กิตติพงษ์ เรือนทิพย์ และพิมฉัตร เอกฉันท์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS
Key Highlights :
- ไทยเผชิญการแพร่ระบาดระลอกใหม่เดือน เม.ย. 2021 จากเชื้อไวรัส COVID-19 กลายพันธุ์ ซึ่งอาจใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือนกว่าสถานการณ์การระบาดรอบนี้จะทยอยคลี่คลาย แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดซ้ำ (Double-dip) และอาจกระทบเศรษฐกิจลากยาวถึง 6 เดือนดังเช่นที่เกิดในอังกฤษ
- Krungthai COMPASS ประเมินรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศหายไปราว 0-18.1 หมื่นล้านบาทนอกเหนือจากนี้ ยังกระทบอุปสงค์ในประเทศที่อาจขาดหายไปถึง 9.1-18.5 หมื่นล้านบาท
- ประมาณการการขยายตัวของจีดีพีสำหรับปี 2021 ลดลงเหลือ 1.5%-3.0% ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) ความสามารถในการจัดการโรคระบาดกลายพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (2) แจกกระจายวัคซีนได้ตามแผน และ (3) รัฐอัดฉีดเม็ดเงินพยุงเศรษฐกิจอีกกว่า 2 แสนล้านบาท แต่หากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งไม่เกิดขึ้น เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวได้น้อยกว่าที่ประมาณการได้
คาดการระบาดรอบนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างน้อย 3 เดือน
ไทยเผชิญการแพร่ระบาดระลอกใหม่เดือน เม.ย. 2021 อีกครั้งหลังเพิ่งผ่านพ้นวิกฤตระบาดระลอกใหม่ไปเมื่อ ม.ค. ที่ผ่านมา โดยช่วงต้นเดือน เม.ย. สัญญาณการแพร่ระบาดระลอกล่าสุดเริ่มชัดเจนขึ้นจากการแพร่ระบาดในคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ ยิ่งกว่านั้น ภายหลังจากที่ตรวจพบว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่รอบนี้ได้รับเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์ (B.117) ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่พบครั้งแรกในอังกฤษ สะท้อนจากตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และแพร่กระจายครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ (รูปที่ 1: ซ้าย)
ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่อาจพุ่งสูงขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประเมินจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันหลังวันหยุดยาวสงกรานต์ไว้ทั้งสิ้น 5 กรณี (รูปที่ 1: ขวา) ซึ่งกรณีที่ 2 ที่ภาครัฐสั่งปิดสถานบันเทิงในจังหวัดเสี่ยงใกล้เคียงกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากที่สุด โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเฉลี่ยอาจสูงถึง 2,996 ราย ซึ่งมากกว่าตัวเลขล่าสุดถึง 2 เท่า (วันที่ 22 เม.ย. อยู่ที่ 1,470 คน)
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาจกินเวลาอย่างน้อย 3 เดือน โดยคาดว่าจะกระทบแผนการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ และส่งผลต่อเนื่องไปยังแผนการกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วง 3 เดือนข้างหน้าที่ทำได้ยากหรืออาจต้องเลื่อนออกไป นอกจากนี้ ยังกระทบต่อกำลังซื้อโดยรวม โดยเฉพาะจากแรงงานในภาคบริการที่ต้องหยุดหรือลดชั่วโมงการทำงาน
จับตา 3 ปัจจัยที่จะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
ประการที่ 1: ความสามารถในการควบคุมโรคระบาดกลายพันธุ์ที่ต้องมีประสิทธิภาพและรัดกุม หากการควบคุมการระบาดขาดประสิทธิภาพหรือผ่อนคลายมาตรการเร็วเกินไป อาจทำให้ต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มข้นกว่าเดิม และต่อเนื่องไปจนกว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดได้ ดังเช่นการระบาดแบบ 2 ระลอกติดกันหรือ Double-dip ในเคสของประเทศอังกฤษ
สำหรับกรณีอังกฤษ พบเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์ (B.117) ครั้งแรก หลังเห็นสัญญาณตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่เร่งตัวขึ้นอย่างมากในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. จากไม่ถึง 1 หมื่นรายต่อวัน จนพุ่งแตะ 3 หมื่นรายต่อวัน ก่อนอังกฤษจะ Lockdown ในเวลาต่อมา อย่างไรก็ดี อังกฤษกลับต้องเผชิญการระบาดแบบ Double-dip หลังยอดผู้ติดเชื้อรายวันกลับมาพุ่งทำสถิติสูงสุดถึงเกือบ 7 หมื่นราย ซึ่งในครั้งนี้อังกฤษต้องยกระดับมาตรการควบคุมโรคให้ยาวนานขึ้นกว่าครั้งก่อน พร้อมกันนี้ยังเร่งระดมฉีดวัคซีนจนได้สัดส่วนผู้ฉีดวัคซีนสะสมเกินครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถควบคุมเชื้อกลายพันธุ์ได้เป็นผลสำเร็จ ก่อนจะประกาศทยอยผ่อนคลาย Lockdown ไปเมื่อไม่นานนี้ ดังจะเห็นได้จากรูปที่ 2
ประการที่ 2: การแจกกระจายวัคซีนในประเทศที่ต้องรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เป็นปัจจัยที่สร้างเสริมความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและประชาชนได้มากที่สุด และจะทำให้ภาพของอุปสงค์ในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยจากข้อมูล Our world in data.org พบว่า ส่วนใหญ่ประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP per capita) สูง จำนวนประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนสะสมก็จะสูงตามไปด้วยเมื่อเทียบกับประเทศรายได้ปานกลาง-ต่ำอย่างแถบอาเซียน อย่างไรก็ดี ไทยซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีรายได้สูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน แต่กลับพบว่า จำนวนโดสสะสมของไทยอยู่ที่เพียง 1.0% ซึ่งต่ำกว่าเพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และลาวค่อนข้างมาก (รูปที่ 3) ซึ่งก็ยิ่งจะทำให้โอกาสที่วัคซีนจะกลายเป็น Game Changer จนสร้างเป็นภูมิคุ้มกันหมู่ได้และพร้อมเปิดประเทศอาจต้องล่าช้าออกไป
