สถานการณ์ตลาดน้ำมัน สัปดาห์ที่ 29 มี.ค.- 2 เม.ย. 64 และแนวโน้ม 5 – 9 เม.ย. 64

36

 

โดยหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (หมายเหตุ : 2 เม.ย. 64 เป็นวันหยุด Good Friday)

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก         

  • ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Joe Biden ประกาศแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ จาก COVID-19 แพร่ระบาด เป็นวงเงินกว่า
    2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ครอบคลุมระยะเวลา 8 ปี โดยจะเน้นโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ระบบคมนาคมขนส่ง (6.21 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ) ระบบสาธารณูประโภค เช่น การประปาและไฟฟ้า (3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ) ระบบอุตสาหกรรมและงานวิจัย (5.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ) และระบบสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ (4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ)
    ทั้งนี้จะขึ้นภาษีนิติบุคคลจาก 21% กลับไปอยู่ที่ 28% เพื่อสนับสนุนแผนข้างต้น
  • กลุ่ม OPEC ส่งสัญญาณเชิงบวกโดยประเมินว่าอุปสงค์น้ำมันโลกปี พ.ศ. 2564 จะเพิ่มขึ้น 5.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปี พ.ศ. 2563 มาอยู่ที่ 96 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ     

  • หลายประเทศในยุโรปมีมาตรการยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 อาทิ ฝรั่งเศส โดยประธานาธิบดี นาย Emmanuel Macron ประกาศ Lockdown ประเทศรอบ 3 หลังจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดนี้เพิ่มขึ้นสู่ระดับ
    หนึ่งแสนราย ซึ่งอาจทำให้ระบบสาธารณะสุขของประเทศไม่สามารถรองรับผู้ป่วย นอกจากนี้มีการหยุดฉีดวัคซีนในยุโรปเป็นระยะเนื่องจากปัญหาผลข้างเคียง

แนวโน้มราคาน้ำมัน                                                                                                                                       ตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มเป็นขาลง หลังจากเรือขนส่งสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งเรือขนส่งน้ำมันที่จอดรอเข้าคลองสุเอซ จำนวน 61 ลำสุดท้าย สามารถสัญจรผ่านคลองฯ ได้หมด ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 64 ประกอบกับนักลงทุนกังวลต่ออุปทานน้ำมันในตลาดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังกลุ่ม  OPEC+ (ร่วมกับประเทศผู้ผลิตนอกกลุ่ม นำโดยรัสเซีย) มีมติเพิ่มปริมาณการผลิตเป็นขั้นบันไดในช่วง พ.ค.– ก.ค. 64  โดยจะผ่อนคลายการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ มาอยู่ที่ 6.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน, 6.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 5.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะลดปริมาณการผลิต 6.9  ล้านบาร์เรลต่อวัน เดือน พ.ค.–  มิ.ย. 64 โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบียที่อาสาลดปริมาณการผลิตน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วง ก.พ.- เม.ย. 64 นั้น จะผ่อนคลายการลดปริมาณการผลิตน้ำมัน เป็น 0.75 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. 64 ตามลำดับ

ให้ติดตามการประชุมข้อตกลงนิวเคลียร์ (Joint Comprehensive Plan of Action: JCPOA) ระหว่างอิหร่าน และกลุ่มประเทศมหาอำนาจโลก ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย วันที่ 6  เม.ย. 64 เพื่อควบคุมการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านอีกครั้ง หากการเจรจาลุล่วงบรรลุผลสำเร็จ สหรัฐฯ จะกลับมาเข้าร่วม และยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่าน ซึ่งจะทำให้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น

www.mitihoon.com