ดอลลาร์พักฐานตามบอนด์ยิลด์

236

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯเกิดจากแรงหนุนหลายด้าน และในช่วงต้นปีนี้ ได้ดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่ายิลด์ระยะสั้นจะทรงตัวที่ระดับต่ำมากเนื่องจากนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) แต่ท่าทีของเฟดเองไม่ได้แสดงความกังวลมากนักต่อยิลด์ระยะยาวที่วิ่งขึ้น ซึ่งเปิดทางให้ผู้เล่นในตลาดขายบอนด์ตัวยาวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกยิลด์ 10 ปีของพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นมากถึง 83 basis point จากระดับ 0.94% เป็น 1.74% ซึ่งครั้งสุดท้ายที่ยิลด์วิ่งขึ้นแรงในลักษณะเดียวกัน คือเมื่อช่วงที่ประธานาธิบดีทรัมป์ชนะการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2559 อย่างไรก็ดี ยิลด์ย่อตัวลงในไตรมาสถัดจากนั้น สำหรับในรอบนี้สาเหตุที่บอนด์ยิลด์ปรับขึ้นมาจากการคาดการณ์ของตลาดที่ว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด และอัตราผลตอบแทนที่หักเงินเฟ้อแล้วติดลบน้อยลง ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในไตรมาสแรกของปี

 

 

เมื่อมองไปข้างหน้า แม้เราประเมินว่าบอนด์ยิลด์สหรัฐฯจะปรับตัวขึ้นต่อ แต่มีสัญญาณชัดเจนว่านักลงทุนเริ่มระมัดระวังมากขึ้นว่าข่าวเชิงบวกของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ถูกสะท้อนอยู่ในราคาของเงินดอลลาร์ไปพอสมควรแล้ว จะเห็นได้ว่าในฅไตรมาสปัจจุบัน ยิลด์เริ่มย่ำฐานและไม่ตอบรับต่อข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาทิ การจ้างงาน เงินเฟ้อ และยอดค้าปลีก ที่ยังสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้แรงส่งด้านขาขึ้นของเงินดอลลาร์แผ่วลงไปด้วย นอกจากนี้ เฟดยังคงเน้นย้ำว่าไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยจะตรึงไว้อีกหลายปี แม้ว่าเศรษฐกิจและเงินเฟ้อจะสูงขึ้นก็ตาม โดยเฟดมองว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในปีนี้เป็นเหตุการณ์ชั่วคราว และเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำ การสื่อสารของเฟดในบางครั้งอาจมีผลกระทบไม่ชัดเจน แต่เมื่อสถานะซื้อดอลลาร์ค่อนข้างตึง ผู้เล่นในตลาดย่อมพร้อมลดการถือครองเงินดอลลาร์ลง โดยเฉพาะถ้า Dynamic ของยิลด์ไม่หนุนให้เงินดอลลาร์ไปต่อ

 

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท คาดว่าในไตรมาสนี้เงินบาทยังจะได้รับแรงกดดันไปในทางอ่อนค่าต่อได้ หรือหากแข็งค่าจะเป็นไปอย่างจำกัดเท่านั้น อย่างไรก็ดี การจัดหาและกระจายวัคซีนนอกสหรัฐฯที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น เป็นสัญญาณที่ดีเกี่ยวกับการเปิดเมืองในระยะถัดไป โดยสหภาพยุโรปสามารถฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้นบ้างแล้(กราฟด้านล่าง) ประเด็นสำคัญของเรา คือ หากเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวแห่งเดียว หรือสถานการณ์ซบเซาทั้งโลกซึ่งร่วมถึงสหรัฐฯด้วย เงินดอลลาร์จะแข็งค่า เนื่องจากนักลงทุนจะกลับไปถือสกุลเงินที่มีสภาพคล่องสูง ในทางกลับกัน ซึ่งเป็นกรณีฐานของเรา คือ ในช่วงครึ่งปีหลังดอลลาร์จะอ่อนค่าลง ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเศรษฐกิจโลกซึ่งรวมทั้งสหรัฐฯและแห่งอื่นๆต้องฟื้นตัวไปค่อนข้างพร้อมกัน และเมื่อเกิด Synchronized Growth ตลาดจะเริ่มหันเหความสนใจไปที่ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างการขาดดุลแฝด หรือ ขาดดุลทั้งบัญชีเดินสะพัดและดุลงบประมาณ อนึ่ง กรณีไวรัสกลายพันธุ์และการพัฒนาวัคซีนใช้ไม่ได้ผล เป็นความเสี่ยงหลักของกรณีฐานนี้

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง
ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

www.mitihoon.com