ครั้งแรกในประเทศไทย “APM Demo Run” อินเตอร์ลิ้งค์ฯ พาทดสอบรถไฟฟ้าไร้คนขับในสนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมเปิดบริการปลายปี 2565

75

มิติหุ้น –  ณ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ— นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK เปิดเผยว่า หลังจากที่ ILINK ได้ชนะการประกวดราคางานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) ภายใต้ความร่วมมือของคณะนิติบุคคลร่วมทำงานไออาร์ทีวี  (IRTV) และบริษัท ซีเมนส์ โมบิลิตี้ จำกัด ในการจัดหารถไฟฟ้าไร้คนขับ (APM) ยี่ห้อ SIEMENS รุ่น Airval สำหรับ “โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2” นั้น

รถไฟฟ้าไร้คนขับ (APM) ถูกส่งมอบให้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. แล้วจำนวน 4 ขบวน และจะทยอยส่งมอบรถไฟฟ้า APM จนครบทั้ง 6 ขบวนภายในสิ้นปีนี้ ปัจจุบันรถไฟฟ้าไร้คนขับที่จะนำมาให้บริการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้ง 4 ขบวน ได้ทดสอบวิ่งบนรางในอุโมงค์ใต้ดินระหว่างอาคารผู้โดยสารหลักกับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) ระยะทางวิ่ง 1 กิโลเมตร โดยผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท ซีเมนส์ โมบิลิตี้ จำกัด ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา และผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยจากบริษัทผู้ผลิต SIEMENS เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภาพรวมของโครงการรถไฟฟ้าไร้คนขับ APM คืบหน้ากว่า 80% ไม่พบปัญหาในการทดสอบระบบ สามารถเดินรถได้ตามมาตรฐาน โดยการทดสอบระบบครั้งนี้เป็นการทดสอบทางกลศาสตร์ (Dynamic Test) ต้องใช้พนักงานในการควบคุมรถ ขับเคลื่อนด้วยความเร็วประมาณ 40 กม. ต่อชั่วโมง (ชม.) และหลังจากนี้จะเป็นการทดสอบระบบควบคุมการเดินรถอัตโนมัติ (Automatic Train Control :  ATC) เพื่อให้มีความเสถียร แม่นยำ และตรงต่อเวลา คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการประชาชนภายในเดือนตุลาคม ปี 2565 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ใช้ระบบรถไฟขับเคลื่อนแบบไร้คนขับ รับ-ส่งผู้โดยสารในสนามบินสุวรรณภูมิ

รถไฟฟ้าไร้คนขับ (APM) จะบริการรับ – ส่ง ผู้โดยสาร 2 สถานี คือสถานีอาคารผู้โดยสารหลัก บริเวณชั้น B2 คอนคอร์ด D  กับ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) บริเวณชั้นใต้ดิน B2 บริเวณ Gate S114-S115 ระยะทางวิ่ง 1 กิโลเมตร วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลา 2 นาทีต่อเที่ยว วิ่งบริการทุกๆ 3 นาที ตลอด 24 ชั่วโมง รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 3,590 คนต่อชั่วโมง ส่วนชั่วโมงเร่งด่วนสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 5,960 คนต่อชั่วโมง โดยรูปแบบรถเป็นระบบอัตโนมัติ (Automatic Train Control : ATC) เป็นระบบการควบคุมการขับเคลื่อนอยู่ที่ศูนย์กลางผ่านห้องปฏิบัติการ OCC (Operation Control Center) พร้อมด้วยระบบอาณัติสัญญาณ Communication Based Train Control system (CBTC) แบบ Moving Block ระบบรางวิ่งเป็นแบบ  central rail-guided APM ช่วยให้รถไฟฟ้าเดินทางไปมาในทิศทางที่กำหนดได้อย่างแม่นยำ ซึ่งเป็นการทำงานแบบไร้คนขับโดยสมบูรณ์

“ขณะนี้งานระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ APM มีความคืบหน้าไปกว่า 80% อินเตอร์ลิ้งค์ฯ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาทดสอบการเดินระบบรถไฟฟ้าไร้คนขับอย่างต่อเนื่อง เพื่อความเสถียร ปลอดภัย แม่นยำ ตรงต่อเวลา เพื่อส่งมอบรถไฟฟ้าไร้คนขับที่ทันสมัยและดีที่สุดแก่ผู้ใช้บริการ เรามีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดั่งวิสัยทัศน์ของอินเตอร์ลิ้งค์ฯ ที่ต้องการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศไทย” นายสมบัติกล่าวทิ้งท้าย

www.mitihoon.com