มิติหุ้น – ชัยนาท เป็นจังหวัดเล็กๆ ทางภาคกลางตอนบนของไทย มีความอุดมสมบูรณ์มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย มีแม่น้ำท่าจีนตัดผ่าน ดินดี ปลูกอะไรก็ขึ้น จนเรียกได้ว่าเป็น ‘อู่ข้าวอู่น้ำ’ ของภาคกลาง เช่นเดียวกับสุพรรณบุรีและพระนครศรีอยุธยา โดยกว่าครึ่งนั้นเป็นพื้นที่ปลูกข้าว และของดีที่พลาดไม่ได้ก็คือ ‘ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา’ ที่มีรสชาติดี ผลกลม ผิวเรียบ เปลือกบาง รสหวานกลมกล่อม จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าวิถีชีวิตของชาวชัยนาทล้วนมีความผูกผันกับเกษตรกรรมอย่างลึกซึ้ง
“เมื่อก่อนบ้านเราอุดมสมบูรณ์ มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี ทำให้ปีหนึ่งๆ สามารถปลูกข้าวได้ถึง 3 รอบต่อปี แต่เมื่อราว 8-9 ปีที่แล้ว ชัยนาทเกิดปัญหาภัยแล้งรุนแรงครั้งแรก น้ำน้อย จากปลูกได้ 3 รอบเหลือเพียง 1 รอบต่อปี นั่นหมายถึงรายได้ของพวกเราที่ลดลงไปด้วย” ทิพษ์วัน เนตรนาค ผู้ใหญ่บ้านหญิงคนแรกแห่งบ้านท่าสำโรง อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท หรือชาวบ้านเรียกเธอว่า ‘ผู้ใหญ่เกิ้ง’ ปูพื้นเรื่องราวชีวิตของชาวสรรคบุรี กับทาง dtacblog
กัดฟันสู้ความยากจนเธอเล่าต่อว่า “ด้วยความที่เป็นผู้หญิงคนแรกซึ่งเข้ามารับหน้าที่ผู้ใหญ่บ้าน ทำให้ชาวบ้านหาว่าฉันเป็นคนนำโชคไม่ดีเข้ามาแก่ชาวบ้านท่าสำโรง จึงได้เกิดอาเพศขึ้น”
แม้จะมีเสียงค่อนขอดมากเพียงใดก็ตาม แต่ด้วยหน้าที่ของการเป็นผู้นำชุมชน ประกอบกับสถานการณ์ที่ย่ำแย่ ชาวบ้านไม่มีเงินส่งลูกไปโรงเรียน เธอเป็นตัวแทนของชุมชนไปปรึกษาหาทางออกกับพระครูแห่งวัดสกุณาราม ศูนย์รวมจิตใจของชุมชน ท่านจึงให้เด็กผู้ชายมาบวชเณร ขณะที่พระครูนั้นไปบิณฑบาตที่ตลาดนอกชุมชนมาให้เด็กๆ ได้มีข้าวประทังชีวิต
แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น ชาวบ้านอยู่ในสภาพอดอยาก ไม่มีอะไรกิน แม้แต่ผักก็ปลูกไม่ขึ้น จากอู่ข้าวอู่น้ำถูกแทนที่ด้วยความแห้งแล้ง ผู้ใหญ่เกิ้งจึงคิดหาทางออกด้วยการหาอาชีพเสริมให้แก่คนในชุมชน ด้วยการทำขนมไทยขาย ซึ่งเป็นอีกภูมิปัญญาที่ชาวชัยนาทสั่งสมกันมานับร้อยปี
“วันนั้นพี่ต้องทำทุกทางเพื่อให้คนในชุมชนมีกิน ชาวบ้านทำส้มแผ่น กล้วยตาก ทำขนม ทำทุกอย่างที่พอทำได้ จากนั้นพี่จะนำสินค้าไปขายที่ตลาด อตก. ขายได้บ้าง ขายไม่ได้บ้าง แต่พี่ต้องขายให้หมด ให้ได้เงินมามากที่สุด พี่ไม่อาย เพราะพวกเขารอพี่อยู่” เธอเล่าพร้อมสายตาอันมุ่งมั่นและนั่นเป็นจุดเริ่มต้นการรวมกลุ่มของชาวบ้านในนาม ‘วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านอินเตอร์ (ผู้ใหญ่เกิ้ง)’
