“เอเอ็มอาร์ เอเซีย” ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 150 ล้านหุ้นเข้า SET

112

มิติหุ้น-  บมจ. เอเอ็มอาร์ เอเซีย (AMR) ผู้นำวิศวกรรมออกแบบ และเชื่อมต่อระบบไอทีโซลูชั่น (System Integrator: SI) ยื่นไฟลิ่งขายไอพีโอ จำนวน 150 ล้านหุ้น เตรียมเข้าจดทะเบียนใน SET โดยมี บล.ทรีนีตี้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน หวังระดมทุนเพื่อใช้พัฒนาธุรกิจด้านระบบคมนาคมขนส่ง และเมืองอัจฉริยะ รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาด้านการให้บริการ และต่อยอดเทคโนโลยี ตลอดจนเป็นเงินทุนหมุนเวียน

นาย ดิถดนัย สังขะรมย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMR เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบ Filing) แบบคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งแรกต่อประชาชน (IPO) ให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้วโดยจะเสนอขายหุ้นจำนวน 150,000,000 หุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ประชาชน ซึ่งจำนวนหุ้นดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 25.00 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายครั้งนี้ ทั้งนี้หากขั้นตอนการดำเนินงานเป็นไปตามที่กำหนดไว้คาดว่าจะสามารถระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หมวดธุรกิจ (Sector) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ได้ภายในปีนี้

ทั้งนี้ AMR ดำเนินธุรกิจด้านวิศวกรรมออกแบบและเชื่อมต่อระบบไอทีโซลูชั่น (System Integrator: SI) รวมถึงให้บริการงานดูแลรักษาและซ่อมบำรุงระบบเทคโนโลยีแบบครบวงจร โดยผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัทฯ สามารถจำแนกออกเป็น 3 ประเภทตามโครงสร้างรายได้ ได้แก่ (1) งานให้บริการวางระบบ (2) งานให้บริการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง และ (3) การจำหน่ายผลิตภัณฑ์

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท และทุนที่เรียกชำระแล้ว 225 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 450 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ภายหลังการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนในครั้งนี้ บริษัทฯ จะมีทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วจำนวน 300 ล้านบาท

นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์  เอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMR กล่าวว่า เป้าหมายการระดมทุนในครั้งนี้บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้ไปใช้สามส่วนประกอบด้วย 1. เงินลงทุนในการพัฒนาธุรกิจด้านระบบคมนาคมขนส่งและเมืองอัจฉริยะ 2. เงินทุนสำหรับการวิจัยและพัฒนาด้านการให้บริการและต่อยอดเทคโนโลยี และ 3. ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของบริษัทฯ

ส่วนผลการดำเนินงานในปี 2561-2563 บริษัทฯ มีรายได้รวมจำนวน 1,917.83 ล้านบาท 1,467.62 ล้านบาท และ 2,584.07 ล้านบาท ตามลำดับ ประกอบด้วยรายได้จากงานโครงการและการให้บริการ รายได้จากการขาย และรายได้อื่น ในปี 2562 บริษัทฯ มีรายได้รวมลดลงจากปี 2561 จำนวน 450.21 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 23.47 มีสาเหตุหลักมาจากบริษัทฯ อยู่ในช่วงเริ่มดำเนินงานโครงการใหม่ ในปี 2563 ทำให้มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 1,116.45 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 76.07 เนื่องจากทยอยรับรู้รายได้จากงานโครงการตามสัญญา จากผลการดำเนินงานที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ในปี 2561-2563 มีกำไรสุทธิ เท่ากับ 140.99 ล้านบาท 27.39 ล้านบาท และ 247.55 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีอัตรากำไรสุทธิเท่ากับร้อยละ 7.35 ร้อยละ 1.87 และร้อยละ 9.58 ตามลำดับ

สำหรับปี 2563 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากปีก่อน จำนวน 220.16 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 803.78 จากปีก่อน เนื่องจากบริษัทฯ มีการทยอยรับรู้รายได้ในอัตราที่เร่งขึ้นจากงานให้บริการวางระบบ และมีอัตรากำไรขั้นต้นรวมในปี 2563 เท่ากับร้อยละ 20.60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ร้อยละ 18.31 เนื่องจากสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น ส่งผลให้มีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 263.82 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 98.48 จากปีก่อน ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง จึงส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากปีก่อน