวครอบคลุมภาคใต้ทั้งหมดร่วมกับ กปภ.

“หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายและประเทศไทยได้เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว จะสนับสนุนให้ความต้องการใช้น้ำในภูเก็ตเพิ่มขึ้น ซึ่งเฟส 2 คาดว่ารายได้จะเริ่มเข้ามาครึ่งปีหลัง สอดรับกับความต้องการน้ำและการท่องเที่ยวที่จะกลับมา ทำให้รายได้ครึ่งปีหลังต่อเนื่องถึงปีหน้าเพิ่มขึ้น  โดยการลงทุนจำนวนมากได้ผ่านไปแล้ว จากนี้จะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลจากการลงทุน โดยเฉพาะปี 65จะเป็นปีที่จะมีการเติบโตขึ้นได้อย่างมาก เพราะจะเริ่มรับรู้รายได้จากธุรกิจน้ำเต็มปี”

นายมนต์เทพกล่าวต่อว่า สำหรับธุรกิจบริหารจัดการงานวิศวกรรมทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม ภายใต้ บริษัท แซม วอเตอร์ ซัพพลาย จำกัด(SAM) โดยบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 51% ปัจจุบันได้สัญญาขายน้ำที่ผ่านการบำบัดน้ำด้วยระบบ Ultrafiltration และผ่านการกำจัดเชื้อด้วยระบบโอโซน(Ozone Generator) ให้ฟาร์มเลี้ยงกุ้งของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด(มหาชน) หรือCPF จำนวน 3 เฟส รวม 124,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และกำลังขยายเฟส 4 เพิ่มอีก 60,000  ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยขยายได้เต็มกำลังผลิตที่ 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน  และCPF มีความสนใจที่จะร่วมทุนขยายและพัฒนาธุรกิจกับบริษัทเพิ่มขึ้น

“ธุรกิจน้ำประปาและธุรกิจบำบัดน้ำขายให้ซีพีเอฟเพื่อใช้เลี้ยงกุ้งนี้ ถือเป็นธุรกิจที่มีอนาคตเติบโตได้อีกมาก ที่สำคัญเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรขั้นต้น สูงถึง 50-60%  ส่วนกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ยังคงสร้างรายได้และกำไรต่อเนื่อง แต่บริษัทมีแผนจะขายบางกลุ่มธุรกิจที่ไม่มีความเชี่ยวชาญออก ซึ่งจะบันทึกเป็นรายได้ และนำเงินที่ได้มาขยายธุรกิจด้านน้ำเพิ่มขึ้นอีก โดยปี 64 ตั้งเป้าล้างขาดทุนสะสมให้หมด เพื่อกลับมาจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้”

นายประทีป กุศลวัฒนะ ผู้อำนวยการการประภาส่วนภูมิภาคเขต4 กล่าวว่า กปภ.ได้ยกเลิกสัญญาซื้อน้ำดิบจากผู้ประกอบการ 7 รายในภูเก็ต ซึ่งมีสัญญาซื้อน้ำรวม 18,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และอยู่ระหว่างพิจารณาอีก 1 รายมีสัญญาซื้อรวม 28,000  ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งถ้ายกเลิกทั้งหมดจะทำให้น้ำดิบที่รับซื้อหายไป 46,000 ลูกบาศก์เมตร สาเหตุที่ยกเลิกเนื่องจากพบว่าผู้ประกอบการบางรายไม่มีใบอนุญาตโรงงานหรือรง.4 และทุกรายไม่ได้รับสัมปทานจากกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ตามประกาศ ปว. 58 ซึ่งกำหนดไว้ชัดเจนว่า กปภ.จะรับซื้อน้ำจากเอกชนที่มีสัมปทานและ รง.4 เท่านั้น

ทั้งนี้ กปภ.ภูเก็ต มีกำลังผลิตน้ำประปาวันละ 90,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่ผลิตได้จริง 40,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เนื่องจากรับน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานได้ 40,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันเท่านั้น  และจำเป็นต้องสำรองน้ำในอ่างเก็บน้ำ 80% เพื่อความมั่นคงและรับมือภัยแล้ง  โดยภาวะปกติความต้องการใช้น้ำในภูเก็ตจะอยู่ที่ 120,000-200,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ดังนั้นน้ำส่วนที่ขาดก็จะต้องรับซื้อจากเอกชนเพื่อมาขายให้ประชาชนและภาคธุรกิจ โรงแรมต่างๆ ซึ่งราคารับซื้อเฉลี่ยที่ 15-16 บาทต่อลูกบาศก์เมตร แต่ราคาขายเฉลี่ย 23 บาท โดยขายให้ประชาชน 10-13 บาทและภาคธุรกิจตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไปจนถึง 60บาท โดยคิดในอัตราก้าวหน้าคือใช้มากต้องจ่ายในราคาที่สูงขึ้น

“ช่วงวิกฤตโควิดความต้องการใช้น้ำลดลงมา 50% และทำให้รายได้ของ กฟภ.ลดลง 50%จากภาวะปกติ แต่ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้ เป็นต้นไป คาดว่าการท่องเที่ยวภูเก็ตจะกลับมาและความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นตาม โดยภาวะปกติเกาะภูเก็ตมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นทุกปีจากเมืองที่เติบโตขึ้นและจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น” นายประทีปกล่าว

www.mitihoon.com