วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน

315

 

ราคาน้ำมันดิบผันผวน หลังเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัว ท่ามกลางผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในอินเดียและเยอรมัน (19/4/2021)

+ ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขทางเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัวของจีนและสหรัฐฯ โดยจีนเปิดเผยตัวเลข GDP ไตรมาส 1/64 เติบโตร้อยละ 18.3 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63  ขณะที่ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุด 10 เม.ย. ลดลงแตะระดับ 576,000 ราย โดยเป็นตัวเลขต่ำสุดตั้งแต่กลางเดือนมี.ค.63 นับเป็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน

– ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่โควิด-19 ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอินเดียและเยอรมัน กดดันความต้องการใช้น้ำมัน โดยเยอรมันกำลังพิจารณาบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์และเคอร์ฟิวในพื้นที่ติดเชื้อสูง เพื่อลดการแพร่ระบาด

– ตลาดกังวลปริมาณอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินเพิ่มขึ้น หลังจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 7 แท่น แตะระดับ 439 แท่น ณ สัปดาห์สิ้นสุด 16 เม.ย. 64 โดยเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 63 ตามรายงานของ Baker Hughes นอกจากนั้นบริษัทขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ จำนวน 45 บริษัท เพิ่มงบลงทุนราวร้อยละ 3 ในปี 64 เมื่อเทียบกับ 63 หลังราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูง

ราคาน้ำมันเบนซิน-ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังความต้องการใช้น้ำมันเบนซินสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุด 9 เม.ย. เพิ่มสูงขึ้นแตะรับ 8.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ ส.ค.63 ประกอบกับโรงกลั่น Fuji Oil ของญี่ปุ่นขนาด 143,000 บาร์เรลต่อวัน หยุดซ่อมบำรุงตั้งแต่ปลายเดือนพ.ค. ถึง มิ.ย. 64

ราคาน้ำมันดีเซล-ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ ณ สัปดาห์สิ้นสุด 7 เม.ย. 64 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.67 แตะระดับ 13.43 ล้านบาร์เรล

หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ. ไทยออยล์