ประการที่ 3: เม็ดเงินพยุงเศรษฐกิจที่ต้องเป็นไปอย่าง “ตามเป้า-ต่อเนื่อง-ตรงจุด” ตามเม็ดเงินจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ยังคงเหลืออยู่ราว 2.2 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะถูกนำมาใช้ต่อยอดจากโครงการเดิมที่มีกระแสตอบรับดี เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน หรือเราชนะ เป็นต้น ซึ่งจะเข้ามาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ เสริมให้เศรษฐกิจอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ถึง 1.5% นอกจากนี้ ยังมีเม็ดเงินที่สามารถจัดสรรจากงบกลางได้อีกจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ ภาครัฐยังต้องคำนึงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน (K-shape Recovery) โดยเฉพาะการขยายระยะเวลามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค
Krungthai COMPASS ประเมินเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวในกรอบ 1.5-3.0% ท่ามกลางความเสี่ยงรอบด้าน
การระบาดรอบนี้อาจกระทบเศรษฐกิจอย่างต่ำ 3 เดือน ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการควบคุมโรคว่าจะทำได้รวดเร็วเพียงใด โดยเรามองว่า Base case คือการที่ไทยสามารถควบคุมการระบาดได้ดีอาจกระทบเศรษฐกิจเพียง 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.) แต่หากมีการเกิดการระบาดซ้ำซ้อน (Double-dip) ก็อาจจะกระทบเศรษฐกิจยาวนานถึง 6 เดือน (เม.ย.-ก.ย.) เป็น Worse case
คาดจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศอาจเหลือเพียง 81.6 – 98.6 ล้านคน ดังรูปที่ 4 ในกรณี Base case ที่คาดว่า การท่องเที่ยวในประเทศจะหดตัวในช่วง 3 เดือนดังกล่าว โดยเฉพาะเดือน พ.ค. ก่อนที่ Sentiment จะทยอยกลับมาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศทั้งปีลดลงจากประมาณการเดิมที่ 115.2 ล้านคน มาอยู่ที่ 98.6 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 9 หมื่นล้านบาท และหากเกิดกรณี Worse case ก็จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศเหลือเพียง 81.6 ล้านคน สร้างความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 แสนล้านบาท
คาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 0.1 ล้านคนใน Worse case ในกรณีที่มีการระบาดซ้ำซ้อน คาดว่าจะทำให้แผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในวงกว้างที่เคยประเมินว่าจะสามารถทำได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2021 อาจจะทำไม่ได้
อุปสงค์ในประเทศอาจหายไปถึง 9.1-18.5 หมื่นล้านบาท นอกเหนือจากผลกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวแล้ว Sentiment การบริโภคและลงทุนในประเทศก็คาดว่าจะยังได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยในกรณี Base case ทาง Krungthai COMPASS ประเมินว่า อุปสงค์ในประเทศจะลดลงราว 9.1 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับประมาณการเดิม และหากการระบาดไม่สามารถควบคุมได้ภายใน 3 เดือน อุปสงค์ในประเทศก็อาจได้รับผลกระทบถึง 1.85 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นคราวนี้มีแนวโน้มที่จะรุนแรงกว่าการระบาดครั้งที่ 2 ช่วงเดือน ม.ค. 2021 ที่เห็นชัดจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ภาครัฐมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคบริการที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าอยู่แล้วให้ยิ่งฟื้นตัวช้าขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นมาก หนุนการส่งออกของไทยดีขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มการขยายตัวของจีดีพีราว 0.3% เทียบกับประมาณการเดิม โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้าค่อนข้างมาก จากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ รวมถึงการฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรที่ทำได้ค่อนข้างรวดเร็ว ซึ่งการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้ภาพรวมเศรษฐกิจและการค้าโลกมีทิศทางฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งก็จะส่งผลดีต่ออุปสงค์ต่างประเทศและแนวโน้มการส่งออกของไทยในปีนี้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับประมาณการในครั้งก่อนหน้า
โดยสรุปแล้ว Krungthai COMPASS ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในกรอบ 1.5%-3.0% ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเม็ดเงินที่เข้ามาประคับประคองเศรษฐกิจ รวมถึงระดับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงในรอบนี้ (รูปที่ 5)
www.mitihoon.com