วงจรหนี้จากเกษตรกรรมผู้ใหญ่เกิ้งฉายภาพปัญหาความยากจนในพื้นที่ว่า “ทุกคนที่นี่มีอาชีพเกษตรกรรม ทำนากันมาทั้งชีวิต พี่เองก็มีอาชีพทำนา แต่ถ้าถามว่าตั้งแต่ทำนาทำการเกษตรมา มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นบ้างหรือไม่ พี่ตอบเลยว่า ‘ไม่’ หากมีชาวบ้านทำนา 100 ราย จะมีคนที่อยู่รอด สามารถมีกินมีใช้ ไม่เป็นหนี้เพียง 2 รายเท่านั้น”เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จราว 2 เปอร์เซ็นต์นั้น คือครัวเรือนที่สามารถผลิตข้าวได้ 1-1.5 เกวียนต่อไร่ ราคาข้าวในปัจจุบันมีราคาตกเกวียนละประมาณ 8,000-8,600 บาท ซึ่งถือเป็นราคาที่ดีแล้ว
“ปลูกข้าวคร้ังนึง ขาดทุนย่อยยับ เงินที่กู้มาลงปุ๋ยไปหมดแล้ว แต่ฝนไม่มา พันธุ์ข้าวตายคาต้นกลายเป็นหนี้ หลายบ้านเลยเปลี่ยนไปปลูกผักเพื่อนำไปขายตามตลาดนัด อย่างน้อยก็ยังมีเงินไว้ใช้จ่ายบ้าง ไม่อย่างนั้น ไม่มีเงินชงกาแฟกินแล้ว” ยายพิศ สมาชิกของชาวบ้านท่าสำโรง กล่าวแกมตลกถึงความจริงอันแสนเจ็บปวด
โดยปกติภาครัฐ โดยสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) จะมีการจัดสรรเงินประชารัฐ ภายใต้โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากในลักษณะกองทุนหมู่บ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะครบรอบในทุก 4 เดือน แต่พอครบ 4 เดือนแล้ว ผลปรากฎว่า “ทุนก็ไม่ได้ ขาดทุนยับเยิน” ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่อยู่ในภาวะ ‘เป็นหนี้’ แบบไม่รู้จบสิ้น “กำไรไม่มี แต่ทำ (เกษตร) เพราะความเคยชิน” ผู้ใหญ่เกิ้งกล่าวเสริม
ขนมโกออนไลน์ต่อชีวิต ณ ศาลาประชาคมกองทุนหมู่บ้าน บ้านท่าสำโรง ขณะที่กลุ่มชาวบ้านผู้สูงอายุและกลุ่มแม่บ้านกำลังรวมกลุ่ม เพื่อเรียนอาชีพเสริม ทีม ‘ดีแทคเน็ตทำกิน’ ได้ลงพื้นที่และเห็นโอกาสของการทำตลาด ‘ข้าวเหนียวหน้าควายลุย’ ผ่านออนไลน์ ด้วยชื่อขนมที่แปลก ประกอบกับรสชาติที่อร่อย กลมกล่อม ไม่หวานแหลม ทำให้เพียงปรับเรื่องการตกแต่ง สีสัน และบรรจุภัณฑ์ ให้เข้ากับผู้บริโภคยุคใหม่เสียหน่อย ก็มีโอกาสทำตลาดได้
ข้าวเหนียวหน้าควายลุยเป็นขนมโบราณของชาวไทยทรงดำ หากินได้เฉพาะที่ อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท เท่านั้น โดยทำมาจากถั่วเขียวและเผือก กวนรวมกับกะทิแล้วใส่น้ำตาลโตนด แล้วกวนให้เข้ากันจนออกมาเป็นลักษณะเหมือนโคลนในปลักควาย อันเป็นที่มาของขนมไทยชื่อแปลกนี้
“ก่อนหน้านี้ พี่ไม่รู้จักออนไลน์เลย ก็ได้ทีมเน็ตทำกินเขามาช่วย วางอย่างนี้สิ เอาดอกไม้มาตกแต่งให้สวยสิ เปิดเพจออนไลน์ให้ สอนถ่ายรูปทำยังไงให้สวย ให้น่ากิน จนตอนนี้ใครๆ ก็รู้จักข้าวเหนียวหน้าควายลุย ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นโรงแรม บางช่วงมีออเดอร์เยอะจนทำไม่ทันก็มี” ผู้ใหญ่เกิ้งเล่าอย่างมีความสุข
จากวันที่ได้พบกับทีมดีแทคเน็ตทำกิน ซึ่งช่วยทั้งการพัฒนาสินค้าและการตลาดออนไลน์ ทำให้ชาวบ้านในชุมชนบ้านท่าสำโรงทุกวันนี้ พอจะเริ่มลืมตาอ้าปากได้บ้าง จนตอนนี้ขนมอย่างข้าวเหนียวหน้าควายลุย เปียกปูนกะทิสด ขนมต้ม สาคู และขนมเค้กหน้ามะพร้าว ได้กลายเป็น ‘เส้นเลือด’ หล่อเลี้ยงชาวชุมชนบ้านท่าสำโรง อย่างน้อยลงแรงลงเงินไปแล้วก็ยังมี ‘กำไร’ กลับมาให้ชื่นใจ
www.mitihoon.com